ยะลา - เกษตรกรในพื้นที่ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพาะพันธุ์ต้นกล้าทุเรียนโอวฉี สายพันธุ์แชมป์จากประเทศมาเลเซีย 5 สมัยติดต่อกันใช้ระยะเวลา 4 ปีออกผลผลิตสู่ตลาดจำหน่ายผลผลิตปีนี้ 2 รอบ ผ่านระบบออนไลน์ ยุค 4.0 ส่งพัสดุทั่วประเทศ สวนกระแสสถานการณ์โควิด-19 ยอดสั่งพุ่งผลผลิตออกไม่ทัน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ที่สวนของ นางกฤษณา เดชมณีนิล อยู่บ้านเลขที่ 72 หมู่ที่ 2 ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคายางพาราที่ลดลงไม่คุ้มต้นทุนกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ทำให้เกษตรกรในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลาบาวส่วน ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกไม้ผลหลากหลายชนิดมากขึ้น เพื่อเป็นการทดแทนรายได้จากยางพารา โดยเฉพาะทุเรียนสายพันธุ์โอวฉี แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า ทุเรียนหนามดำ และ มูซังคิงส์ หรือ เหมาซานหว่อง แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "ราชาแมวป่า" ซึ่งเป็นทุเรียนสายพันธุ์จากประเทศมาเลเซีย และมีการปลูกอย่างแพร่หลายมากในพื้นที่ จนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และมีราคาจำหน่ายต้นกล้าพันธุ์และผลทุเรียน ที่ค่อนข้างสูงในขณะนี้ นางกฤษณา เดชมณีนิล เกษตรกรในพื้นที่ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา กล่าวอีกว่า ตนเองมีสวนยางพารารวมแล้ว80 ไร่ ต่อมาราคายางพาราตกต่ำทำไปมีแต่ขาดทุนจึงได้คิดทำเป็นสวนผสมผสานโดยปลูกทุเรียน 50 ไร่ และยางพารา 30 ไร่ โดยในสวนทุเรียนจะมีพันธุ์ต่างๆเช่นทุเรียนพันธุ์ โอวฉี แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า ทุเรียนหนามดำ ทุเรียนพันธุ์ มูซังคิงส์ ทุเรียนพันธุ์ พวงมณี ทุเรียนพันธุ์ ก้านยาว และทุเรียนพันธุ์ หลินลับแล และมังคุด นอกจากนี้ทางสวนได้นำกิ่งพันธ์ทุเรียนพันธุ์โอวฉี สายพันธุ์แชมป์ 5 สมัย มาจากต้นแม่พันธุ์ ของนายเหลียว เชือก เกี๋ยง หรือมิสเตอร์เกี๋ยง เกษตรกรชาวสวนทุเรียนในรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย มาขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง ทาบกิ่ง โดยเริ่มจากการเพาะเมล็ดพันธุ์ทุเรียน ซึ่งใช้เมล็ดทุเรียนป่า หรือทุเรียนพื้นบ้านหรือพื้นถิ่นพื้นเมือง ที่เหมาะกับการทำต้นต่อทุเรียน ซึ่งรากของทุเรียนป่าจะหากินเก่งมีความแข็งแรง ทำให้ต้นที่เสียบยอดแล้ว โตเร็ว ทนต่อโรค โดยได้คัดเมล็ดพันธุ์ที่ดีที่สุดและมี โอกาสงอกสูง และเพาะเมล็ดใส่กระถางไว้ เมื่อต้นโตได้ขนาดที่เหมาะสม ก็จะคัดเลือกต้นตอที่แข็งแรง ลำต้นตรง ไม่คด ไม่เป็นโรค จากนั้นจึงนำยอดทุเรียนพันธุ์โอวฉี มาเสียบยอด กับต้นตอที่เตรียมไว้ ซึ่งวิธีดังกล่าวไม่ได้ทำให้ข้อมูลทางพันธุกรรม หรือลำดับเบสในดีเอ็นเอเปลี่ยนไป ทุกอย่างเหมือนเดิมทั้งหมด เอาไปขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนลูกก็จะเหมือนต้นแม่ทุกประการ ปลูกเพียงแค่ 4-5 ปี สามารถมีดอกและติดผลได้แล้ว เร็วกว่าทุเรียนทั่วไปจะมีดอกและติดผลหลังปลูกอย่างต่ำ 9-10 ปี ส่วนลูกทุเรียนจะมีทรงผลสวย เปลือกบาง เมล็ดเล็กและลีบ เนื้อสุกเป็นสีเหลืองอมส้ม เนื้อละเอียดเนียน รสชาติหวานมันและหวานแหลมมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื้อเยอะมาก รับประทานอร่อยมาก ผลสุก จำหน่ายราคาหน้าสวนกิโลกรัมละ 650 - 700 บาท และราคาขายในตลาดมาเลเซียกิโลกรัมละ 800 - 900 บาท ซึ่ง 1 ลูก มีราคากว่า 2,000 – 3,000 บาท ซึ่งได้รับความนิยมในการบริโภคของชาวจีนในมาเลเซียและคนไทย เป็นอย่างมากแต่จะจำหน่ายดีที่มาเลเซียมากกว่าไทย เพราะในเรื่องราคา และคนไทยก็มีตัวเลือกหลากหลายในพันธุ์ทุเรียนของไทยเรา นอกจากนี้ผู้ซื้อยังซื้อกล้าพันธุ์ไปปลูกกันอย่างกว้างขวางอยู่ในเวลานี้โดยเฉพาะจากพื้นที่จันทบุรี และ ภูเก็ต ด้านนายอาคม ศรีสง่าพงษ์ กล่าวว่า ใครที่สนใจเกี่ยวกับกล้าพันธุ์โอวฉี่ ซึ่งในขณะนี้ทางสวนศักดิ์ศรี ได้เตรียมต้นกล้าแชมป์ทุเรียนโอวฉี ทีมีอายุประมาณ 4 – 5 เดือน และมีความสูง 50-70 เซนติเมตร จำนวน 20,000 - ต้น จำหน่ายในราคาต้นละ 500 บาท ส่วนต้นกล้าทุเรียนมูซังคิงส์ ที่มีขนาดเท่าทุเรียนโอวฉี จำหน่าย ต้นละ 150 บาท โดยจะทำการตลาด ในยุค 4.0 ขายผ่านระบบออนไลน์ เพิ่มเติมจากบริการขาย ที่สวน ผ่านเพจจำหน่ายพันธุ์ทุเรียน มูซานคิงส์ โอฉี่ หนามดำ สวนศักดิ์ศรีเหมาซานหว่องเบตง พร้อมส่งผ่านบริษัทขนส่งพัสดุที่ให้บริการครอบคลุมทั่วทุกจังหวัด ผู้สนใจที่จะปลูกทุเรียสายพันธุ์โอวฉี หรือมูซังคิงส์ สายพันธุ์แท้จากประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าสนใจ และเป็นอีกทางเลือกของเกษตรกรได้ในอนาคต ติดต่อได้ที่สวนศักดิ์ศรี เลขที่ 113/2 หมู่ที่ 2 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา นายศักดิ์ศรี สง่าราศรี เฟซบุ๊ก "Saksri Sangarasri" โทร.09-8016-2806 นายอาคม ศรีสง่าพงษ์ โทร.098-871-4881และนายไกรวุฒิ เจ้าวิลาส เฟซบุ๊ก "ไกรวุฒิ เจ้าวิลาส" โทร.08-6347-5765