แต่ก่อน แอสไพริน ถือเป็นยายอดนิยมในการแก้ปวดลดไข้ แต่ด้วยความที่มีผลข้างเคียงมาก ทำให้ ยาพาราเซตามอล เข้ามาแทนที่ แต่กระนั้น แอสไพริน ก็ยังมีการใช้ในการรักษาโรคหลายโรคในปัจจุบัน
เพจ Fda Thai ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โพสต์ระบุ “แอสไพริน (aspirin) เป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีและมีฤทธิ์ในการรักษาอาการอักเสบ เช่น อาการปวด บวม แดง ร้อนต่างๆ และมีฤทธิ์ลดไข้ รวมถึงมีฤทธิ์ในการต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ทำให้ยานี้ถูกใช้ในการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือด เช่น เส้นเลือดหัวใจอุดตัน เส้นเลือดสมองอุดตัน และเส้นเลือดที่ขาอุดตัน เป็นต้น ยาแอสไพรินมีข้อบ่งใช้ 2 แบบ คือ แบบใช้ตามอาการเพื่อบรรเทาอาการอักเสบและลดไข้ และแบบใช้เพื่อต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด
ฉะนั้น การใช้ยาแอสไพรินจึงมีข้อควรระวังในการใช้ยา เช่น ห้ามใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ ห้ามใช้ยากับเด็กทารก ห้ามใช้ยากับผู้ป่วยที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก และควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยโรคไตชนิดไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคตับ และยาในผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำจะสังเกตได้ว่า ยาแอสไพรินมีวิธีการใช้และขนาดการใช้ของแต่ละข้อบ่งใช้ที่แตกต่างกัน เนื่องจากยาดังกล่าวมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา ตั้งแต่ระคายเคืองทางเดินอาหาร ไปจนถึงผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น เลือดออกผิดปกติ โดยเฉพาะเลือดออกในทางเดินอาหาร
ดังนั้น ผู้ป่วยควรรับประทานยาหลังอาหารทันที เพื่อลดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร และเพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา รวมทั้งใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด