"บิ๊กป้อม" อมยิ้มข่าวนั่ง "หน.พปชร."บอกอยู่ที่สมาชิกพรรค ด้าน"ราเมศ"ตั้งโต๊ะปัดข่าวสมาชิก ล่าชื่อขับ "จุรินทร์" พ้นพรรค ยันปชป.ยังมีเอกภาพ แนะใครขัดข้องหมองใจเดินหาหัวหน้า-เลขาธิการพรรคได้ตลอด ชี้เลือดแท้ปชป.ต้องนำพรรคไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง-และยั่งยืน "ภูมิสรรค์-ทีมอีสาน" ยันกรรมการบริหารไม่น้อยกว่า 30 คน หนุน"จุรินทร์"เดินหน้า เน้นเคารพกติกา-วัฒนธรรมพรรค ชี้ผลงานช่วยประชาชนถูกใจ ทำคะแนนนิยมกระ เตื้อง ส่วน"แทนคุณ"ยันไร้แรงกระเพื่อมล่ารายชื่อ ทุกคนพร้อมหนุนทำงานต่อ "ชวน" อุ้ม "จุรินทร์" นั่งหน.พรรคต่อ เตือนไม่ชอบใครเป็นเรื่องส่วนตัว-อย่าทำพรรคเสียหาย ส่วน "วิษณุ" ปัดตอบ "ระวี" ขาดคุณสมบัติส.ว.หรือไม่ บอกไม่แน่ใจเทียบเคียง "ธรรมนัส"ได้ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.63 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ถึงกรณีที่เสียงส่วนใหญ่ในพรรคพลังประชารัฐสนับสนุนให้นั่งเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม โดย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ทุกอย่างก็แล้วแต่สมาชิกพรรคจะพิจารณา เมื่อถามต่อว่า หากสมาชิกเลือกก็เป็น ใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร ระบุว่า "ก็ไม่รู้ เดี๋ยวดูอีกที" ขณะที่ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตร กล่าวเพียงสั้นๆ ว่าไม่มีอะไร ที่รัฐสภา นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกระแสข่าวคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ล่ารายชื่อกดดันเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคใหม่ ว่า ไม่เป็นความจริง ในการทำงานก็อาจมีการขัดข้องหรือมีความคิดเห็นแตกต่างกันและขอยืนยันว่า พรรคมีอิสระภายใต้การนำของ นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค รัฐมนตรีของพรรค ทุกคนพร้อมสนับสนุนทั้งนายจุรินทร์และนายเฉลิมชัยได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ แต่ถ้าสมาชิกคนไหนขัดข้องหมองใจ สามารถเดินตรงไปที่หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคได้ อย่างไรก็ตามพรรคการเมืองอื่นอาจทะเลาะเบาะแว้งกันก็เป็นเรื่องภายในของแต่ละพรรค แต่สำหรับพรรคประชาธิปัตย์เรามีครรลอง และวัฒนธรรมในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองมีสิ่งไหนนำมาพูด กัน "นายจุรินทร์เป็นหัวหน้าพรรคที่ให้โอกาสทุกคนทำหน้าที่ในพรรค พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ ส.ส.ของพรรคทุกพื้นที่ ไม่ทอดทิ้ง ยืนยันพรรคยังมีเอกภาพ และมีวัฒนธรรมทางการเมือง ผมขอฝากไปถึงพี่น้องประชาชน และสมาชิกพรรคว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันทางการเมือง มีความเป็นประชาธิปไตย หากใครมีความขัดข้องหมองใจ สามารถพูดคุยได้ คนในพรรคเรามีหลักการเดียวกัน คือการนำพาพรรคไปข้างหน้า ถ้าสมาชิกพรรค ที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงจะทราบเจตนารมณ์ ที่อยู่ในจิตใจของทุกคน ใครจะกล่าวหาว่าพรรค กระแสไม่ดี ไม่เป็นความจริง เพราะเป็นหน้าที่เป็นความท้าทายของพรรค อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆหัวหน้าพรรคและเลขาธิ การพรรคพร้อมรับฟังร้อยเปอร์เซ็นต์ และ มีเวทีสามารถแสดงความเห็นได้ เพื่อให้พรรคเดินไปข้างหน้าโดยไม่มีข้อขัดแย้งขัดข้องหมองใจกันและเดินไปคุยไปเลขาและหัวหน้าได้ทันที" ขณะที่ นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ ภาคอีสาน และคณะกรรมการสาขาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะนี้สำรวจแล้วมีกรรมบริหารอย่างน้อย 30 คน จากทั้งหมด 38 คน ที่เคารพระเบียบ วินัย กติกา เเละวัฒนธรรม โดยกรรมการทุกคนตั้งแต่หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ได้ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง กรรมการบริหารตามกฎหมายพรรคการเมืองมาเเล้วทั้งนั้น และต่างก็ชื่นชม พอใจการทำงานอย่างหนักเพื่อพลิกฟื้นคะแนนนิยมของพรรค โดยนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างรวดเร็ว ไม่ใช่การชอบ ไม่ชอบใคร ส่วนตัว เเต่เป็นจากผลงานการบริหารประเทศ ที่ผลักดันนโยบายที่ร่วมกันทำมา "ตลอดเกือบหนึ่งปี นายจุรินทร์เน้นการเดินหน้านโยบาย ก้มหน้าก้มตาทำงานไม่พูดเรื่องการเมือง และไม่พูดเรื่องเก่า แม้ว่าเราจะแพ้เลือกตั้งมาหลุดลุ่ย และเพื่อจะได้นำนโยบายไปปฏิบัติ ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน จึงต้องเข้าร่วมรัฐบาล โดยเงื่อนไขการผลักดันนโยบายด้านประกันรายได้เกษตรกรจนสัมฤทธิ์ผล จากนั้นรัฐมนตรีทุกคนของพรรค โดยเฉพาะหัวหน้าพรรค ในฐานะรองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ทำงานเป็นข่าวให้เห็นต่อสายตาประชาชนอยู่ตลอดเวลาว่าหนักและเหนื่อยขนาดไหน ทั้งสถานการณ์วิกฤติก็ลงพื้นที่แจกถุงยังชีพ ช่วยประชาชน ผลักดันนโยบายประกันรายได้เกษตรกร จนเป็นที่ถูกใจคะแนนนิยมอันดับต้น" นายแทนคุณ จิตต์อิสระ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นสมาชิกพรรคตลอดชีพคนหนึ่ง มีความเชื่อมั่นกับภาวะผู้นำของนายจุรินทร์และนายเฉลิมชัย รวมทั้งกรรมการบริหารพรรคชุดนี้ทุกคน และจากการติดตามและสอบถามสมาชิกส.ส.อดีตส.ส. และแกนนำหลายคนทุกคนยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ยังคงสนับสนุนการบริหารงานของกรรมการบริหารชุดนี้ ไม่มีแรงกระเพื่อมหรือการล่าลายเซ็นต์อย่างที่กล่าวเลย "ทุกคนให้กำลังใจคณะรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เดินหน้านำนโยบายของพรรคไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยเฉพาะปัจจุบันนี้ผลงานเด่นชัดที่สุดคือ นโยบายประกันรายได้เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ และกำลังเดินหน้าต่อไป ซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากการร่วมรัฐบาล นอกจากนั้นก็เห็นอยู่ว่านายจุรินทร์กับนายเฉลิมชัยยังให้คณะรัฐมนตรีของพรรคลงพื้นที่อย่างหนักเพื่อพบปะประชาชนแม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และจากผลสำรวจความนิยมของโพลหลายสำนักเป็นข่าวเสมอว่านโยบายพรรคประชาธิปัตย์เป็นที่ถูกใจ ไม่ว่าจะเป็นการประกันรายได้เกษตรกร ที่ทำได้ไวทำได้จริง และการบรรเทาทุกข์ประชาชน การเยียวยาประชาชนช่วงสถานการณ์วิกฤติโควิด รวมทั้งการลดค่าครองชีพตามโครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน ล้วนเป็นที่นิยมอันดับหนึ่ง และอันดับต้นทั้งสิ้น หัวหน้า และเลขาธิการพรรคทำงานหนักมากต้องให้กำลังใจไม่ใช่บั่นทอนกัน" นายแทนคุณ กล่าวว่า ทั้งนี้ที่หลายคนเป็นห่วงเรื่องการเรียกร้องให้มีการปรับปรุงการทำงานของผู้บริหารพรรคโดยเลียนแบบบางพรรคใช้วิธีรวบรวม หรือล่ารายชื่อกรรมการบริหารพรรคให้ได้เกินกึ่งหนึ่ง เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหาร โดยอ้างเหตุผลเพื่อเรียกร้องคำว่า "เกียรติภูมิ" และหาเหตุผลต่างๆ เพื่อเอามาอ้างนั้น ตนและเพื่อนๆ สมาชิกพรรคได้รับรู้รับทราบ การทำงานของหัวหน้า เลขาฯ รัฐมนตรีของพรรคชุดนี้ได้เข้ามาทำงานในระยะเวลาไม่ถึงปี กลับสร้างผลงานตามนโยบายพรรคได้อย่างมากมาย ดังนั้นผลงานที่ได้ทำให้กับประเทศชาติและประชาชน คือ " เกียรติภูมิ" ของพรรคที่แท้จริง ซึ่งเท่าที่ทราบจากคนในที่การยื่นให้มีการประชุมพรรคก็เป็นไปตามกลไกปกติที่ต้องการให้หามาตรการป้องกันเลือดไหล ซึ่งพวกเราทุกคนไม่มีใครไม่เจ็บปวดที่ต้องสูญเสียเพื่อน พี่น้อง ร่วมอุดมการณ์ไปที่อื่น แต่นั่นก็เป็นการตัดสินใจของเขาและเสรีภาพของเขา และพรรคเคยมีการนัดเพื่อจะประชุมในวันที่ 7 มี.ค.63 แต่มาติดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงยกเลิกไปก่อน โดยการไหลออกไปนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลไกของรัฐธรรมนูญที่ทำให้พรรคการเมืองใหญ่อ่อนแอ แม้กระนั้นในช่วงก่อนเลือกตั้งยุคนั้น พรรคก็ไม่เคยคิดแตกแบงก์พัน แตกพรรคตามแรงกดดัน ยังคงยืนหยัดเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมาทุกวันนี้ "เพื่อให้ หัวหน้า เลขาฯ และคณะรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามวาระในการบริหารพรรคเหมือนดังกรรมการบริหารทุกชุดที่ผ่านมา เพื่อจะได้สร้างผลงานที่ประชาชนชื่นชอบให้กับพรรคก่อน เพราะสถานการณ์การเมืองมีความผันผวนสูงด้วยเหตุปัจจัยหลายด้านทั้งภายในและต่างประเทศ พวกเราทุกคนจึงขอให้พี่น้องประชาชน เชื่อมั่นในพรรคประชาธิปัตย์ที่พี่น้องประชาชนเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งจะครอบงำพรรคได้ และขอให้เชื่อมั่นในภาวะการนำของหัวหน้าและทีมบริหารในปัจจุบันที่จะทุ่มเททำงานเชิงสร้างสรรค์เพื่อฝ่าทุกวิกฤติของประเทศต่อไป โดยหากมีปัญหาอะไรก็อยากขอให้เพื่อนสมาชิก เข้าหา และเข้าพบพูดคุยกับทั้งทางหัวหน้าและทางเลขาธิการพรรคอย่างพี่น้องเป็นการภายในเสียก่อน เพราะพวกเราอยู่เหมือนครอบครัว" ส่วน นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ไม่อยากให้สร้างปัญหา อย่าทำให้พรรคเสียหาย ไม่ชอบใครก็เป็นเรื่องส่วนตัว ต้องคิดถึงชาวบ้านที่เลือกมาเพราะไม่อยากเห็นความขัดแย้ง "พรรคมีเรื่องแบบนี้มาเยอะ เช่น เหตุการณ์10มกรา