หมายเหตุ : นารีตา สุประดิษฐ ณ อยุธยา ข้าราชการ กรมสารนิเทศกระทรวงการต่างประเทศ ได้ถ่ายทอดถึงเหตุการณ์การให้ความช่วยเหลือคนไทย ในพุทธคยา ประเทศอินเดีย ภายหลังจากที่ประกาศล็อคดาวน์ โดยกระทรวงการต่างประเทศ เนื่องจากตกค้าง ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ สืบเนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทั่วโลกเผชิญ ซึ่งในที่สุดสามารถส่งคนไทย ที่ตกค้างทยอยเดินทางกลับประเทศไทยได้แล้ว 500 คน ทั้งนี้ ผู้เขียนใช้ชื่อเรื่องว่า "ฟังเพื่อนเล่าเรื่องจากเมืองคยา" มีเนื้อหาดังนี้ "ประวัติศาสตร์โลกจะจารึกไว้อีกครั้ง ถึงโรคระบาด “โควิด 19” ที่พลิกโฉมโลกทั้งใบ พลิกวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ไม่มีใครรู้ว่าไวรัสโคโรน่าปรากฏตัวขึ้นมาได้อย่างไร แต่ที่รู้ได้แน่ คือมันกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลอันดับหนึ่ง ของโลกประจำปี 2563 ที่สร้างผลกระทบต่อเราอย่างใหญ่หลวง สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนก็เกิดขึ้น คำศัพท์ใหม่ ใช้ชีวิตแบบ “new normal” เรามีแอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัยที่กลายเป็นสิ่งจำเป็นเพิ่มจากปัจจัย 4 ยิ่งไปกว่านั้น คือ เราคงยังต้องเดินตามเกมส์ของไวรัสโคโรน่า จนกว่าทุกประเทศจะมีผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ หรือจนกว่ามนุษย์จะคิดค้นวัคซีนมาปราบมันได้ การคมนาคมเชื่อมโลก globalization หยุดลงอย่างกะทันหัน ประเทศต่าง ๆ ประกาศมาตรการ lockdown เพื่อยับยั้งการเคลื่อนตัวของคนและการแพร่เชื้อ เกล้า พุทธศาสนิกชนไทยวัย 40 ต้น เป็นคนหนึ่งที่ชอบเดินทางไปบริเวณสังเวชนียสถานในประเทศอินเดีย ในฤดูแสวงบุญที่อากาศไม่ร้อนจัด แถมมีเที่ยวบินตรงจากไทยไปลงเมืองคยา ปีนี้ ก็เช่นเคย เธอเดินทางไปอินเดียโดยไม่รู้มาก่อนเลยว่า ครั้งนี้จะได้ปฏิบัติธรรมใกล้สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นเวลานาน กว่าที่คิดไว้มาก หลังอินเดียประกาศมาตรการ lockdown เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม ทำให้มีคนไทยกว่า 600 คนตกค้างตามวัดไทยและสถานที่ปฏิบัติธรรมในรัฐอุตตรประเทศและรัฐพิหาร เธอทราบข่าวเรื่องการลงทะเบียนขอกลับไทย โดยสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา จะช่วยหาเครื่องบินมารับเพื่อทยอยส่งคนไทยกลับบ้าน ขั้นตอนการส่งคนไทยกลับนั้น เต็มไปด้วยกระบวนการทางโลจิสติกส์ที่ซับซ้อน สถานกงสุลใหญ่ต้องขออนุมัติจากรัฐบาลอินเดียเป็นพิเศษ ทั้งเรื่องเที่ยวบินพิเศษเช่าเหมาลำที่จะนำคนไทยกลับบ้าน