คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น ได้ฟังการแปลคำว่า “วินัย” ทางยูทูบรายการหนึ่ง ของอดีตนายตำรวจท่านหนึ่ง ที่ออกจากราชการมาสั่งสอนคนทางโซเชียล ด้วยลีลาเผ็ดร้อน เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากอยู่ ก็รู้สึกไม่สบายใจที่คำพระที่เป็นภาษาบาลีถูกแปลและถูกเข้าใจกันง่ายๆ อย่างนั้น ทั้งๆที่ภาษาบาลีเป็นภาษาในพระไตรปิฎก มีกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ ที่สามารถจะศึกษากันได้ ท่านผู้นั้น แปลคำว่า “วินัย” ตามที่ท่านเข้าใจ เช่นเดียวกับหลายๆคนมักจะอ้างคำสอนที่ตนยกขึ้นพูดว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นแหละ คือเข้าใจว่า “นัย” แปลว่า “สำคัญ” (คงจะได้ฟังว่า “มีนัยสำคัญ” นั่นกระมัง) และแปล “วิ” ว่า “ยิ่ง” แล้วสรุปว่า วินัย มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งก็ไม่ผิด เพราะวินัยหรือศีลมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสว่า วินัยมีความสำคัญอย่างยิ่ง(คือยิ่งกว่า “สมาธิ” และ “ปัญญา”) ทำให้นึกถึง “ปริยัติธรรม” ที่หมายถึงการศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎกซึ่งเป็นภาษาบาลีของพระเณร เคยตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมหลักสูตรบาลีของพระเณร จึงให้เรียน “อรรถกถา” ซึ่งเป็นคัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎก ทำไมไม่ให้เรียนบาลีจากพระไตรปิฎกโดยตรง เท่าที่จำได้ เปรียญ 1-2 เรี่ยนอรรถกถาธรรมบทที่เรียกว่า “ธัมมปทัฏฐกถา” ภาค (เล่มที่) 1-4 เปรียญ 3 เรียนอรรถกถาธรรมบทภาค 5-8 (สมัยผมเรียนเป็นรุ่นสุดท้ายที่เรียนอรรถกถาธรรมบทภาค 1-8) เปรียญ 4 วิชาแปลไทยเป็นมคธ (หรือเป็นบาลี) ใช้หนังสืออรรถกถาธรรมบทแปลภาค 1 วิชาแปลมคธเป็นไทย แปล “มังคลัตถทีปนี” (ซึ่งเป็นคัมภีร์ชั้นอรรถกถา) เปรียญ 5 วิชาแปลไทยเป็นมคธ แปลอรรถกถาธรรมบทภาค 2-4 วิชาแปลมคธเป็นไทย แปล “มังคลัตถทีปนี” ภาค 2 เปรียญ 6 วิชาแปลไทยเป็นมคธ แปลอรรถกถาธรรมบทภาค 5-8 วิชาแปลมคธเป็นไทย แปล “สมันตปาสาทิกา” (อธิบายพระวินัยปิฎก) ภาค 3-4 เปรียญ 7 วิชาแปลไทยเป็นมคธ แปล “มังคลัตถทีปนี” ภาค 1 วิชาแปลมคธเป็นไทย แปล “สมันตปาสาทิกา” ภาค 1-2 เปรียญ 8 ให้แต่งฉันท์เป็นภาษามคธ วิชาแปลมคธเป็นไทย แปล “วิสุทธิมัคค์” (คัมภีร์อรรถกถาอธิบายศีล สมาธิ ปัญญา) เปรียญ 9 วิชาแต่งไทยเป็นมคธ ให้แต่งมคธ จากภาษาไทยที่เป็นข้อสอบ วิชาแปลไทยเป็นมคธ ใช้หนังสือ “วิสุทธิมัคค์ และวิชาแปลมคธเป็นไทย แปล “อภิธัมมัตถวิภาวินี” (อรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก) หลังจากสมัยผมเรียน ดูเหมือนจะมีการเปลี่ยนแปลงในหลักสูตรบ้าง เช่น มีการสอบซ่อม (ในบางประโยคหรือในบางชั้น เป็นต้น) แต่ที่คงเดิม คือ วิชาที่เรียน เป็นการเรียนแปลคัมภีร์ชั้นอรรถกถาทั้งสิ้น แม้แต่ ป.