“บิ๊กตู่" สั่งรับมือฤดูฝน เก็บน้ำเข้าเขื่อนให้มากที่สุด-แก้พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ลดผลกระทบประชาชน เร่งจัดทัพป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุถึงสถานการณ์น้ำของประเทศไทย 4ประเด็น คือมีฝนตกมากกว่าปี2562 แต่ปริมาณฝนยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย5% และเกิดฝนทิ้งช่วงกลางเดือน มิ.ย.-ก.ค. ส่วนเดือนส.ค.-ก.ย. มีพายุโซนร้อนเข้าไทย 2 ลูก ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมือสองแนวทางบริหารจัดเก็บน้ำไว้ในเขื่อนให้มากที่สุดและจะต้องมีมาตรการป้องกันอุทกภัยในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยสุดที่สุด ซึ่งท่านนายกฯ ได้มอบให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มาลงดูพื้นที่ทุกลุ่มน้ำขจัดสิ่งกีดขวางอุปสรรคทางน้ำ กำจัดผักตบชวาให้เสร็จสิ้นทุกเส้นทางน้ำก่อนสิ้นเดือนก.ค. ซึ่งดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้เน้นย้ำให้ทุกเส้นทางน้ำที่กรมชลประทาน รับผิดชอบกว่า 2.5 แสนกม. ทำเครื่องมือกั้นลำน้ำเพื่อหยุดผักตบ เรียกว่าพาราล็อคบูม ที่ทำมาจากยางพารา เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรสวนยางด้วย และเมื่อหยุดผักตบไม่ให้ไหลไปแพร่พันธุ์ตามแหล่งน้ำอื่นๆแล้ว ต้องขอความร่วมมือหน่วยงานท้องถิ่น ร่วมกับเก็บขึ้นจากลำน้ำโดยต้องทำอย่างตลอดเพื่อไม่ให้กีดขวางการสัญจรทางน้ำด้วย ทั้งนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับให้รับมือฤดูฝน จัดสรรเครื่องจักร เครื่องมือ กำหนดคนประจำพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย โดยวางไว้แล้ว 4 พันกว่าชุด สิ่งสำคัญติดตามตรวจสอบความมั่นคงเขื่อน อาคารบังคับน้ำทั่วประเทศ 4พันกว่าแห่ง และจัดสรรน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกได้เก็บเกี่ยวก่อนฤดูน้ำหลากจะใช้เป็นพื้นที่ตัดยอดน้ำเข้าทุ่ง เช่นพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ กว่า 2.5 แสนไร่ “แผนป้องกันอุทกภัยปีนี้ จัดลำดับพื้นที่เสี่ยง จัดเครื่องมือ ทุกพื้นที่วางคนให้พร้อมทั้งหมด ร่วมจัดการกับท้องถิ่น ซึ่งดูแลฝายส่งน้ำ 500 กว่าฝาย พร้อมกับศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ร่วมกันวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดกับศูนย์อัจฉริยะน้ำที่มีเครือข่าย 76 จังหวัด ตลอด 24 ชม. จะทำให้ช่วยเหลือประชาชนได้ทันการณ์ซึ่งคาดการณ์ ว่าปริมาณฝนคล้ายปี 2538 ส่งผลให้ลุ่มเจ้าพระยา มีน้ำเข้า4เขื่อนหลัก เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อย ป่าสักฯ ประมาณ 1.6 หมื่นล้านลบ.ม. หรือ 65% ของความจุ เป็นความโชคดี มีน้ำใช้การได้ 9.4 พันล้านลบ.ม.