ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
สำนวนที่ว่า “อาบน้ำร้อนมาก่อน” ไม่ใช่การยกตนข่มท่าน
ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 คนในวัย 14 – 15 ปีกำลังสนใจในโลกกว้าง การมีเพื่อนอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นความสุขอย่างยิ่ง กิจกรรมทุกอย่างเป็นไปในแบบ “เฮโลสาระพา” เพื่อนพาไปไหนก็เฮตามกันไป แม้ว่าพวกเราอยู่ในการดูแลของคุณครู แต่ก็ดูเหมือนคุณครูเหล่านั้นได้กลายเป็น “ความท้าทาย” ที่พวกเราต้องเอาชนะให้ได้ โดยเฉพาะ “การสร้างวีรกรรม” เพื่อให้เป็นที่เลื่องลือในหมู่เพื่อนๆ และในความจดจำของคุณครู
ครูบุษบาด้วยความที่มีอายุห่างจากนักเรียนน้อยที่สุด ได้รับมอบหมายให้คอยดูแลพฤติกรรมของพวกเราในฐานะเป็นผู้ช่วยครูฝ่ายปกครอง แต่คุณครูก็ใช้วิธีการที่นุ่มนวลในการควบคุมพวกเรา ทำให้พวกเรารู้สึกว่าได้รับความสนใจแต่ไม่ได้ถูกคุกคาม เวลาที่จะมีกิจกรรมอะไรก็กล้าที่จะไปปรึกษากับคุณครู ซึ่งหลายๆ กิจกรรมคุณครูดูเหมือนจะไม่เห็นด้วย แต่แทนที่จะค้ดค้านหรือให้เลิกกิจกรรมนั้นเสีย คุณครูก็ให้ข้อแนะนำ ให้ความรู้ทางกฎระเบียบและความเหมาะสม รวมถึงช่วยเติม “สีสัน” ให้กิจกรรมของพวกเราดูดีขึ้นด้วย
ครั้งหนึ่งชุมนุมภาษาอังกฤษจะจัดการแสดงดนตรี(ถ้าเป็นสมัยนี้น่าจะเรียกว่า “คอนเสิร์ต”) โดยวงของนักเรียนเอง แต่มีรุ่นพี่ที่เป็นนักร้องอาชีพมาร่วมร้องด้วย (ผมจำชื่อไม่ได้เพราะไม่ใช่นักร้องชื่อดัง เพียงแต่เป็นที่รู้จักและมีแฟนคลับพอสมควร) ครูบุษบาแนะนำถึงเรื่องการรักษาความปลอดภัย เพราะการแสดงดนตรีจะมีการ “ปลดปล่อย” อารมณ์กันมาก อาจจะมีการกระทบกระทั่งกัน ส่วนหนึ่งอาจจะต้องมีตำรวจหรือการตรวจตราร่างกายไม่ให้มีการพกพาอาวุธอะไรเข้าไป ทำให้พวกเราเปิดรับอาสาสมัครจากเพื่อนนักเรียนด้วยกัน โดยให้ผู้อาสาเหล่านี้ดูฟรีและมีเสื้อยืดแจกให้ด้วย (ที่จริงก็เพื่อให้ใส่สีและแบบเป็นอย่างเดียวกัน จะได้ทำงานด้วยกันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย) การแสดงก็ผ่านไปอย่างเรียบร้อย และทำให้การจัดกิจกรรมอื่นๆ ได้เอาไปเป็นแบบอย่าง เพราะไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายมาก ทั้งยังใช้ความสนิทสนมรู้จักกันนั้นควบคุมกันเองได้เป็นอย่างดี
ครูบุษบาบอกกับเราในภายหลังว่า สมัยที่ต้องดูแลพวกเรานั้นรู้สึกอึดอัดใจมาก เพราะตัวเองก็เป็นผู้หญิงแต่ต้องไปดูแลนักเรียนชายที่อยู่ในวัยห้าวร้อนแรง พอจะต้องทำจริงๆ ก็นึกถึงครั้งที่ตัวครูอยู่ในช่วงอายุนั้น แล้วค่อยๆ ลำดับความคิดว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร แม้จะมาจากโรงเรียนหญิงล้วนก็คงจะมีนิสัยใจคอไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในความเป็น “วัยรุ่น” ทุกสิ่งทุกอย่างที่ครูทำไปจึงทำในฐานะคนรุ่นเดียวกัน โดยมองจากมุมของคนที่เคยอยู่ในวัยนี้ ที่เคยมีประสบการณ์และความรู้สึกอย่างเดียวกันมาก่อน ทำให้ครูนึกถึงสำนวนอังกฤษที่ว่า I have been there before. หรือ “ฉันเคยไปที่นั่นมาก่อน” มึความหมายเหมือนสำนวนไทยที่คนเก่าๆ ชอบพูดว่า “ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน” แต่เรามักจะได้ยินในความหายที่ยกตนข่มท่านตามประสาคนไทยโบราณ คือ “อย่ามาอวดดีหรือรู้ดีกว่าฉันนะ ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน” แต่ถ้าเรามองในอีกมุมว่าลองเอาตัวเราเข้าไปมีชีวิตเดียวกันกับคนอื่น ในที่นี้ก็คือเอาชีวิตของครูเข้าไปเป็นชีวิตเดียวกันกับพวกคุณ(นักเรียน) แล้วเอาประสบการณ์ในชีวิตช่วงนั้นมาแลกเปลี่ยนหรือปรับใช้ ก็น่าจะทำให้เราไปด้วยกันได้ดีไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม
โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์อยู่บนทำเลที่ใกล้ชิดการเมือง เพราะเพียงข้ามสะพานมัฆวานรังสรรค์ก็เป็นทำเนียบรัฐบาล ผมจำได้ว่าในตอนปลายปี 2515 มีการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล นำโดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเพื่อต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ผมได้ตามเพื่อนๆ กว่าสิบคนไปดูการชมนุมในครั้งนั้นด้วย ผมชอบในการลำดับรายชื่อสินค้าญี่ปุ่นออกมาอย่างคล้องจองของผู้ขึ้นปราศรัย ร่วมกับการเสียดสีเยาะเย้ยผู้นำรัฐบาลว่า “ไม่ฉลาด” ที่ยอมให้ต่างชาติมาเอารัดเอาเปรียบประชาชนคนไทย ทำให้รู้ถึงประวัติศาสตร์ของการเมืองไทยที่ทหารคือผู้ยิ่งใหญ่ทางการเมือง ฯลฯ วันต่อๆ มาพวกเราบางคนได้ใส่เสื้อผ้าฝ้ายสีมอๆ มาโรงเรียน จนโดนทางโรงเรียนตำหนิ แต่พวกเราก็ต่อสู้ว่านี่คือการแสดง “ความเป็นไทย” เราต้องช่วยกันรณรงค์ให้ใช้สินค้าไทย ผ่านไปหลายวันก็ซาไป เพราะเสื้อผ้าฝ้ายซักแล้วหด รีดยาก สู้ผ้าโทเรของญี่ปุ่นไม่ได้ พอผู้คนเหมือนจะลืมๆ พวกผมก็มากลับใส่เสื้อผ้าโทเรเหมือนเดิม (ฮา)
สมัยนั้นเรื่องการสื่อความระหว่างประชาชนกับรัฐบาลมีปัญหามาก ด้วยความที่รัฐบาลเป็นเผด็จการ สื่อหลักที่มีในยุคนั้นคือวิทยุและโทรทัศน์ก็ถูกรัฐบาลควบคุมไว้หมด จะมีก็แต่หนังสือพิมพ์ที่พออาศัยได้บางค่าย ผมเองก็ได้อาศัยหนังสือพิมพ์ในห้องสมุดของโรงเรียนนั่นแหละอ่านเป็นประจำ วันหนึ่งในตอนต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 ก็ไม่มีหนังสือพิมพ์อ่าน โดยคุณครูบรรณารักษ์บอกว่าโรงเรียนให้งดซื้อหนังสือพิมพ์ เมื่อไม่มีข่าวจริงๆ ให้อ่าน ในโรงเรียนก็เลยมีแต่ “ข่าวลือ” ที่ออกมาจากปากของพวกเราบางคน ว่ามีการจับกุมนักศึกษาและคนที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญไปขังไว้ที่คุกในโรงเรียนพลตำรวจบางเขน แต่ได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้ว กระนั้นการชุมนุมต่อต้านเผด็จการก็ไม่ล้มเลิก ตอนนี้นักศึกษาที่ธรรมศาสตร์กำลังประท้วงด้วยการเอากุญแจไปล็อคประตูห้องเรียนไม่ให้มีใครเข้าสอบและไปชุมนุมกันที่ลานโพธิ์ในมหาวิทยาลัย
บ่ายวันต่อมามีคนมาบอกว่าตอนนี้ผู้ชุมนุมได้ย้ายไปที่สนามฟุตบอลหน้าตึกโดมเพราะมีคนไปร่วมชุมนุมมากขึ้น โดยผู้ปราศัรัได้เชิญชวนให้นักเรียนนิสิตและนักศึกษามาร่วมชุมนุมให้มากๆ เพื่อโค่นล้มเผด็จการและสร้างประชาธิปไตยร่วมกัน เย็นวันนั้นผมก็ไปที่ธรรมศาสตร์เพียงแต่คิดว่าจะไปดูบรรยากาศเท่านั้น แต่พอได้ไปร่วมอยู่ในที่ชุมนุมอารมณ์ก็เปลี่ยนไป ที่อาจจะเป็นด้วยความดุเดือดในคำพูดของผู้ปราศรัยคนแล้วคนเล่า หรือละครที่เสียดสีผู้มีอำนาจได้อย่างสะใจ และบทเพลงเพื่อชีวิตที่ขึ้นขับกล่อมในระหว่างช่วงการปราศรัย ทำให้ผมต้องนั่งฟังอยู่จนถึงเช้าและค้างต่ออีกคืนด้วยเสื้อผ้าเพียงชุดเดียว จนถึงวันที่ 12 ตุลาคมที่มีการเดินขบวนออกจากมหาวิทยาลัยในตอนเที่ยง จนไปถึงลานพระบรมรูปทรงม้าในตอนเย็น แล้วไปชุมนุมหลับนอนกันรอบๆ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานในตอนค่ำ จนกระทั่งวันรุ่งขึ้นที่เป็นวันมหาวิปโยค
การได้ร่วมชุมนุมครั้งนั้นจึงทำให้ผมรู้ว่า “การเมืองนี้สำคัญยิ่งนัก”