ในขณะที่ชาวโลกกำลังหวาดผวากับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 อันเป็นไวรัสร้ายที่ทำผู้คนตาย-ป่วยนับแสนนับล้านคน แต่ปรากฏว่า ใน “อิรัก” ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ชาวประชา ณ ที่แห่งนั้น กำลังขวัญสยองกับผองเหล่าขบวนการก่อการร้าย “รัฐอิสลาม” หรือ “ไอเอส” หรือที่หลายคนก็เรียกว่า “ไอซิส” ที่หวนฟื้นคืนชีพกลุ่มขบวนการขึ้นมาใหม่ในปรากฏการณ์ “ไอซิสรีเทิร์น” กันอย่างไรกันอย่างนั้น โดยเหล่าบรรดานักวิเคราะห์ อย่าง “ซาจาด จียาด” ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ หรือมีนา ในกิจการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งสภายุโรป เป็นต้น ออกมาแสดงทรรศนะว่า กลุ่มไอเอส หรือไอซิส ได้หวนฟื้นคืนชีพกลุ่มขบวนการมาได้หลายเพลาแล้ว ตั้งแต่ช่วงหกเดือนหลังของปี 2019 (พ.ศ. 2562) มาเลยก็ว่าได้ หลังจากขบวนการก่อการร้ายขบวนการนี้ ถูกกองกำลังพันธมิตรมหาอำนาจตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ ร่วมกับกองทัพอิรัก และกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด สนธิกำลังเข้าปราบปรามจนไอเอสต้องพ่ายแพ้ และแตกกระสานซ่านเซ็นไปเมื่อปี 2017 (พ.ศ. 2560) พร้อมกันนั้น เหล่านักวิเคราะห์แสดงพื้นที่เมืองที่ขบวนการไอซิส ใช้เป็นตำแหน่งแห่งหนของการรีเทิร์นรอบใหม่ ได้แก่ ดิยาลา เคอร์คุก และซาลาห์แอดดิน เป็นอาทิ ซึ่งบรรดาเมืองเหล่านี้ จะอยู่ทางภูมิภาคตะวันออกและภาคเหนือของอิรัก โดยมีข้อน่าสังเกตด้วยว่า ตลอดช่วงขวบปีที่ผ่านมา บรรดาเมืองเหล่านี้ มีปรากฏการณ์ม็อบ ชุมนุมประท้วงเพื่อต่อต้านรัฐบาลแบกแดดเกิดขึ้น แถมมิหนำซ้ำก็ไม่ใช่การชุมนุมประท้วงธรรมดาๆ แต่ยังมีความรุนแรง เหตุการณ์วุ่นวายเข้าไปแทรกซ้อนแทบจะทุกกลุ่มม็อบเลยทีเดียว ท่ามกลางการเฝ้าจับตามองของหน่วยข่าวกรองด้านความมั่นคงจากเหล่าชาติตะวันตกว่า นั่นคือ ปฏิบัติการหนึ่งของไอซิส เพื่อหวังรีเทิร์นขบวนการให้ฟื้นคืนขึ้นมาใหม่ โดยอาศัยความชุลมุนวุ่นวายจากปรากฏการณ์แห่งม็อบข้างต้น กอปรกับบรรดาเมืองที่บังเกิดม็อบป่วนเมืองเหล่านั้น ก็มีปัญหาจากเรื่องการบริหารปกครองเองด้วย ส่งผลให้เมืองอ่อนแอ ง่ายต่อการฟื้นคืนชีพของขบวนการไอซิสที่จ้องจะรีเทิร์นกลับมาใหม่ หลังจากที่พวกเขาได้ผู้นำคนใหม่ คือ “นายอาบู อิบราฮิม อัล-ฮาชีมี อัล-คูราชี” ที่ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าขบวนการ แทนที่ “นายอาบู บักร์ อัล-บักห์ดาดี” ผู้นำคนเก่าที่ระเบิดตัวเองฆ่าตัวตายขณะหลบหนีข้ามพรมแดนซีเรีย-ตุรกี เมื่อช่วงปลายเดือน ต.ค. 2017 (พ.ศ. 2560) ภายหลังจากขึ้นลำ ตั้งหลัก กันได้แล้ว ทางกลุ่มไอซิส ก็ได้แผลงฤทธิ์สำแดงเดชอย่างหนักทันทีที่เริ่มปี 2020 (พ.