จากอาคารธานีนพรัตน์(กทม.2), สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ถึง BTS สนามเป้า บริการฟรี 6 เดือน ตั้งแต่ 05.00-21.00 น. ขอความร่วมมือผู้โดยสารสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.63 ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกทม. เปิดเผยว่า หลังจากกทม.ได้เปิดบริการทดลองเดินรถ Shuttle Bus เพื่อเพิ่มทางเลือกและให้บริการเสริมในการนำส่งผู้โดยสารจากสถานที่สำคัญเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนหลัก(ระบบราง) “BMA FEEDER” เป็นการบรรเทาปัญหาจราจร และลดปริมาณมลพิษทางอากาศ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยในระยะแรกกำหนดเดินรถ 3 เส้นทางคือ 1.เส้นทาง B1 สถานีขนส่งสายใต้-BTS บางหว้า เปิดทดลองให้บริการ เมื่อ 17 มี.ค.63 จำนวนผู้โดยสารรวม 5,811 เที่ยวคน (85 วัน) เฉลี่ยวันละ 68 เที่ยวคน 2. เส้นทางB2 ดินแดง- BTS สนามเป้า เปิดทดลองให้บริการ 31 มี.ค.63 ผู้โดยสารรวม 2,517 เที่ยวคน (71 วัน) เฉลี่ยวันละ 35 เที่ยวคน และ3.เส้นทาง B3 ชุมชนเคหะร่มเกล้า- ARL ลาดกระบัง เปิดทดลองให้บริการ 24 มี.ค.63 จำนวนผู้โดยสารรวม 5,763 เที่ยวคน (78 วัน) เฉลี่ยวันละ 73 เที่ยวคน (ข้อมูล ณ วันที่ 9 มิ.ย.63) โดยให้บริการฟรี 6 เดือน ตั้งแต่ 05.00-21.00 น. โดยในเวลาเร่งด่วนระหว่างเวลา 05.00-09.00 น. และเวลา 15.00-19.00 น. รถจะออกทุก 15 นาที ส่วนในช่วงเวลาปกติ เวลา 09.00-15.00 น. และเวลา 19.00-21.00 น. รถจะออกทุก 30 นาที โฆษกกทม.กล่าวว่า จากสถิติจำนวนผู้โดยสารของเส้นทางดินแดง- BTS สนามเป้า พบว่ามีผู้มาใช้บริการค่อนข้างน้อย กทม.จึงปรับเปลี่ยนเส้นทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการ จากเดิมให้บริการเริ่มต้นจากอาคารธานีนพรัตน์(กทม.2) - โรงพยาบาลทหารผ่านศึก - สถานี BTS สนามเป้า - โรงพยาบาลทหารผ่านศึก - โรงเรียนรักษาดินแดน - มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย - อาคารธานีนพรัตน์(กทม.2) ปรับเปลี่ยนเส้นทางเป็น อาคารธานีนพรัตน์(กทม.2) - โรงพยาบาลทหารผ่านศึก - สถานี BTS สนามเป้า - สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ปปส.) - โรงพยาบาลทหารผ่านศึก - โรงเรียนรักษาดินแดน(รด.) - มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย - กระทรวงแรงงาน - สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น (ดินแดง) โดยจะเริ่มปรับเปลี่ยนเส้นทางให้บริการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ ประชาชนสามารถลงทะเบียนใช้งานและเช็คตำแหน่งรถได้แบบ Real Time เพียงใช้แอปฯ Viabus หรือสแกน QR Code หรือสามารถลงทะเบียนใช้งานผ่านทาง link website ของสำนักการจราจรและขนส่ง http://www.bangkok.go.th/traffic/ อย่างไรก็ดี เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ จึงขอความร่วมมือผู้โดยสารล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล (ภายในรถมีบริการ) สวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล หรือ Physical Distancing 1-2 เมตรภายในรถตัวรถบัสและบริเวณจุดจอด