บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก (ท้องถิ่น) ภัยแล้งมาแรงตีคู่มาพร้อมกับโควิด (1) คำถามว่า “ภัยแล้งน่ากลัวไหม” เป็นประเด็นน่าสนใจ เพราะภัยแล้งช่วงนี้อยู่ในท่ามกลางสถานการณ์โควิด ถือเป็นภัยที่ “ตีคู่” มาพร้อมๆ กับ “โควิด-19” เรียกว่า “ภัยแล้ง” ผสมโรง “โควิด-19” ประกอบภาวะสับสนมากมายหลายจิตหลายใจที่เกิดขึ้น คนไทยต้องปรับเปลี่ยนวิถี “เพื่ออยู่ให้เป็น” ท่านกลางโลกใหม่ “วิถีปกติ” (New Normal) ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากทั้งใน “เชิงโครงสร้าง” และ “เชิงพฤติกรรม” ทั้งทางบวกและทางลบ คนไทยต้องพร้อมปรับตัวให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แห่งโลกยุคหลังโควิด-19 ที่กำลังจะมาเยือนในอีกไม่กี่วันข้างหน้าให้ได้ (2) ผลกระทบจาก “โควิด-19” สาหัสมาก นอกจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบินที่โดน ยังมีอีก 12 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก เช่น ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์, ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, เคมี, โรงกลั่นน้ำมัน, โรงเลื่อยโรงอบไม้ ฯลฯ (3) ทางฝ่ายรัฐบาลเร่งสปีดเต็มที่เพื่อให้หลุดพ้นจากผลกระทบจากมาตรการโควิดทั้งหมด การเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการโควิด การอัดโครงการลงพื้นที่ด้วยเงินกู้ 4 แสนล้าน (3.7 แสนล้าน) การออก มาตรการฯ ทิ้งทวนขยายระยะเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยมีการบังคับใช้เคอร์ฟิวต่ออีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 - 30 มิถุนายน 2563 (4) พระราชกำหนด (พรก.) 3 ฉบับ คือ พรก.กู้เงิน 1ล้านล้าน พรก.Soft Loan 5 แสนล้าน และ พรก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน 4 แสนล้าน ตอนนี้ภาครัฐได้เตรียม “แพคเกจ” แจกเงินเพื่อรับมือกับ “โควิด-19” ด้วยงบประมาณสูงลิ่วถึง 1 แสนล้านบาท ทั้ง มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งผู้ประกอบการภาคธุรกิจทั่วไป และภาคท่องเที่ยวทุกกลุ่ม โดยให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมาก (ซอฟต์โลน) ทั้งเงินกู้ 4 แสนล้านเพื่อหวังให้ อปท.ดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ โจทย์ปัญหาภัยแล้งที่นายกรัฐมนตรีเป็นห่วง มี 2 ข้อคือ (1) ทำอย่างไรให้มีน้ำใช้อย่างยั่งยืนพร้อมเก็บกักน้ำใช้ในฤดูแล้งและฤดูปกติได้อย่างไร (2) การแก้ปัญหาภัยแล้งที่ปีนี้มีภัยธรรมชาติหลายด้านทำให้ปริมาณน้ำน้อยมากเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องแก้ไข เพราะ ตามที่คาดว่าไทยต้องเผชิญภัยสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี จะแล้งรุนแรงและยาวนานถึงกลางปี คาดว่าปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าปกติ 3-5 % ในพื้นที่แล้งซ้ำซาก ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ตอนบน ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มี “วิกฤติหรือปัญหาฝุ่น PM2.5” ด้วย ที่คาดว่าคงหนักไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าในปี 2558-59 ที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญขนาดรุนแรง