คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น
วันหนึ่ง เข้าไปดูรายการของพี่ดู๋ “สัญญา คุณากร” ทางยูทูบชื่อรายการ “ที่นี่หมอชิต” เพราะเอะใจชีวิตของ “หนูแหม่ม” สุริวิภา (ขอโทษจำนามสกุลเธอไม่ได้) ที่พี่ดู๋จะพาไปรู้จัก ด้วยว่าชอบการทำหน้าที่พิธีกรของหนูแหม่มมานานแล้ว
เพิ่งรู้ว่า หนูแหม่ม เป็นคนอีสาน (จ.สกลนคร) เธอเกิดที่บ้านท่าแร่ (ขึ้นกับอำเภอเมือง) และเป็นชาวคริสต์คาทอลิก เธอชอบไปปฏิบัติธรรมกับชาวพุทธ แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนศาสนา (ดูเหมือน “บ๊อบบี้” สามีของเธอเป็นชาวพุทธ
ฟังพิธีกรคุยกันเรื่อง “แร่” (ภาษาลาว ส่วนมากออกเสียงเป็น ฮ หรือ ห) ที่เป็นชื่อของบ้านท่าแร่ ผู้ร่วมเป็นพิธีกรกล่าวตอนหนึ่งว่า แร่ เป็นหินลูกรัง แต่ที่บ้านผม (ที่ศรีสะเกษ) คำว่าแร่ ถ้าหมายถึง “หินแฮ่” หมายถึงก้อนหินเล็กๆ เกลี้ยงเกลาที่อยู่ตามแม่น้ำตื่นๆ หรืออยู่ตามร่องน้ำใกล้แม่น้ำ (ที่บ้านผมคือ “ห้วย” ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำมูล) หินก้อนเล็กๆนี้เข้าใจว่า ถูกขัดเกลาโดยทรายและน้ำเป็นเวลานาน จนกลายเป็นก้อนหินเล็กๆ (ส่วนใหญ่เป็นหินกลมๆเกลี้ยงๆ)
หินแร่ หรือ “หินแฮ่” ที่ว่านี้ ต่างจากหินลูกรัง ซึ่งมีสีแดงและมีดินผสม ซึ่งนิยมเอาไปทำถนน (โดย รพช.สมัยหนึ่ง)
สมัยผมเป็นเด็ก ชอบเอาหินแฮ่มาเล่นกัน เข้าใจว่าที่หนองหาร จ.สกลนคร มีท่าน้ำขึ้นลงเหมือนที่บ้านผม จึงมีชื่อว่า “ท่า” (ห้วยที่บ้านผมมีหลายท่า แต่ละท่า เกิดจากมีทางน้ำ ซึ่งต่อมา กลายเป็นทางเดินของคน และเป็นท่าขึ้นลงของวัวควายที่นำไปเลี้ยงอีกฟากหนึ่ง ฝั่งตรงข้ามที่บ้านผมคือทุ่งกุลาฯ (ขึ้นกับจ.สุรินทร์ ว่ากันว่า จ.ศรีสะเกษ ไม่มีทุ่งกุลาฯ)
หนูแหม่ม เล่าตอนหนึ่งว่า ชุมชนบ้านท่าแร่ (ปัจจุบันมีสถานะเป็นตำบล) เป็นชาวเวียดนาม อพยพหนีสงครามมา ตอนแรกก็ตั้งถิ่นฐานอยู่อีกฟากหนึ่งของหนองหาร แต่เมื่อถูกต่อต้าน บาทหลวง(ผู้นำทาง) ก็พากันขึ้นแพข้ามหนองหารมาอยู่บ้านท่าแร่ปัจจุบัน
หนองหารเป็นทะเลสาบ กว้างใหญ่รองจากบึงบอระเพ็ด (ที่นครสวรรค์) เนื้อที่ประมาณเจ็ดหมื่นไร่เศษ ชื่อพ้องกับหนองหาร จ.อุดรธานี
