ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้า พ.ค.63 ทรุดแตะ 31.3 จากความกังวลจีดีพีไตรมาส 1 หดตัว-โควิด-เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ชี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หากฟื้นไม่ได้ภายในเดือน มิ.ย.-ก.ค.63 จีดีพีอาจทรุดถึงลบ 8.8% จี้รัฐกระตุ้นเศรษฐกิจห้เกิดผลเป็นรูปธรรม เข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำยาก นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นของการค้าไทยประจำเดือนพฤษภาคม 2563 พบว่า ดัชนีมีการปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 31.3 ซึ่งเป็นผลมาจากความกังวลของผู้ประกอบการหลังจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ได้มีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1 ติดลบร้อยละ 1.8 ส่งผลทำให้การบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนลดลง และคาดว่าทั้งปีเศรษฐกิจที่จะติดลบร้อยละ 6 ถึงติดลบร้อยละ 5 จากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ร้อยละ 1.5-2.5 โดยเศรษฐกิจของประเทศเวลานี้ยังคงอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หากไม่สามารถฟื้นตัวได้ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคมนี้ เชื่อว่าเศรษฐกิจจะทรุดตัวซึมลึกมากขึ้น อาจติดลบได้ถึงร้อยละ 8.8 มองว่าการผลักดัน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเวลานี้มีความจำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมให้ได้มากที่สุด เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือ Soft Loan ที่ต้องมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรน รวมถึงการใช้เม็ดเงินจากพระราชกำหนด 5 แสนล้านบาท เพื่อชดเชยเม็ดในระบบเศรษฐกิจที่หายไป อย่างไรก็ตามเวลานี้ทางหอการค้าไทย ยังคงประมาณการจีดีพีไว้ที่ติดลบมากสุดร้อยละ 5 “มีความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิค-19 ส่งผลทำให้การดำเนินชีวิตของประชาชนและการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยรัฐบาลมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกิจการบางประเภทยังคงต้องปิดกิจการ ทำให้จำนวนคนว่างงานยังมีอยู่สถานการณ์พืชผลทางการเกษตรยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากโควิด-19” สำหรับแนวทางการดำเนินการในการแก้ไขปัญหานั้นทางภาคธุรกิจมองว่า การปลดล็อคการเดินทางภายในประเทศและการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวจะสามารถทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น รวมถึงการเร่งมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ จะส่งผลต่อเนื่องกับเศรษฐกิจในภาพรวม นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำของสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย จากกลุ่มตัวอย่างสมาชิกหอการค้าไทยทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 364 ตัวอย่าง เดือนพฤษภาคม 2563 พบว่า ปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 31.3 เนื่องจากตัวชี้วัดทุกด้านทั้งการบริโภค การลงทุน การท่องเที่ยว ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้า และการค้าชายแดน ภาคบริการ และการจ้างงาน มีการปรับตัวลดลงทุกภูมิภาค ที่มีการปรับลดต่ำกว่าค่ากลางที่ 50 และอยู่ในโซนสีแดง ต่ำกว่าระดับ 40 โดยเฉพาะภาคใต้ที่ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ในระดับต่ำที่สุดเพียง 28.4 เนื่องจากได้รับผลกระทบโดยตรงจากการท่องเที่ยว รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรสำคัญในพื้นที่ตกต่ำทั้งยางพาราและปาล์มน้ำมัน “จากการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกหอการค้าไทยทั่วประเทศเดือนพฤษภาคม 2563 แม้มีการคลายล็อกให้กิจการห้างร้านต่างๆเริ่มกลับมาทำธุรกิจได้แล้ว แต่ยังมีหลายธุรกิจที่ยังขาดรายได้ ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่มีความเชื่อมั่น และอยากให้ภาครัฐ เร่งปลดล็อกการเดินทางท่องเที่ยวและช่วยเหลือภาคธุรกิจกลับมาดำเนินการได้โดยเร็ว” ทั้งนี้อยากให้ภาครัฐเร่งปลดล็อกการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงเริ่มคลายล็อกการท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเอเชียที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้ว เร่งช่วยเหลือภาคธุรกิจให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้ ช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง และพิจารณาการเปิดด่านสำหรับค้าขายสินค้าตามแนวชายแดนอย่างเต็มรูปแบบให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นได้เต็มที่