บทเรียนเหล่านั้นทำให้พรรคกระทบและก็ทำให้ผลในการเลือกตั้งต่อมาเสียหาย ดังนั้น บทเรียนในอดีต ควรเป็นข้อคิดเตือนใจ ของคนที่อยู่ในพรรค ส่วนคนที่ต้องพึ่งพาอาศัยพรรคอย่างเช่นพวกผมก็เป็นหนี้บุญคุณพรรค ฉะนั้นอะไรที่ทำให้พรรคเสียหายก็ต้องระวัง สมาชิกทุกคนต้องคำนึงถึงชาวบ้านที่เลือกเรามา อย่าให้เขารู้สึกว่าเลือกเรามาเพื่อขัดแย้งกันเอง" เมื่อถามว่า ในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ของพรรคจะเรียกคู่ขัดแย้งมาปรับความเข้าใจกันหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีตัวตนว่าเป็นใคร มีแต่ข่าวออกมา แต่ถ้าคุยกันในไลน์ ตนก็ตักเตือน มีอะไรก็คุยกัน อย่าทำให้ขัดแย้ง เมื่อถามอีกว่าส.ส.หลายคนไม่พอใจในการบริหารของหัวหน้าพรรค นายชวน กล่าวว่า มีโอกาสต้องถามนายจุรินทร์ เมื่อถามต่อว่านายจุรินทร์ ทำงานได้ดีแล้วใช่หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า พรรคได้เลือกนายจุรินทร์แล้ว สมาชิกต้องช่วยกันสนับสนุนการทำงาน แต่หากไม่พอใจสามารถพูดคุยหรือชี้แจงได้ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายระวี รุ่งเรือง ส.ว.สรรหา ขาดคุณสมบัติการเป็นส.ว.ซึ่งมีการนำไปเทียบเคียงกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่อ้างเรื่องการพ้นมลทินมาต่อสู้ จะสามารถนำมาเทียบเคียงกันได้หรือไม่ ว่า ไม่ทราบ และในข้อเท็จจริงของทั้งสองคน ตนไม่รู้ เมื่อถามว่า ในเรื่องดังกล่าวมีการนำมาเปรียบเทียบกับกรณีของ ร.อ.ธรรมนัส เรื่องของการขาดคุณสมบัติ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ตอบไม่ถูก เมื่อถามย้ำว่า กรณีของทั้งสองคนจะนำมาเทียบกันได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ทั่วไปก็น่าจะได้ แต่เรื่องนี้เทียบได้หรือไม่ ไม่แน่ใจ หลายอย่างใช้มาตราเดียวกันหมด เมื่อถามว่า หากจะมีการยื่นศาลธรรมนูญวินิจฉัยได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า การยื่นมีหลายอย่างคือ ยื่นเองหรือยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน ขณะที่ นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความคืบหน้าการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพส.ส.ของ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส กทม. พรรคพลังประชารัฐ สิ้นสุดลงหรือไม่ กรณีใช้อำนาจแทรกแซงข้าราชการประจำระหว่างลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต ว่า หลังจากได้รับเรื่องก็ได้มีการตรวจสอบเอกสารและได้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 แล้ว โดยทางศาลรัฐธรรมนูญยังไม่หนังสือให้ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมแต่อย่างใด ทั้งนี้ สำหรับกรณีที่ส.ส.เสนอเรื่องเพื่อให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ มีจำนวน 15 เรื่อง โดยปี 2562 มีจำนวน 8 เรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญ รับไว้พิจารณา 7 เรื่อง พิจารณาและวินิจฉัยแล้ว จำนวน 2 เรื่อง อยู่ระหว่างการพิจารณา 5 เรื่อง ไม่รับพิจารณา 1 เรื่อง