บ้านเรือนของชาวท่าแร่ เข้าใจว่า ส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ยกขึ้น(หนีน้ำ) ต่อมา จึงมีบ้านเรือนก่ออิฐและคอนกรีตบ้าน(เรือน) ของหนูแหม่มก็เช่นกัน เป็นบ้านมีฐานะ หนูแหม่มออกแบบสร้างเอง มีหลายหลังอยู่ในบริเวณเดียวกัน แต่ละหลังเป็นบ้านชั้นเดียว น่าอยู่ เพราะเจ้าของบ้านเป็นคนรักต้นไม้ โดยภาพรวม หมู่บ้านท่าแร่สะอาดสะอ้านเป็น “บ้านพัฒนา” หมู่บ้านหนึ่ง
คุณแม่ของหนูแหม่ม อายุสัก 80 เศษ แต่ยังแข็งแรงเป็นคนอารมณ์ดี ลักษณะเป็นคนจิตใจดี เคร่งศาสนา (คาทอลิก) หนูแหม่มบอกว่า กว่าจะเคลียร์กันได้ในเรื่องศาสนา ก็ใช้เวลาเหมือนกัน คุณแม่เกรงว่าหนูแหม่มจะเปลี่ยนศาสนา จึงกังวลอยู่
หนูแหม่มเล่าว่า เมื่อทำพิธีแต่งงานกับบ๊อบบี้ก็ทำพิธีแบบชาวพุทธ คุณแม่จึงเกรงว่าหนูแหม่มจะเปลี่ยนศาสนา (โดยเฉพาะเห็นหนูแหม่มชอบไปปฏิบัติธรรมกับชาวพุทธ)
เรื่องนี้ผมแทบจะพูดแทนหนูแหม่มได้ว่า เป็นไปไม่ได้ที่หนูแหม่มจะเปลี่ยนศาสนา (จากคริสต์มาเป็นพุทธ) เพราะเห็นชาวคริสต์(และชาวมุสลิม) ทุกคน (หรือเกือบทุกคน) แม้จะแต่งงานกับชาวพุทธ ก็ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนา แต่ก็อยู่กันได้เป็นปกติดี
เมื่อมีข่าว(ที่ส่งทางโซเชียล) ว่า เจ้าชายแฮร์รี่และพระชายา ณ พระราชวัง บักกิ้งแฮม ที่กรุงลอนดอน หันมานับถือพุทธ ผมจึงไม่เชื่อ แต่เชื่อ(ตามข่าว)ว่า ทั้งเจ้าชายและพระชายา ทั้งพระราชินีนาถ(อลิซาเบธ) และเจ้าฟ้าชายชาร์ล (พระสวามี) ต่างสนใจฝึกสมาธิกับท่าน “อมโรภิกขุ” (สายหลวงปู่ชา)
เชื่อว่าเป็นไปได้
เพราะชาวตะวันตกสมัยใหม่ หันมาสนใจฝึกสมาธิกับชาวพุทธมากขึ้น และมีแนวโน้มว่า จะเป็นคนที่ “ไม่ถือศาสนา” กันมากขึ้น
ในสมัยพุทธกาลก็ไม่มีการบังคับการถือศาสนา คนที่มานับถือพุทธศาสนา คือ คนที่เปล่งวาจานับถือด้วยตัวเอง ว่าไปแล้วชาวพุทธสมัยพุทธกาลที่เรียกว่า “พุทธบริษัท” ก็เป็นเพียงชุมชนหนึ่ง ผู้ปกครองแคว้น(หรือรัฐ) แม้จะอยู่ในระบอบราชาธิปไตย (เป็นเผด็จการ มีอำนาจเบ็ดเสร็จแบบสมัยโบราณ) ก็ไม่ปรากฏว่ามีการบังคับให้ประชาชนนับถือลัทธิใดลัทธิหนึ่ง ในพระไตรปิฎก(บาลี) กล่าวว่า พระเจ้าพิมพิสาร (พระราชาแคว้นมคธ) และพระเจ้าปเสนทิโกศล (พระราชาแคว้นโกศล) เป็นชาวพุทธและเป็นโสดาบันแต่ก็ไม่บังคับชาวเมืองให้มานับถือพระพุทธเจ้าแต่อย่างใด แม้แต่โยมบิดามารดาของพระสารีบุตร ก็นับถือลัทธิพราหมณ์อยู่จนวาระสุดท้าย