การนำยานพาหนะ ไปรับคนไทยตกค้างในรัฐอุตตรประเทศและรัฐพิหาร ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกล เพื่อมาขึ้นเครื่องบินที่คยา เนื่องจากอินเดียยังคงปิดน่านฟ้าและห้ามพาหนะขนส่งทั่วประเทศ นอกจากนั้น ยังมีงานเอกสารที่จะต้องจัดเตรียมข้อมูลอย่างละเอียดให้รัฐบาลอินเดีย ตลอดจนการจัดหาแพทย์ท้องถิ่นมาตรวจสุขภาพให้คนไทยเพื่อออกใบรับรอง fit to fly ก่อนเดินทางภายใน 72 ชั่วโมงให้ผู้โดยสารทุกคน การรวมพลคนไทยให้มาขึ้นเครื่องบินที่คยานั้น เป็นเครื่องทดสอบขันติบารมี การเดินทางจากพื้นที่ห่างไกล บางจุด ต้องนั่งรถบัสไม่มีแอร์ฝ่าถนนอันสมบุกสมบันในชนบทและการเรียกหยุดตรวจระหว่างทางจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กว่าจะถึงคยาใช้เวลาราว 15 ชั่วโมง ยังไม่นับรวมรถเสียกลางทาง การเดินทางไปสนามบินก็มีกติกา ที่รัฐบาลอินเดียกำหนดให้เข้าได้ทีละ 40 คน และเดินตามช่องที่ตีไว้บนพื้นเพื่อรักษาระยะห่าง และยังต้องผ่านด่านการตรวจสุขภาพก่อนขึ้นเครื่องบินอีกรอบ ขอบคุณสถานทูตไทย สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา วัดไทยในอินเดีย พระธรรมทูตไทย ตลอดจนผู้ใจบุญทั้งหลายที่ร่วมแรงร่วมใจกันเป็นอย่างดี รวมถึงรัฐบาลอินเดียที่เข้าใจความท้าทายของการปฏิบัติภารกิจ ครั้งนี้ จน ณ วันนี้สามารถทยอยส่งคนไทยที่ตกค้างกลับบ้านได้สำเร็จเกือบ 500 คนแล้ว เมื่อถามเกล้าว่า “แล้วเป็นไงบ้าง” เธอทำหน้าครุ่นคิด ก่อนตอบว่า “เพิ่งรู้ว่าคนที่สถานกงสุลทำงานกันหนักขนาดนี้ น้อยคนจะได้เห็นเบื้องหลังความยากลำบาก เจ้าหน้าที่ก็มีแค่ไม่กี่คน เมื่อเทียบกับจำนวนคนไทยที่ต้องดูแล ถ้าชีวิตปกติดี เราก็ไม่ได้นึกถึงเรื่องพวกนี้หรอก จะนึกถึงก็ตอนเดือดร้อนนี่แหละ นี่เพิ่งได้มาเห็นเองว่า จะมีคนคอยช่วยเหลือเราอยู่จริงๆ” เกล้ายิ้ม ก่อนจะพูดต่อว่า… “ทุกสิ่งในโลกนี้เกิดขึ้นตามเหตุ ปัจจัย ความไม่แน่นอนเป็นสิ่งที่แน่นอน ธรรมะเป็นของคู่ มีมืดก็มีสว่าง มี globalization ก็มี de-globalization”! “ไปอีกมั้ย” เธอหัวเราะร่วน ก่อนจะตอบว่า “ไปแน่ แต่ยังไม่รู้เมื่อไหร่นะ” สิ่งที่ประสบ ล้วนขึ้นกับมุมมอง และนำมาเป็นเป็นแง่คิดทางธรรมได้ทั้งสิ้น เธอว่า “โรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คน ช่วยลดอัตตาในตัวเรา ว่าแท้จริงแล้ว ตัวเราเล็กยิ่งกว่าผงธุลี ไม่มีอำนาจอะไรไปบังคับบัญชาธรรมชาติ มรณานุสติจึงเป็นสิ่งที่พึงเจริญ ทุกลมหายใจ”ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระอานนท์ หมายเหตุ: นามบุคคลที่อ้างถึงเป็นนามสมมุติอ้างอิงจากสถานการณ์จริง