ฝนตกต่ำกว่าค่าปกติติดต่อกันถึงสองปี และจะมีแนวโน้มยาวนานแล้งกว่าปี 2562 ข้อมูลล่าสุดคาดว่า พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายรวมกว่า 1.6 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าว 1.4 ล้านไร่ คิดเป็นสัดส่วน 89% ของพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายโดยรวม คำเตือนนี้มีมาก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิดกว่าค่อนปี บรรดาราชการและนักวิชาการท่านผู้รู้ออกมาเตือน และเตรียมการไว้ตั้งแต่เมื่อกลางปีที่แล้ว ต้นมกราคม 2563 รัฐบาลก็ได้เตรียมงบประมาณเพื่อภัยแล้งไว้แล้วสามพันล้านบาท การระดมทั้งจุดความคิด “รัฐ-เอกชน-ชุมชน” ร่วมน้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การจัดการน้ำอย่างยั่งยืนใช้ “ความรู้คู่คุณธรรม” เพื่อพาไทยรอดภัยแล้ง การเสนอบทเรียนต่าง ๆ ให้ชุมชน โดยเฉพาะ อปท. ได้ตระหนัก เช่น กรณี บ้านสามขา (อ.แม่ทะ จ.ลำปาง) บทเรียนจากฝายสู่การจัดการกู้วิกฤติแล้ง กรณี อบต.เก่าขาม (อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี) พลิกฟื้นผืนดินแล้งจากระบบธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบการจัดการน้ำ) กรณีเอสซีจี (บริษัทปูนซิเมนต์ไทย) รักษ์น้ำฯปันบทเรียนสู่108 ชุมชน ตามโครงการ “เอสซีจี รักษ์น้ำจากภูผาสู่มหานที” เหล่านี้เป็นการจุดประกาย โดยเฉพาะ “แผนแม่บทน้ำ 20 ปี” ตาม พรบ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ที่หวังดึงชุมชนจัดการพร้อมสั่งลุยด่วนสู้ภัยแล้ง ก่อนหน้านี้ในช่วงโควิด มีโครงการเสริมอาชีพด้วยการปลูกผักหน้าแล้งของกรมการพัฒนาชุมชนได้วางแผนแพ็กเกจไว้แล้ว แต่คนทำคือคนท้องถิ่นที่ขาดทั้งแรงทรัพย์ แรงกาย และแรงหนุนในการจัดทำโครงการ ด้วยภาวะจำกัดในมาตรการป้องกันโรคโควิดที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมาก ทำให้ประสบปัญหาการดำเนินการโครงการต่าง ๆ ในการเยียวยาพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนเป็นลูกโซ่ตามกันไปหมด ปัญหาข้อจำกัดการจัดทำโครงการ 4 แสนล้าน (1) มาดูโครงการ 4 แสนล้านของ อปท. ที่ อปท. กำลังดำเนินการมะรุมมะตุ้มอย่างเร่งรีบ แต่ปัญหาหนักเรื่องแล้งน้ำ อปท. คงไม่ทันคิด เพราะต้องวิเคราะห์ว่า ปัญหาการขาดแคลนน้ำ เกิดอยู่ในขั้นตอนใดของวัฎจักรของน้ำของสังคมผู้ใช้น้ำ รวมทั้งการวิเคราะห์สภาพดินฟ้าอากาศ สภาพพื้นที่รับน้ำ สภาพที่เก็บกักน้ำ สภาพความเป็นกรด ด่างของน้ำ จำนวนปริมาณความต้องการใช้น้ำ ที่ต้องแยกประเภท เพื่อการเกษตร การปศุสัตว์ การเลี้ยงสัตว์น้ำ การประปา พืชสวน การดับเพลิง รวมเพื่อการพักผ่อนท่องเที่ยว ฯลฯ ด้วย ฉะนั้น การเสนอโครงการแบบด่วน 2 วันได้โครงการ ลักษณะโครงการ จึงไม่พ้น ไปเอาโครงการสำเร็จรูปแคปซูลที่มีอยู่แล้วมาแบบไม่ต้องไปคิดมาก อีกทั้งการหารแบ่งเม็ดเงินงบประมาณเพื่อความลงตัว ตามฉันทานุมัติเห็นดีเห็นงานของผู้มีอำนาจ การเสนอโครงการของใหม่ตามความต้องการแท้จริง ตามสภาพปัญหาจริงคงเสนอไม่ทัน ด้วยมีเวลาจำกัดเพียงไม่ถึง 10 วัน เช่น กรณีจัดหาครุภัณฑ์ก็ต้องมีใบเสนอราคาของผู้รับจ้างด้วย และกำหนดส่งผ่านจังหวัด ให้ถึงสภาพัฒน์ ภายในวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.6/ว 