ยกให้เป็นชนวนประท้วง ที่จุดปะทุ ปลุกกระแส การชุมนุมต่อต้านการเหยียดสีผิวมนุษยชาติครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งเลยทีเดียว สำหรับ กรณีของ “จอร์จ ฟลอยด์” ชายาชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ที่เสียชีวิตขณะถูกตำรวจควบคุมตัวอย่างเหี้ยมโหด ในเมืองมินนีอาโพลิส รัฐมินนีโซตา ประเทศสหรัฐฯ เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค.ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ส่งผลให้เกิดการชุมนุมประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมทางสีผิว จากเมืองมินนีอาโพลิส นครต้นเรื่อง ก่อนลุกลามบานปลายกลายเป็นการชุมนุมประท้วงไปตามเมืองในรัฐต่างๆ ทั่วประเทศสหรัฐฯ ไม่เว้นแม้กระทั่งเมืองหลวงของประเทศอย่างกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ที่กลุ่มผู้ชุมนุมปักหลักประท้วงถึงบริเวณด้านหน้าทำเนียบขาวเลยทีเดียว จนทางการรวมแล้วถึง 40 เมืองในรัฐต่างๆ ต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน และบังคับใช้ “เคอร์ฟิว” คำสั่งห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด เพื่อควบคุมสถานการณ์ที่พลิกผัน จากชุมนุมประท้วง เดินขบวนธรรมดาๆ กลายเป็นการจลาจล ปล้นสะดม และทำลายทรัพย์สินต่างๆ กันอย่างน่าสุดสะพรึงม็อบหนึ่งของโลก โดยการชุมนุมประท้วง นอกจากมีขึ้นที่ประเทศสหรัฐฯ แล้ว ก็ยังได้ลุกลามไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่มีปัญหาข้อขัดแย้งทางสีผิวในประเทศนั้นๆ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แบบแทบจะทั่วทุกมุมโลกเลยทีเดียว จากทวีปอเมริกา สู่ยุโรป เข้าเอเชีย ลามถึงออสเตรเลีย อันเป็นทวีปอีกซีกฟากโลก เริ่มจากประเทศแคนาดา ชาติบ้านใกล้เรือนเคียง ใกล้ชิดติดกับสหรัฐฯ ปรากฏว่า นอกจากประชาชนออกมาชุมนุมแสดงพลังการประท้วงการเหยียดสีผิวแล้ว ถึงขนาดผู้นำอย่าง “นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด” ก็ยังมาร่วมขบวนต่อต้านการเหยียดสีผิว ด้วยการมานั่งคุกเข่าข้างเดียว กับบรรดาผู้ชุมนุม ที่มารวมตัวกันที่ด้านหน้าของอาคารรัฐสภา “พาร์เลียเมนต์ ฮิลล์ (Parliament Hill)” ในกรุงออตตาวา เมืองหลวงของประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีทรูโด คุกเข่าข้างเดียวกับเหล่าผู้ชุมนุมเป็นเวลานาน 8 นาที กับอีก 46 วินาที อันเป็นระยะเวลาเดียวกันกับที่นายฟลอยด์ ถูกตำรวจเมืองมินนีอาโพลิส ใช้เข่ากดทับคอจนหายใจไม่ออกและเสียชีวิตไปในที่สุด โดยที่ทวีปอเมริกานั้น ในย่านละตินอเมริกา หรืออเมริกาใต้ ที่บราซิล ประเทศฉายาแซมบา ก็เกิดเหตุชุมนุมประท้วงที่รุนแรง ซึ่งนอกจากกรณีของ “จอร์จ ฟลอยด์” แล้ว ก็ยังเกิดกรณีเหตุเสียชีวิตครั้งล่าสุดของเด็กชายชาวบราซิลเชื้อสายแอฟริกันอย่างน่าสุดสลด นามว่า “มิกูเอล ดา ซิลวา” วัย 5 ขวบ ตกตึกขนาด 9 ชั้น จนถึงแก่ความตาย เพราะไม่ได้รับการเอาใจใส่จากนายจ้างที่เป็นชาวบราซิลผิวขาว ทั้งๆที่มารดาของเด็กชายผู้โชคร้ายรายดังกล่าว ก็ทำงานอยู่กับนายจ้าง และในขณะที่เกิดเหตุผู้เป็นแม่ของเด็กชาย กำลังพาสุนัขของนายจ้างไปเดินเล่น ข้ามมายังทวีปยุโรป ที่ “อังกฤษ” อดีตประเทศแม่ของสหรัฐฯ ซึ่งมีปัญหาเรื่องการเหยียดสีผิวกันอยู่ดั้งเดิม โดยในอังกฤษ แดนผู้ดีนั้น หากกล่าวถึงปัญหาเรื่องการเหยียดสีผิวแล้ว ก็นับว่ารุนแรงไม่แพ้สหรัฐฯ เลยก็ว่าได้ ลุกลามไปแม้แต่แวดวงกีฬา อย่าง กีฬาฟุตบอล อันยอดฮิต ซึ่งแทนที่จะมีน้ำใจเป็นนักกีฬา แต่เกิดการเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติกันขึ้นมา จนนักฟุตบอลต่างสีผิว ต้องเดินออกจากสนามกันกลางครัน เพื่อประท้วงกันแบบกลายๆ ก็เคยมีมาแล้ว ถึงขนาดเหล่านักวิเคราะห์ แสดงทรรศนะว่า ปัญหาเหยียดสีผิวในอังกฤษนั้น แก้อย่างไรก็แก้ไม่ตก แต่จะคงอยู่คู่เมืองผู้ดี ไปตราบนานเท่านาน ส่วนสำหรับกระแสชุมนุมประท้วงเรื่องการเหยียดสีผิวในอังกฤษ จากชนวนกรณี “จอร์จ ฟลอยด์” ทางกลุ่มผู้ชุมนุมก็ปักหลักการประท้วงถึงบริเวณย่านจตุรัส ด้านหน้าอาคารรัฐสภา ในกรุงลอนดอน แบบแสดงพลังกันให้เห็นอย่างชัดเจน พร้อมส่งเสียงให้เหล่านักการเมืองได้ยินอย่างชัดๆ กันไปเลย เช่นเดียวกับที่ “ฝรั่งเศส” ปรากฏว่า ชาวเมืองน้ำหอม ซึ่งประกอบด้วยพลเมืองหลากเชื้อชาติเช่นกัน ออกมารวมตัวชุมนุมประท้วงกันในกรุงปารีส เมืองหลวงของประเทศ แบบไม่สนใจต่อคำสั่งห้ามของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ออกมาตรการเข้ม เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเหล่าผู้ชุมนุมประท้วง มารวมตัวกันอย่างแออัด ไม่หวั่นทั้งคำสั่งห้ามของตำรวจ และไวรัสร้ายโควิดฯ ที่ระบาดอย่างหนักในฝรั่งเศสเลยทีเดียว ส่วนที่เยอรมนี ประเทศเจ้าของอินทรีเหล็ก ปรากฏว่า นอกจากประชาชนมาชุมนุมประท้วง หรือแม้กระทั่งนักกีฬาฟุตบอล ติดปลอกแขนประท้วงการเหยียดสีผิวลงไปฟาดแข้งในสนามแล้ว ผู้นำหญิงแห่งแดนอินทรีเหล็ก อย่าง “นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล” ก็ยังขอมีส่วนร่วมด้วย ด้วยการส่งเสียงประณามในเหตุการณ์ของ “จอร์จ ฟลอยด์” ที่อิตาลี แดนมักกะโรนี ปรากฏว่า ชาวอัซซูรี พากันเดินขบวนประท้วงไปตามท้องถนนในเมืองเจนัว โดยมีรายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงในอิตาลี ดูจะเอาใจใส่ต่อมาตรการควบคุมไวรัสโควิดฯ ระบาด ด้วยการสวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย พร้อมกันเว้นระยะห่างทางสังคมกันอีกด้วย ข้ามมายังทวีปเอเชีย ปรากฏว่า มีการชุมนุมประท้วงเรื่องการเหยียดสีผิวที่ประเทศเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น โดยผู้คนมารวมตัวที่เมืองหลวงของพวกเขา คือ กรุงโซล ในเกาหลีใต้ และกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ก่อนตำหนิประณามต่อกรณี “จอร์จ ฟลอยด์” ซึ่งการชุมนุมประท้วงเป็นไปอย่างสงบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในญี่ปุ่น การชุมนุมประท้วงยังได้ลุกลามข้ามเข้าไปถึงประเทศออสเตรเลีย โดยปรากฏการณ์แห่งม็อบได้ไปปรากฏโฉมตามเมืองใหญ่ในแดนจิงโจ้แห่งนี้ เช่น ซิดนีย์ เมลเบิร์น บริสเบน และแอดิเลด เป็นต้น ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า ปรากฏการณ์แห่งม็อบในออสเตรเลีย นอกจากถูกจุดพลุ จากกรณีของนายจอร์จ ฟลอยด์แล้ว ก็ยังมีประเด็นเรื่องการเหยียดเชื้อชาติในออสเตรเลีย ระหว่างชาวผิวขาวผู้รุกราน ที่กระทำอย่างไร้ความเป็นธรรมกับชนเผ่าอะบอริจิน ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองแห่งแดนจิงโจ้ เป็นตัวปลุกกระแสให้แรงร้อนขึ้นมาด้วย