ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง “พระธาตุพนม” หมายมั่นสู่มรดกโลก อีก 2 เดือนข้างหน้าการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 41 จะเริ่มขึ้น เที่ยวนี้เมืองคราครูฟ (Krakow) ประเทศโปแลนด์เป็นเจ้าภาพประชุม ระหว่างวันที่ 2 – 12 กรกฏาคม 2560 หัวข้อประชุมหลักๆ คงหนีไม่พ้น การรับรองรายชื่อแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม ทางธรรมชาติ เข้าสู่บัญชีเบื้องต้น (Tentative Lists submitted) การเสนอชื่อแหล่งเพื่ออยู่ในบัญชีมรดกโลก (Nominations to the World Heritage List) ปรับปรุงรายชื่อมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย (Update of the World Heritage List and the List of World Heritage in Danger) ทั้งหมดอยู่ในหัวข้อ 8 วาระการประชุม (whc.unesco.org/en/sessions/41com/) ปัจจุบัน (2559) มีแหล่งที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลก จำนวน 1052 แห่ง เป็นทางวัฒนธรรม 814 แห่ง ธรรมชาติ 203 แห่ง แบบผสม 35 แห่ง จาก 165 ประเทศ ประเทศที่มีมรดกโลกมากที่สุด ได้แก่ อิตาลี 51 แห่ง (วัฒนธรรม 47 ธรรมชาติ 4) รองลงมา จีน 50 แห่ง (วัฒนธรรม 35 ธรรมชาติ 11 ผสม 4) ตามด้วย สเปน 45 แห่ง (วัฒนธรรม 40 ธรรมชาติ 3 ผสม 2) ส่วนรายชื่อแหล่งอยู่ในบัญชีเบื้องต้น มีจำนวน 1709 แห่ง จาก 176 ประเทศ ซึ่งรวมถึง 6 แห่งในประเทศไทยอยู่ในบัญชีดังกล่าว ทางธรรมชาติ ได้แก่ ป่าแก่งกระจาน (ปีที่บรรจุ 2554) ทางวัฒนธรรม ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท (2547) เส้นทางปราสาทพิมาย-พนมรุ้ง-เมืองต่ำ (2547) วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช (2555) อนุสรณ์สถาน สถานที่และพื้นที่ทางวัฒนธรรมในเมืองเชียงใหม่ (2558) และ พระธาตุพนม มีรายชื่อในบัญชีอย่างไม่ทางการ (2/2/2560 ดูที่ whc.unesco.org/en/tentativelists/state=th) ยังต้องรอผลการรับรองจากที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกก่อนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นอย่างทางการ อย่างไรก็ดี พระธาตุพนมเข้าสู่เข้าบัญชีเบื้องต้นเป็นเพียงบันไดขั้นหนึ่ง เพื่อไปสู่การเป็นมรดกโลก ซึ่งชั่วโมงนี้หลายฝ่ายของไทยที่เกี่ยวข้องทั้งด้านจังหวัดนครพนม ด้านกระทรวงวัฒนธรรม มีความกระตือรื้อร้นอย่างมาก มีการจัดประชุมหารืออยู่กันเป็นระยะๆ เพื่อที่จัดทำข้อมูลทุกด้านของความเป็นคุณค่าพระธาตุพนมให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เข้าหลักเกณฑ์ทางวัฒนธรรมของยูเนสโก ในข้อใดข้อหนึ่ง (6 ข้อ) หรือมากกว่านี้ ถ้ามั่นใจว่าแหล่งที่เสนอมีคุณสมบัติมากกว่าหนึ่งเกณฑ์ วีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม กล่าวก่อนหน้านี้ “พระธาตุพนมเป็นศาสนสถานที่มีคุณค่าโดดเด่นเป็นสากล มีคุณสมบัติในการขึ้นทะเบียนทางวัฒนธรรมของยูเนสโก 3 เกณฑ์ ได้แก่ เกณฑ์ที่ 1 เป็นตัวแทนที่แสดงถึงผลงานชิ้นเอกที่ทำขึ้นด้วยอัจฉริยภาพในการสร้างสรรค์ของมนุษย์ เกณฑ์ที่ 2 เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่งในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อในด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องหรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ และเกณฑ์ที่ 6 มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์หรือบุคคลที่มีความสำคัญหรือความโดดเด่นในประวัติศาสตร์” (23 พ.