ธ.9 ก็ยังเรียน (เพื่อแปล) คัมภีร์อรรถกถาชื่อ “อภิธัมมัตถวิภาวินี” เคยสงสัยว่า ทำไมไม่ให้เรียนแปลพระไตรปิฎกโดยตรงไปเลย มาเข้าในตอนหลังว่า การเรียนอรรถกถาก่อน ก็เพราะภาษาในชั้นอรรถกถามีความซับซ้อนกว่า และการตีความคำสอนในอรรถกถาใช้เป็น “แนว” ที่ถูกต้อง เรื่องนี้เห็นจะจริง เพราะคำสอนหรือธรรมะในพระไตรปิฎกนั้น บางคำ บางข้อความ มีความลึกซึ้งอย่างยิ่ง ถ้าตีความเอาเอง อาจจะผิดพลาดได้ ก็ต้องอาศัยพระอรรถกถาจารย์ (ผู้แต่งคัมภีร์อรรถกถา) แปลความไว้ให้ แนวเนื้อหาของคัมภีร์อรรถกถา ส่วนมากจึงเป็นการยกศัพท์บางศัพท์ที่เข้าใจยาก มาอธิบายความให้เข้าใจได้ หนังสือแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย (หรือเป็นภาษาอังกฤษ) ล้วนแต่อาศัยคัมภีร์อรรถกถาช่วยแปลให้ทั้งสิ้น จึงได้คำแปลที่ตรงกันเป็นส่วนมาก ถ้าต่างคนต่างแปลพระไตรปิฎกกันเอง ความหมายของคำสอนในพระไตรปิฎกก็จะไม่ลงรอยกัน เพราะต่างคนต่างเข้าใจเอาเอง อย่างคำว่า “วินัย” นั่นแหละ ภาษาบาลีที่เรียนมา “นัย” ไม่ได้แปลว่า “สำคัญ” แต่รากศัพท์(ธาตุ)ของ “นัย” คือ “นี” หมายถึง ข้อปฏิบัติ ข้อบังคับกว่าจะมาเป็น “นัย” ต้องใช้หลักไวยากรณ์ปรุงแต่งอีก และเมื่อมี “วิ” มาอยู่ข้างหน้าอีก ความหมายก็จะเพิ่มเข้ามาอีก คำแต่ละคำในภาษาบาลี มีที่มาที่ไป จะคิดแปลเอาเองตามใจชอบไม่ได้ ถ้าคิดแปลเองตามใจชอบ ความหมายอาจจะไปคนละทางได้ เช่นคำว่า “สัมภเวสี” นั่นแหละ มักจะแปลสัมภเวสี เป็น ผู้แสวงหาภพ ทั้งๆที่สัมภวแปลว่า “การเกิด” (ไม่ใช่ “ที่เกิด”) ทำให้ สัมภเวสี (ในคำสอนของพระพุทธเจ้า) มีความหมายเปลี่ยนไปตามความเข้าใจแต่เดิม กลายเป็นว่า จิตหรือวิญญาณ มีการล่องลอยไป แทนที่จะเนื่องอยู่กับขันธ์ 5 ดังกล่าวแล้ว ความเข้าใจในเรื่องจิตหรือวิญญาณอย่างนั้น มีลักษณะยึดถือใน “อัตตา” หรือ “อาตมัน” อันเป็น “มิจฉาทิฏฐิ” และพาที่จะเข้าใจเรื่องกรรม ในคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ ยากที่จะอธิบายให้เข้าใจการไปเกิดในภพใหม่ได้ ทำให้เข้าใจได้ว่า มีจิตหรือวิญญาณพวกอื่น ที่น่าเกลียดน่ากลัวแทนที่จะเห็นว่าเขาเป็นเพื่อนร่วมโลกจำพวกหนึ่ง หลักสูตรบาลีหรือ “ปริยัติธรรม” ของคณะสงฆ์ไทยนั้นสถาปนาโดย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) นับถึงปัจจุบันมีอายุกว่า 100 ปีแล้ว เป็นหลักสูตรที่มีความแยบยลเป็นอันมาก สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงแบ่งเป็น 2 แผนก คือ แผนกเรียนธรรมะหรือคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ (ไม่เกี่ยวกับบาลี) เรียกว่าแผนก “นักธรรม” จำได้ว่าเริ่มเรียนตั้งแต่วินัยสงฆ์หรือ “พุทธบัญญัติ” (ในหนังสือ “นวโกวาท”) 227 ข้อ ไปจนถึงธรรมะตั้งแต่ธรรมะหมวด 2 ข้อ (หิริและโอตตัปปะ) เป็นต้นไป หลักสูตรแผนกนักธรรมนี้ ทำให้อ่านและจำธรรมะ(ตลอดถึง “พุทธศาสนสุภาษิต”) บทต่างๆได้อย่างแม่นยำ ท่านแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ เรียนเพื่อจดจำธรรมะต่างๆ(อธิบายธรรมะได้ แต่ให้อยู่ในกรอบของหลักสูตร) ชั้นสูงสุดคือ นักธรรมชั้นเอก (ให้รู้จักวิเคราะห์วิจารณ์ธรรมะ) สามารถเทศน์ปากเปล่าได้ แต่การอ้างอิงธรรมะมีความเป็นระเบียบเป็นแนวเดียวกัน เช่น อริยมรรค (ภาษาธรรมะใช้คำว่า “อัฏฐังคิกมรรค” แปลว่า “มรรคมีองค์ 8”) คำว่า “อริยมรรค” ที่เรียกว่ามีองค์ 8 หมายถึงมรรคอันเป็น “พรหมจรรย์” ของพระพุทธเจ้านั้นมี 8 ข้อ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ มรรคทั้ง 8 ข้อนี้ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ “ไตรสิกขา” นั่นเอง ผู้ได้เรียนหลักสูตรนักธรรม จะบอกจำนวนธรรมะได้ทั้ง 8 ข้อ และเรื่องลำดับกันเหมือนกันหมด แม้จะเรียนในหลักสูตรบาลีต่อไปจนถึง ป.ธ.9 ก็ยังต้องบอกหรือจำ “มรรค” มีองค์ 8 ได้เหมือนเมื่อเรียนนักธรรมชั้นตรี อยู่นั่นเอง แสดงว่า การจัดวางหลักสูตรปริยัติธรรมของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เมื่อกว่า 100 ปีมาแล้วนั้น มีการวางแผนอย่างแยบยลให้คนเรียนเข้าถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า(ในพระไตรปิฎก)อย่างเป็นระบบ หลักสูตรปริยัติธรรม (เรียกว่า “พระปริยัติธรรม”) จึงเป็นการเรียนพระไตรปิฎกอย่างมีแบบแผน ไม่ใช่ต่างคนต่างเรียน ต่างคนต่างตีความคำสอนตามอำเภอใจของตน ไม่ว่าจะเป็น “พุทธทาสภิกขุ” หรือ “พระอาจารย์มั่นภูริทัตโต” หรือ “พระอาจารย์ชา สุภัทโท (หรือแม้กระทั่ง “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ป.อ.ปยุตฺโต)” ล้วนแต่ได้เรียนในหลักสูตรปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ไทย แม้ว่าบางท่านจะไม่ได้เรียนบาลีมากมาย แต่ก็มีความรู้ในระดับ “นักธรรม” เป็นพื้นแล้วทั้งสิ้น คือมีความรู้ที่เป็น “ปริยัติธรรม” เหมือนกัน (เป็นแนวเดียวกัน)ทั้งหมด เมื่อเห็นคำต่างๆ เช่น คำว่า “วินัย” ก็จะรู้ความหมายแบบปริยัติธรรม คือ รู้ว่า วินัย เป็นข้อปฏิบัติเพื่อฝึกกายและวาจาให้มีศีล ไม่ใช่คิดเอาเองว่า วินัย มีความสำคัญเหนือเรื่องอื่นๆ ซึ่งเป็นการคิดเอาเอง มานึกดู ก็เห็นว่า ปริยัติธรรม ที่พระเณรเรียนนั้นก็คือความรู้ในพระไตรปิฎกนั่นเอง ท่านให้เรียนเพื่อจะได้เข้าถึงพระไตรปิฎกอย่างไม่เป็นอันตราย หรือไม่เพี้ยน จำได้ว่า เมื่อจะเรียนแต่งฉันท์ (ป.ธ.8) และเรียนแต่งบาลี (ป.ธ.9) นั้น ครูบาอาจารย์สอนให้ยึดหลักความรู้ในชั้นนักธรรมและในชั้นบาลีต้นๆให้ดี ให้ใช้ความรู้ปริยัติธรรมอย่างรอบคอบ ไม่เข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้าผิดๆไปแต่งบาลี เช่น ต้องเข้าใจเรื่องวิญญาณหรือจิต ต้องเข้าใจเรื่องอนัตตา ต้องเข้าใจเรื่อง “กรรม” ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ถูกต้อง เมื่อเรียนปริยัติธรรมจนตลอด จึงรู้ว่า “อจินไตย” ที่สอนให้คิดนั้น หมายถึงอะไรบ้าง รู้ว่า “พุทธวิสัย” ตลอดถึง “ฌานวิสัย” และเรื่องการกำเนิดของโลก ทำไมจึงเป็นอจินไตย (ไม่ควรเก็บเอามาคิด) มาแปลกใจ เมื่อถึงเรื่องกรรม ท่านใช้คำว่า “กัมมวิปาก” (ผลของกรรม) คือปริยัติธรรมบอกว่า เรื่อง ผลของกรรมเป็น “อจินไตย” อย่างหนึ่ง ยอมรับว่า เรื่องกรรมพอจะทำความเข้าใจได้ แต่เรื่องผลของกรรม ที่จัดสรรให้คนไปเกิด (ตามผลของกรรม) นั้น เข้าใจได้ยากจริงๆ ครับ จึงตามเขียนเรื่อง “สัมภเวสี” อยู่นี่แหละ