เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทาง สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) นำโดย นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผู้อำนวยการ สทบ.  นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ จ.ตาก เพื่อเปิดโครงการต่าง ๆ ของกองทุนหมู่บ้านฯ ภายใต้โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 2563 โดยครั้งนี้ ได้ลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียนกองทุนหมู่บ้านร่มเกล้าสหมิตร อ.พบพระ และกองทุนหมู่บ้านห้วยมะพร้าว ต.แม่ตื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก ซึ่งทั้งสองกองทุนหมู่บ้านฯ นี้ สมาชิกส่วนใหญ่หรือเรียกว่าแทบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ อย่างกองทุนหมู่บ้านร่มเกล้าสหมิตร ที่มีสมาชิกที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์รวมกันกว่า 6 กลุ่ม ได้แก่ เย้า ลาหู่หรือมูเซอ อาข่า ม้ง ลีซู และจีนฮ่อ และกองทุนหมู่บ้านห้วยมะพร้าวที่เป็นชาวปกาเกอะญอ อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันดีว่า ชุดประจำชนเผ่าของแต่ละกลุ่มนั้นสวยงาม และมีความเป็นเอกลักษณ์ รวมถึงบ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของแต่ละกลุ่ม ทำให้เราอดใจที่จะเก็บภาพความสวยงามของชุด และความสดใสของแต่ละชนเผ่ามาฝากไม่ได้ เริ่มกันที่ "ม้ง" เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในภูเขาของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ชาวม้งอพยพลงมาทางใต้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เนื่องจากสถานการณ์ที่ไม่สงบทางการเมือง และเพื่อหาพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก ปัจจุบันชาวม้งอาศัยอยู่ในประเทศจีน ไทย เวียดนาม ลาว และสหรัฐอเมริกา โดยชุมชนชาวม้งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอยู่ที่ ต.เข็กน้อย อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ถัดมา เป็นชนเผ่า "อาข่า" ที่อาศัยกระจัดกระจายอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย เชียงตุง รัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ และทางไปแคว้นสิบสองปันนาทางตอนใต้ของจีน และราวที่ติดกับเมียนมาร์ ไทย และเวียดนาม จัดอยู่ในกลุ่มภาษาจีน-ทิเบต ตระกูลภาษาย่อยทิเบต-เมียนมาร์ ชาวอาข่าโดยส่วนมากพูดได้หลายภาษา เพราะต้องอาศัยปะปนกับหลายชนเผ่า ต่อมา เป็นชาว "อิ้วเมี่ยน" หรือ "เย้า" โดยถิ่นเดิมของชาวอิ้วเมี่ยนอยู่ทางตะวันออกของมณฑลไกวเจา ยูนนาน หูหนาน และกวางสีในประเทศจีน ต่อมาการทำมาหากินฝืดเคือง และถูกรบกวนจากชาวจีนจึงไ้ด้อพยพมาทางใต้เข้าสู่เวียดนามเหนือ ตอนเหนือของลาว และทางตะวันออกของพม่าบริเวณรัฐเชียงตุง และภาคเหนือของไทย ชาวอิ้วเมี่ยนที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยอพยพมาจากประเทศลาว และพม่า ปัจจุบัน มีชาวเมี่ยน อาศัยอยู่มากในจ.เชียงราย พะเยา น่าน กำแพงเพชร เชียงใหม่ ตาก เพชรบูรณ์ ลำปาง และสุโขทัย นอกจากนี้ยังมี ชาว "ลาหู่" หรือ "มูเซอ" ซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งในประเทศไทย แบ่งย่อยได้เป็น 23 กลุ่ม อาทิ ชาวมูเซอดำ ชาวมูเซอเหลืองบาเกียว ชาวมูเซอลาบา และชาวมูเซอกุเลา เป็นต้น ชาวมูเซอเรียกตัวเองว่าลาหู่ หมายถึงชนเผ่าที่ได้กินเนื้อเสือปิ้ง ซึ่งเป็นการบอกถึงความกล้าหาญของชาวมูเซอที่ล่าเสือมากินเป็นอาหารได้ ส่วนคำว่ามูเซอนั้น ในภาษาไทใหญ่ "มู" หมายถึงนิดหน่อย ส่วน "เซอ" หมายถึงสนุกสนาน โดยในประเทศไทยชาวมูเซอส่วนใหญ่อาศัยอยู่ใน จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก ถัดมา เป็นชาว "ลีซู" หรือ "ลีซอ" เป็นชนกลุ่มเชื้อสายโล-โล มีต้นกำเนิดมาจากชนผิวเหลืองหรือมองโกลอยด์ จากหลักฐานและคำบอกเล่าจากผู้เฒ่าชาวลีซู ชาวลีซูมีการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนครั้งแรกอยู่ที่บ้านห้วยส้าน อ.เมือง จ.เชียงราย เมื่อปี พ.ศ.2451 ในปัจจุบันชาวลีซูกระจายกันตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย ได้แก่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก พะเยา ลำปาง สุโขทัย เพชรบูรณ์ และกำแพงเพชร นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ "ปกาเกอะญอ" ที่เราคุ้นหูกันเป็นอย่างดี เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ อาศัยพื้นที่แถบลุ่มน้ำต่าง ๆ บริเวณเทือกเขาตะนาวศรี เขตชายแดนไทย-พม่า มีหลักฐานการอยู่อาศัยมานาน เป็นชนเผ่าดั้งเดิมที่อยู่อย่างกระจัดกระจายมานานกว่า 100-200 ปี เช่น บริเวณลุ่มแม่น้ำวาง อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ และชาว "จีนฮ่อ" หรือ "จีนยูนนาน" กลุ่มชนเชื้อสายจีนที่อพยพลงมาจากมณฑลยูนนานโดยไม่จำแนกว่านับถือศาสนาใด เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณพรมแดนระหว่างประเทศไทย และลาว มีทั้งอาศัยอยู่บนเทือกเขา และในเมือง ในประเทศไทยชาวจีนฮ่อมักอาศัยอยู่ใน จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และพะเยา