ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การประกอบการธุรกิจเดินรถร่วมโดยสารปรับอากาศชั้น 1 สาย 21 กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ซึ่งเป็นรถโดยสารสาธารณะ หมวด 2 ที่มีจำนวนเที่ยวรถวิ่งมากที่สุดในภูมิภาค เดิมมีผู้ประกอบการ 5 ราย คือเชิดชัยทัวร์โคราช แอร์โคราชพัฒนา นครชัย 21 สุรนารีทัวร์และบ้านช้างเผือกทัวร์ ต้องระงับการให้บริการชั่วคราว ตามคำสั่งของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 จนกระทั่งนายจรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ได้ลงนามในคำสั่ง 351/2563 เรื่องยกเลิกการระงับเดินรถโดยสารสาธารณะในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่จังหวัด ข้อที่ 8 เส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางในเส้นทางหมวด 2 และ หมวด 3 ที่มีต้นทางหรือปลายทางในจังหวัดนครราชสีมา ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถเดินรถได้ตามปกติ แต่สุรนารีทัวร์และบ้านช้างเผือกทัวร์ ก่อนหน้านี้ได้ประสบปัญหาจำนวนผู้โดยสารต่อเที่ยวไม่คุ้มกับต้นทุน จึงยังไม่พร้อมเปิดให้บริการ เหลือเพียงเชิดชัยทัวร์โคราช แอร์โคราชพัฒนาและนครชัย 21 กลับมาเดินรถในวันที่ 8 มิถุนายน ที่ผ่านมา แต่ปรับลดจำนวนเที่ยววิ่งต่อวันเหลือ 30 เที่ยว เดิมวิ่งรวม 280 เที่ยว และกำหนดออกทุก 1 ชั่วโมง รวมทั้งจัดที่นั่งเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้แต่ละเที่ยวบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยต่อคัน 18-20 ที่นั่ง แต่ไม่สามารถตอบโจทย์การให้บริการได้ ทั้งไม่คุ้มกับต้นทุนและผู้โดยสารตกค้างรอขึ้นรถนานนับชั่วโมง ล่าสุดแอร์โคราชพัฒนาและนครชัย 21 ผู้ประกอบการรถร่วมโดยสารปรับอากาศ ชั้น 1 สาย 21 ได้ผนึกกำลังร่วมกันเฉพาะกิจ แชร์เที่ยววิ่งบริการลดปัญหาการขาดทุนจากการปฏิบัติตามาตรการของรัฐ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 มิย. นี้ เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 11 มิ.ย.63 นายชัยวัฒน์ แผ่นทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอร์โคราชพัฒนา จำกัด เปิดเผยว่า ได้ปรับรูปแบบการบริการตามาตรการที่กำหนดไว้ ก่อให้เกิดสภาวะขาดทุน ซึ่งมีรายได้จากการขายตั๋ว 50 % สิ่งที่ได้รับและประสบในขณะนี้คือ “เสมอตัวและขาดทุน” จึงเกิดการผนึกกำลังร่วมกันเฉพาะกิจโดยเป็นความร่วมมือ แบ่งปันเที่ยววิ่ง เพื่อยืนหยัดการให้บริการขนส่งโดยสารสาธารณะ เนื่องจากการปฏิบัติตามมาตรการของรัฐหากไม่ร่วมมือและปล่อยให้เกิดสภาวะการแข่งขันอาจเกิดผลเสียตามมาและสิ้นเดือนมิถุนายน จะถึงกำหนดหมดระยะเวลาการชดเชยของประกันสังคม มาตรา 33 ประกอบกับสถานการณ์ของบริษัท ได้ว่าจ้างพนักงานเพียง 10 % เท่านั้น ที่เหลือ 90% เมื่อสิ้นสุดการเยียวยาของภาครัฐ การดำรงชีพจะเป็นอย่างไรต่อไป ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยผ่อนปรนมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม หากเพิกเฉยอาจมีลูกจ้างตกงานอีกจำนวนมากและเป็นภาระของรัฐบาลที่ต้องดูแลเพิ่มเติมอีก ขอเสนอทางเลือก กรณีผู้โดยสารเป็นกลุ่มครอบครัวเดียวกัน เช่น พ่อแม่ลูก สามี-ภรรยา สามารถนั่งใกล้ชิดกันได้ เช่นเดียวกับร้านอาหารซึ่งตามหลักความเป็นจริงผู้โดยสารที่ไม่รู้จักกันก็ไม่นั่งใกล้ชิดกันอยู่แล้ว ด้านนายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นครชัย 21 จำกัด กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้เกิดวิกฤตหลายอย่างทำให้รายได้ลดลง แต่ก็สามารถประคับประคองธุรกิจได้ ช่วงเดือนมีนาคม ได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ประชาชนเดินทางน้อยลง ส่งผลต่อต้นทุนการประกอบการรวมต่อเดือนประมาณ 10 ล้านบาท ต่อมา ศบค.ได้สั่งระงับการเดินรถทำให้ธุรกิจหยุดนิ่งแต่เราก็มิได้เลิกจ้างแต่อย่างใด โดยช่วยแบกรับภาระต่างๆ ร่วมกับเงินเยียวยาของประกันสังคม มาตรา 33 จนถึงขณะนี้ขาดทุนกว่า 30 ล้านบาท ต่อมา ศบค.ได้คลายล็อคให้เดินรถโดยสารได้ตามปกติแต่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคมและห้ามขึ้นราคาค่าโดยสาร การเดินรถจึงมีรายได้จากการขายตั๋วต่อเที่ยว 50 % เมื่อถึงสิ้นเดือนมิถุนายน ก็ครบกำหนดประกันสังคมจ่ายเงินช่วยเหลือ ทำให้ต้องแบกรับภาระเพิ่มอีก ตนได้เสนอแนวทางขอให้รัฐบาลพิจารณาชดเชยกรณีการเว้นที่นั่งตามระยะห่างทางสังคมต่อเที่ยว 30 % ส่วนทางเลือกขึ้นค่าโดยสาร เราไม่ต้องการผลักภาระให้ประชาชนที่กำลังเดือดร้อน ขณะนี้สถานการณ์การติดเชื้อรายใหม่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขอให้ ศบค.ผ่อนปรนมาตราการเว้นระยะห่างทางสังคมตามความเหมาะสม เพื่อให้แต่ละเที่ยวสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากขึ้น เราเสนอแนวคิดนี้ไปแล้วแต่ยังไม่มีเสียงตอบรับ หากรออนุมัติมีหวังตายก่อน ทั้งนี้นครชัย 21 และ แอร์โคราชพัฒนา ซึ่งประกอบธุรกิจเดินรถในเส้นทางเดียวกันและเวลาค่อนข้างจะซ้ำซ้อนกัน จึงมีวิธีคิดแชร์แบ่งปันเที่ยววิ่งในช่วงเวลาที่มีผู้ใช้บริการมาก เพื่อให้ขาดทุนน้อยที่สุด ผจก.นครชัย 21 กล่าว