1544 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 (2) มีผู้เสนอว่า อปท. มักมีประเด็นปัญหาหลักในการแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ที่ถูกจำกัดใน 2 เรื่อง คือ (1) ระเบียบปฏิบัติที่ไม่มีความชัดเจนเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจใช้จ่ายงบประมาณ เนื่องจากส่วนกลางยังคงหวงอำนาจในการกำหนดระเบียบและกำหนดแนวทางการใช้จ่ายงบประมาณ ไว้ที่ส่วนกลาง (2) จำนวนงบประมาณที่จะนำมาใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาไม่เพียงพอ ไม่สอดคล้องกับภารกิจที่จะต้องใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหา ยิ่งตอกย้ำความชัดตรงต่อเป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลคาดหวังไม่ได้ เพราะงบประมาณยังใช้วิธีแบบรวมศูนย์อำนาจในการตัดสินใจ ไม่อุดหนุนมาให้ท้องถิ่นโดยตรง แต่ส่งผ่านให้ส่วนภูมิภาค ซึ่งเนื้องานต้องมาลงที่ท้องถิ่น (3) ที่จริงถือเป็นการโยนงานมาท้องถิ่นในแทบทุกเรื่อง แต่ท้องถิ่นแทบไม่มีอำนาจในการคิดบริหารจัดการ ในตัวอย่างโครงการ จึงไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนหรือของท้องถิ่นเลย ส่วนใหญ่โครงการประชาชนเขาเคยทำมาแล้ว และก็เลิกร้างไปแล้ว เพราะไม่มีความต่อเนื่อง เพราะไม่ได้คิดเอง ฯลฯ เช่น โครงการเครื่องสีข้าวในชุมชนขนาดเล็ก โครงการผลิตปุ๋ย โครงการผลิตภัณฑ์ชุมชนฯ โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการค้าชุมชน แม้บางโครงการจะยังคงอยู่ เช่น โครงการหมู่บ้านท่องเที่ยวนวัตวิถีก็เพราะ แม้ไม่มีการส่งเสริมจากภาครัฐ ตัวชุมชนเขาก็คงอยู่ได้เท่าที่ได้แล้ว (4) ควรเน้นโครงสร้างพื้นฐาน เพราะไม่รู้จะฟื้นฟูเศรษฐกิจอะไร อย่างไร อีกทั้งเงื่อนไขที่ตั้งไว้มาก ที่ไม่สอดคล้องกับรากฐานของความคิดในการวางแผน ที่ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมในการคิด มันมิใช่เรื่องวิกฤติมากที่ยังคงอยู่ในมิติของการรวมศูนย์อำนาจ เพื่อสั่งการทั้งหมด โดยไม่คำนึงมิติของการกระจายอำนาจ การทำนุบำรุงสุขแก่ปวงประชา โดยการมอบหมายให้แต่ละพื้นที่ดำเนินการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ดีกว่า ด้วยการนำเสนอให้เอาเม็ดเงินงบประมาณไปให้ประชาชนให้ได้ เป็นเพียงการตอบสนอง needs ของประชาชนเท่านั้น ก็เพราะสังคมไทยยังขาดชนชั้นกลาง คนหัวใหม่ มีแต่คนเดิมๆ คนเก่าๆ จึงทำให้การต่อสู้ในแนวคิดในเชิงสร้างสรรค์เพื่อคนส่วนใหญ่จริงๆ ค่อนข้างยาก (5) ทุกขั้นตอนการนำเสนอโครงการเป็น ดาบสองคม รวดเร็วแต่ผิดพลาด จะหวนกลับมาไล่ล่าคนท้องถิ่นในช่วงถัดไป การคิดแบบรอบคอบ คิดให้ดีๆแล้วค่อยทำ หรือ การมีแผนการที่ดีเป็นสิ่งจำเป็น แต่ในสภาวการณ์เบี้ยหัวแตกเช่นปัจจุบัน คนท้องถิ่นไม่มีโอกาสและเวลาที่เพียงแต่คิด มีแต่การทำตามที่สั่งเท่านั้น ย้อนไปในปี 2556 ที่มีเงินด่วนงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจลงพื้นที่ อปท. เป็นจำนวนมากเช่นครั้งนี้ ปรากฏว่า ปัจจุบัน (ปี 2563) ในท้องที่แห่งหนึ่งในภาคเหนือตอนบน กำลังถูก ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงถึงจำนวน 79 โครงการ แล้วอย่างนี้เมื่อไหร่คำว่า “การพัฒนาเชิงสร้างสรรค์และยั่งยืน” จะเกิดได้ในท้องถิ่นละ