ย.59) กระนั้นก็ดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพราะไม่อยากให้เอกสารนอมิเนชั่น ดอซิเยร์ (Nomination Dossier) อันเป็นขั้นตอนเสนอชื่อพระธาตุพนม (Phra That Phanom, its related historic buildings and associated landscape) ไปสู่มรดกโลก ถูกตีกลับเหมือนกรณีอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มีข้อบกพร่องหลายด้านของการจัดทำรายละเอียดความเป็นคุณค่าโดดเด่นสากลของอุทยานฯ ภูพระบาท “เรานำกรณีภูพระบาทมาศึกษา เพื่อให้การนำเสนอพระธาตุพนมมีความพร้อมสมบูรณ์ข้อมูลทุกด้าน และปิดประตูทุกด้านที่เป็นช่องโหว่ ต้องจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ คุณค่าสถาปัตยกรรม เพื่อให้เห็นถึงประวัติความเป็นมาและคุณค่าของพระธาตุพนม โดยเฉพาะด้านโบราณคดี ต้องมีการขุดค้นเพิ่มเติม เพื่อบ่งบอกถึงความเก่าแก่ อายุ ชั้นดิน ที่ต้องศึกษาวิเคราะห์ช่วงเวลาและยุคสมัยที่ชัดเจน รวมทั้งการจัดทำผังกำหนดขอบเขตพื้นที่มรดกโลก และพื้นที่กันชน ตลอดจนจัดทำแผนบริหารจัดการ การพัฒนาปรับปรุงบริเวณที่จะเป็นมรดกโลก เช่น ตั้งศูนย์บริการท่องเที่ยว ศูนย์ข้อมูลหรือพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น โดยเร่งรัดให้จังหวัดดำเนินการ ถ้าอยากให้พระธาตุพนมขึ้นเป็นมรดกโลก” วีระ รมว.วัฒนธรรม กล่าวหลังการประชุมคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม (26 เม.ย.60) (กรณีอุทยานฯ ภูพระบาท อมรา ศรีสุชาติ นักโบราณคดีผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แสดงความเห็นตอนหนึ่ง “ได้รับข้อวิจารณ์สำคัญหลายเรื่อง ให้กลับมาดำเนินการใหม่ ประเด็นหลักๆ คือการกำหนดอายุหลักฐานทางโบราณคดียังขาดความชัดเจน และขาดการศึกษาเปรียบเทียบกับแหล่งมรดกที่ใกล้กับไทย เช่น สปป.ลาว เพราะลาวค้นพบใบเสมาขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน” ไทยโพสต์ 27 เม.ย. 60) เพื่อให้มั่นใจว่าเอกสารการเสนอชื่อพระธาตุพนมไปสู่มรดกโลก ไม่ซ้ำรอยดังเช่นอุทยานฯ ภูพระบาท “กระทรวงวัฒนธรรมได้เชิญผู้แทนองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ทั้งในไทยและจาก 15 ประเทศ อาทิ ลาว จีน อินเดีย เนปาล เวียดนาม ศรีลังกา ผู้แทนสถานทูตกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก ผู้แทนจ.นครพนม กรมศิลปากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานมรดกโลก เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเอกสารพระธาตุพนมไปสู่การเป็นมรดกโลก” รมว.วีระ กล่าวตอนหนึ่ง “Culture Heritage: Protection and Promotion Policies in Thailand” การประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติว่าด้วยการจัดการมรดกโลกทางศาสนาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (17 พ.ค.60) ทั้งกล่าวอีกว่า “ตอนนี้คณะทำงานได้ลงพื้นที่ศึกษาประวัติศาสตร์ในจ.นครพนม รวมทั้งศึกษาลุ่มน้ำโขงในภาพรวม หลังจากนั้นรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เป็นจุดเด่น พร้อมข้อเสนอแนะจากผู้แทน มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งในเรื่องการจัดทำเอกสาร การวางแผนบริหารจัดการเพื่อเสนอพระธาตุพนมขึ้นมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปี 2562” กระนั้นก็ตาม รมว.วีระ กล่าวทิ้งท้าย “เนื่องจากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่มีโบราณสถานขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก มีเพียงอยู่ในการเสนอรายชื่อเบื้องต้นเท่านั้น ดังนั้นแล้วในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงได้จัดทำแผนผลักดันให้แหล่งที่อยู่ในบัญชีดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก 3 รายการ ได้แก่ อนุสรณ์สถาน สถานที่และพื้นที่ทางวัฒนธรรมในจ.เชียงใหม่ อุทยานฯ ภูพระบาท จ.อุดรธานี และพระธาตุพนม จ.นครพนม” คงต้องตามกันดู โดยเฉพาะพระธาตุพนมหมายมั่นสู่มรดกโลกในอีกสองปีข้างหน้า เป็นดั่งที่หวังไว้หรือไม่