เพจเฟซบุ๊ก สถานีข่าวกระทรวงการคลัง : Ministry of Finance News Station โพสต์ข้อความระบุว่า...สรรพากรดันกฎหมายเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ สร้างความเป็นธรรม และยกระดับระบบภาษีไทยทัดเทียมนานาชาติ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรฯ เพื่อจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ หรือแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ตามที่กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรเสนอ ช่วยสร้างความเป็นธรรมและยกระดับระบบภาษีไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ส่งร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service)) ให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ตามที่กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรเสนอ ในการจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าวกรมสรรพากรได้นำผลการศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการ e-Service จากต่างประเทศ ที่มีข้อเสนอแนะให้ผู้ประกอบการต่างประเทศหรือดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่หน่วยงานจัดเก็บภาษี เป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพและดำเนินการได้มากที่สุด ปัจจุบันมีกว่า 60 ประเทศที่นำแนวทางของ OECD มาแก้ไขปัญหาการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการระหว่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ เป็นต้น” ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรฯ กำหนดให้ผู้ให้บริการ e-Service จากต่างประเทศ หรือแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ (เช่น การให้บริการดาวน์โหลดภาพยนตร์และสื่อบันเทิงต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต) ที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จากการให้บริการผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์แก่ลูกค้าในประเทศไทยที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กรมสรรพากร เช่นเดียวกับแนวคิดของ OECD ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความง่ายและอำนวยความสะดวกในการชำระภาษีสำหรับผู้ใช้บริการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยผู้ให้บริการจากต่างประเทศทำหน้าที่นำส่งภาษีแทนผ่านระบบบริการจดทะเบียนและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างง่าย (Simplified VAT)” ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวสรุปว่า การปรับปรุงกฎหมายในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศไทยกับผู้ประกอบการในต่างประเทศที่ให้บริการในประเทศไทย ทำให้การจัดเก็บภาษีมีความเหมาะสม สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และยังเป็นการปรับปรุงกฎหมายภาษีไทยให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับแนวทางการจัดเก็บภาษีของนานาประเทศ และกรมสรรพากรคาดว่าการปรับปรุงกฎหมายในครั้งนี้จะช่วยทำให้จัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3,000 ล้านบาท