ศ. 2563) ท่ามกลางที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด ทางกลุ่มไอซิส ก็อาละวาด เคียงคู่กับโรคร้ายอย่างน่าสุดสะพรึง นั่นคือ ออกปฏิบัติการก่อการร้ายโจมตีฝ่ายตรงข้าม โดยมีเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นพลเรือนที่เป็นมุสลิมต่างนิกาย คือ นิกายชีอะห์ในอิรัก (สมาชิกกลุ่มไอซิส เป็นมุสลิมนิกายซุนหนี่) รวมไปถึงกองกำลังฝ่ายความมั่นคงที่เป็นเจ้าหน้าที่ติดอาวุธของรัฐบาลอิรัก ควบคู่ไปกับการทำสงครามด้านการโฆษณาชวนเชื่อ ที่นายอาบู อิบราฮิม อัล-ฮาชีมี อัล-คูราชี ออกมาปลุกขวัญสมาชิกกลุ่มนักรบจีฮัด ให้ออกปฏิบัติการโจมตีเป้าหมายโดยไม่หวั่นเกรงว่า จะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยการระบุว่า เชื้อไวรัสร้ายดังกล่าว เป็นการลงโทษจากพระเจ้าที่มีต่อพวกนอกรีต นอกจากการใช้โฆษณาชวนเชื่อข้างต้นแล้ว ทางขบวนการไอซิส ยังใช้ยุทธวิธีให้กลุ่มนักรบจีฮัด โจมตีทกองกำลังฝ่ายความมั่นคง หรือทหารของรัฐบาลอิรัก ที่รักษาการบริเวณด่านตรวจ หรือป้อมฐานทหารเล็กๆ ในเมืองที่มีสภาพเป็นชนบทเล็กๆ ห่างไกลความเจริญ ตามที่กล่าวชื่อมาแล้วข้างต้นก่อน ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้เอื้อต่อการถูกโจมตีเป็นอย่างมาก จากการที่มีกำลังพลน้อย อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทหารเหล่านี้ใช้ก็ไม่รุนแรงอะไรมาก แถมการรักษาการณ์ก็ยังมีความหละหลวม ง่ายต่อการโจมตี ส่งผลให้กลุ่มนักรบจีฮัดของไอซิส ได้รับชัยชนะอย่างง่ายดาย ทำให้กลุ่มนักรบจีฮัดไอซิส มีความฮึกเหิม โดยมีรายงานงาน เฉพาะช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียว ก็เกิดเหตุโจมตีจากกลุ่มไอซิสมากถึง 108 ครั้งด้วยกัน ซึ่งในจำนวนนี้ ก็รวมถึงอาคารของสำนักงานหน่วยข่าวกรองในเมืองเคอร์คุกที่ตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มไอซิสด้วย สร้างความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก เอาเฉพาะกำลังพลฝ่ายความมั่นคง ก็สูญเสียนับร้อยนาย ไม่นับชีวิตพลเรือนอีกจำนวนหนึ่ง ถึงขนาดที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อการร้ายแห่งศูนย์นโยบายโลก (Center for Global Policy) ออกมาแสดงทรรศนะด้วยความวิตกว่า ขบวนการไอซิสแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนน่าเป็นห่วงกังวลต่อสถานการณ์ความมั่นคงของอิรักในอนาคตว่า จะรับมือกับกลุ่มไอซิสได้หรือไม่ ท่ามกลางสภาวะอันโดดเดี่ยวของรัฐบาลกลางอิรัก ที่มีปัญหาความสัมพันธ์ทั้งกับสหรัฐฯ จากกรณีที่ทางการแบกแดด มีสัมพันธ์แนบแน่นกับอิหร่าน ในฐานะมุสลิมชีอะห์ด้วยกัน และปัญหาความสัมพันธ์กับชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด จากการที่ชนกลุ่มน้อยพวกนั้น ไม่ได้ผลประโยชน์เท่าที่ควรจะเป็นในการร่วมเป็นพันธมิตรปราบปรามกลุ่มไอซิสในครั้งที่ผ่านมา พร้อมกับเปรียบเทียบด้วยว่า ไวรัสโควิดฯ ที่ว่ามีฤทธิ์เหลือร้าย แต่อาจจะไม่ร้ายไปกว่ากลุ่มก่อการ้ายไอซิส พวกเขาแข็งแกร่งเติบโตขึ้นมา โดยไวรัสโควิดฯ คร่าชีวิตชาวอิรักไปแล้วเพียง 258 ราย เท่านั้น ขณะที่ ผู้ติดเชื้อมีจำนวนสะสม 9,846 ราย ผู้ป่วยที่รักษาหายมีจำนวนสะสม 4,573 ราย นับตั้งทางการแบกแดด ประกาศการแพร่ระบาดในประเทศครั้งแรกเมื่อช่วงปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขที่ห่างไกลจากความสูญเสียด้วยน้ำมือของกลุ่มไอซิส ที่เคยอาละวาดเมื่อครั้งก่อน ที่คร่าชีวิตชาวอิรักไปจำนวนนับหมื่น เอาเฉพาะที่เป็นทหาร ถืออาวุธสงครามครบมือ ก็ยังถูกปลิดชีพไปถึงจำนวนกว่า 1.14 นาย บาดเจ็บอีกจำนวนหลายหมื่น น่าสะพรึงกว่ากันอย่างเทียบมิได้