รายงาน: มูลนิธิราชสกุลอาภากรฯ เตรียมจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติเฉลิมฉลองวาระ “120 ปี กรมหลวงชุมพรฯ เสด็จนิวัติมาตุภูมิ สู่ราชนาวีสยาม” มูลนิธิราชสกุลอาภากร ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องค์กรสาธารณกุศล และศูนย์กลางประสานงานทุกภาคส่วนที่มีความเคารพศรัทธาในพระองค์ เปิดตัวกิจกรรมหลากหลายตลอดปีนี้ ในวาระครบรอบ 120 ปี ที่กรมหลวงชุมพรฯ เสด็จนิวัติมาตุภูมิ สู่ราชนาวีสยาม มุ่งเทิดพระเกียรติโดยการนำเสนอข้อมูลหลักฐานใหม่ๆ จากการศึกษาค้นคว้าพระประวัติ ผ่านช่องทางและรูปแบบที่ทันสมัย มุ่งสื่อสารกับคนทุกรุ่นทุกวัย ให้ซึมซับรับแง่คิดและแรงบันดาลใจจากพระปรีชาสามารถและพระกรณียกิจ ม.ร.ว.จิยากร (อาภากร) เสสะเวช ประธานกรรมการมูลนิธิราชสกุลอาภากรฯ เปิดเผยว่า เนื่องจากในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2443 พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ เสด็จนิวัติจากประเทศอังกฤษกลับมาตุภูมิกลับสู่สยาม และทรงเริ่มรับราชการในกรมทหารเรือ ดังนั้น ปีนี้ซึ่งตรงกับพุทธศักราช 2563 จึงเป็นวาระครบรอบ 120 ปี ของการเสด็จนิวัติมาตุภูมิ สู่ราชนาวีสยาม นับเป็นวาระอันเหมาะสมต่อการจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติ รำลึกถึงพระปรีชาสามารถและพระกรณียกิจนานาแขนง ซึ่งสามารถเป็นแบบอย่างให้แง่คิดและแรงบันดาลใจเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและเผชิญวิกฤติแก่ผู้คนในยุคปัจจุบันได้ในหลายแง่มุม ม.ร.ว.จิยากร กล่าวอีกว่า สำหรับรูปแบบกิจกรรมที่จะจัดขึ้นนั้น แรกมูลนิธิฯ ได้ดำริไว้อย่างหลากหลาย ทั้งในรูปแบบ On-ground, On-field และ On-line เพื่อให้เข้าถึงผู้สนใจในวงกว้าง ตอบสนองลักษณะความชื่นชอบกิจกรรมที่หลากหลาย แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องระงับแผนในบางกิจกรรม รวมทั้งปรับเปลี่ยนรูปแบบของอีกหลายกิจกรรมมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ให้สอดคล้องกับความจำเป็นในการป้องกันการแพร่เชื้อตามมาตรการของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลทำให้กิจกรรมเหล่านี้ สามารถเข้าถึงผู้คนได้กว้างขวางมากขึ้นอย่างแทบจะไร้ขีดจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์แบบออนไลน์ ชื่นชอบทำกิจกรรมต่างๆ ในโลกโซเชียลมีเดีย กิจกรรมเด่นๆ ที่มูลนิธิฯ วางแผนไว้นั้น มุ่งเทิดพระเกียรติโดยการนำข้อมูลหลักฐานและเรื่องราวใหม่ จากการศึกษาค้นคว้าพระประวัติ มานำเสนอสู่ผู้สนใจด้วยรูปแบบต่างๆ อาทิ การเสวนาเจาะลึกเรื่องพระประวัติ ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นทุกเดือน โดยมีแขกรับเชิญท่านต่างๆ ที่ล้วนเป็นผู้ศึกษาเกี่ยวกับพระประวัติในแง่มุมต่างๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเป็นผู้ร่วมเสวนา ถ่ายทอดสู่ผู้ชมผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งชมสดและชมย้อนหลัง นอกจากนั้น ยังจะมีการนำเสนอเอกสารจดหมายเหตุและภาพประวัติศาสตร์จำนวนมาก เกี่ยวกับการทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ ซึ่งคณะทำงานของมูลนิธิฯ ได้ไปค้นคว้ารวบรวมจากหอจดหมายเหตุและสถานที่สำคัญหลายแห่งในอังกฤษ โดยจะนำเสนอทั้งในรูปคอนเทนต์เชิงสาระ และนำเสนอเป็น On-line thematic exhibition โดยผสมผสานเนื้อหาเข้ากับศิลปะของการนำเสนอ ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าชมได้จากทุกแห่งในโลก “ในการเริ่มดำเนินกิจกรรมเทิดพระเกียรติต่างๆ นั้น มูลนิธิฯ ได้กำหนดให้วันที่ 11 มิถุนายน 2563 เป็นวันเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ เนื่องจากตรงกับวันที่พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ เสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อ 120 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันอาภากร 19 พฤษภาคม เป็นต้นมา มูลนิธิฯ ได้เริ่มเปิดช่องทางออนไลน์ในรูปของ official website และ Facebook page ให้ผู้สนใจเข้ามาติดตามข่าวสารของกิจกรรม ปัจจุบันมียอดติดตามเข้าชมเพจทั้งหมด 103,135 ครั้ง (สรุป ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2563) ม.ร.ว.จิยากร (อาภากร) เสสะเวช ประธานกรรมการมูลนิธิฯ กล่าว สำหรับรายละเอียดของแต่ละกิจกรรมที่จะดำเนินการต่อไปจนถึงสิ้นปี 2563 คือ 1. เว็บไซต์และเฟซบุ๊ก “กรมหลวงชุมพรฯ 120 ปี เสด็จนิวัตมาตุภูมิ สู่ราชนาวีสยาม” สารคดีเทิดพระเกียรติชุด “กรมหลวงชุมพรฯ 120 ปี เสด็จนิวัตมาตุภูมิ สู่ราชนาวีสยาม” 2. นำเสนอเรื่องราวพระประวัติเมื่อครั้งทรงศึกษาวิชาการทหารเรือกระทั่งเสด็จกลับมา ทรงสร้างคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติเผยแพร่ทางช่องทางออนไลน์ จำนวน 4 ตอน 3. เสวนาสาระพระประวัติองค์บิดาของทหารเรือไทย โดยแขกรับเชิญหมุนเวียนมาเป็น ผู้ร่วมเสวนา ถ่ายทอดสดทางช่องทางออนไลน์ จำนวน 7 ครั้ง ตั้งแต่เดือนมิถุนายน – ธันวาคม 2563 และจะขยายผลเป็นสื่อสิ่งพิมพ์หรือวิดีทัศน์ทางออนไลน์ 4. นิทรรศการออนไลน์ ถ่ายทอดเรื่องราว และบริบทแห่งพระชนมชีพเมื่อครั้งทรงศึกษา ในประเทศอังกฤษ ขอเรียนเชิญผู้ที่เคารพรักศรัทธาและสนใจประวัติศาสตร์ได้มีส่วนร่วมในการเทิดพระเกียรติ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ในครั้งนี้ได้ตามช่องทางเว็บไซต์และเฟชบุ๊ก “กรมหลวงชุมพรฯ 120 ปี เสด็จนิวัตมาตุภูมิ สู่ราชนาวีสยาม” ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป https://m.facebook.com/hrh.abhakara.120anv.homecoming/ หมายเหตุ : แหล่งที่มา มูลนิธิราชสกุลอาภากรฯ