จะเสริมน้ำทำนาช่วงแล้งได้ ทั้งนี้แบบจำลองคาดการณ์ปริมาณน้ำเข้าเขื่อนใหญ่35แห่งทั่วประเทศ จากค่าเฉลี่ย ฝนตกต่ำกว่า 5% มีน้ำ 50,430 ล้านลบ.ม. หรือ 71% เป็นน้ำใช้การ 26,887 ล้านลบ.ม หรือ 57% มากกว่าปี 2562 ประมาณ 3 พันกว่าล้านลบ.ม.”รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าว อย่างไรก็ตาม ได้เตรียมประชุมบูรณาการ ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพ ประสานงาน ร่วมกัน กทม. กรมทางหลวง โดยกรมชลฯมองภาพใหญ่จัดการ น้ำเหนือไหลมาจากแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ใช้เขื่อนเจ้าพระยา จัดการน้ำปัดออกซ้าย ผ่านแม่น้ำท่าจีน ออกทะเลอ่าวไทย และออกขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยผันน้ำผ่านคลองชัยนาท-ป่าสัก คลองระพีพัฒน์ คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ออกคลองชายทะเล ตามแนวพระราชดำริโครงการแก้มลิง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 จุน้ำราว 3ล้านลบ.ม.มีสถานีสูบน้ำ111เครื่องตามแนวทะเล ได้36ล้านลบ.ม. เช่นสถานีสุวรรณภูมิ สูบได้ถึงวันละ8ล้านลบ.ม. “รู้ว่าน้ำจะหลากมา เตรียมพร่องคลองชายทะเลไว้ก่อน เพื่อรับน้ำเหนือ อีกเส้นทางผ่านคลองหกวา คลองรังสิต แม่น้ำนครนายก ออกบางประกง ผันออกทะเล สูบวันละ 15 ล้านลบ.ม. รวมกรุงเทพฝั่งตะวันออกจะระบายน้ำได้ 68 ล้านลบ.ม.ต่อวัน ส่วนน้ำที่ไหลผ่านกรุงเทพฯมีคันกั้นน้ำสูง 2.5-3 เมตร สิ่งสำคัญจะคุมให้น้ำให้น้ำผ่านกรุงเทพ ไม่เกิน 3.5พัน ลบ.ม.ต่อวินาที และปิดประตูน้ำ13แห่งที่เชื่อมต่อกรุงเทพฯทั้งหมด นอกจากนี้ในการระบายน้ำที่สำคัญ ใช้ประตูคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตัดช่วงคลองที่เป็นลักษณะกระเพาะหมู ทำให้ร่นระยะเวลาการไหลของน้ำ 5-6 ชม.มาช่วยบริหารจัดการน้ำเร่งระบายทางปลายแม่น้ำเจ้าพระยาได้รวดเร็ว"ดร.ทวีศักดิ์ กล่าว สำหรับกรุงเทพฝั่งตะวันตก มีโครงการแก้มลิงมหาไชย-สนามชัย อันเนื่องมากจากพระราชดำริ รับน้ำได้ 6 ล้านลบ.ม.มีสถานีสูบออกวันละ 14 ล้านลบ.ม.ออกอ่าวไทยและออกทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา 15 ล้านลบ.ม.รวมทั้งออกแม่น้ำท่าจีน 50 ล้านลบ.มต่อวัน รวมฝั่งตะวันตก 80 ล้านลบ.ม.ต่อวัน “ตอนบนจะใช้การกักเก็บน้ำฝนไว้ในเขื่อน ตอนกลาง หน่วงไว้ ใช้อาคารบังคับน้ำ ผันน้ำเข้าทุ่ง เช่นทุ่งบางระกำ และ จะเร่งระบายตอนปลาย แม้มีพายุเข้าสองลูก ควบคุมน้ำไม่ผ่านกรุงเทพเกิน 3.5พันลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อป้องกันน้ำท่วมในช่วงน้ำหลาก ที่มาจากตอนเหนือ และยังมีน้ำฝนจากบนฟ้า และน้ำหนุน จากน้ำทะเล ซึ่งจะเกิด3น้ำช่วงปลายเดือนก.ย.ต.ค.การจัดการน้ำร่วมกับ กทม.วางแผน ป้องกันพื้นที่ท่วม จากลักษณะพื้นที่ ด้วย ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ท่วมซ้ำซาก 14 จุด"ดร.ทวีศักดิ์ กล่าว