จึงคิดว่า หนูแหม่มคงไม่เปลี่ยนศาสนาตามที่คุณแม่ของเธอวิตกกังวลอยู่ ส่วนการไปปฏิบัติธรรม(โดยมากคือนั่งสมาธิ)เป็นความชอบส่วนตัวมากกว่า
การที่ชุมชนคาทอลิกที่บ้านท่าแร่ อยู่ครองศาสนาของตนได้อย่างเหนียวแน่น แสดงว่ามีการพูดคุยหรือสื่อสัมพันธ์กันดี และยังมี “หลวงพ่อ” (ชาวคริสต์ถือว่าเป็นเทวดา) เป็นผู้นำทางศาสนาอยู่
แต่ดูเหมือนชาวท่าแร่กับชาวพุทธ อยู่กันอย่างผสมกลมกลืนกันอย่างดี ไม่มีข่าวความขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้นเลย ชาวคริสต์(ที่บ้านท่าแร่) เสียอีก มักจะชวนกันไปนั่งสมาธิและฟังเทศน์ที่วัดของชาวพุทธในบางโอกาส
เช่นเดียวกับที่ประเทศเวียดนาม แม้จะมีทั้งพุทธศาสนาและคริสต์ศาสนาอยู่ด้วยกัน แต่ก็ไม่มีความแตกแยกใดๆเกิดขึ้นในหมู่ชาวเวียดนาม
พระสงฆ์ไทยมีวัดอยู่ในประเทศเวียดนามและมีชาวเวียดนามเข้าวัดทำบุญในวัดพุทธศาสนาอยู่มากมาย
พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ บ้านแพด จ.สกลนคร ก็มีเชื้อสายเวียดนาม แต่เชื้อสายของท่านเป็นชาวพุทธมีอุปนิสัยในทางสมาธิ
มานึกดูก็เป็นเรื่องแปลก กรรมได้จำแนกคนให้ไปเกิดในครอบครัวของศาสนาเดิมของตนอย่างลงตัว ทำให้เชื่อยิ่งขึ้นว่า กรรมมีความเนื่องอยู่กับขันธ์ 5 ของคนอย่างแนบแน่น จิตหรือวิญญาณจึงไม่ใช่ “ดวง” แสง ลอยอยู่ต่างหากจากขันธ์ 5 เมื่อคนเราตายไปมีสภาพเป็น “สัมภเวสี” แสวงหาภพที่เกิดใหม่ ตามความเชื่อของบางศาสนา
ได้สังเกตจากภาพถ่ายบริเวณบ้าน(เรือน) ของหนูแหม่มและชาวคริสต์ที่บ้านท่าแร่ ไม่พบว่ามี “ศาลพระภูมิ” ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านที่อยู่อาศัยเลย แสดงว่าศาลพระภูมิ ที่มีลักษณะเป็นเรือนน้อยให้วิญญาณอยู่อาศัย เป็นเครื่องหมายอย่างหนึ่งของชาวพุทธ?
แต่ดูในหลายประเทศแล้ว ก็เห็นมีแต่คนไทยที่มีการตั้งศาลพระภูมิให้ผีอยู่อาศัย และนิยมสร้างศาลพระภูมิ(เสาเดียว) ไว้ที่มุมใดมุมหนึ่งใกล้ประตูเข้าบริเวณบ้าน ที่ตั้งศาลพระภูมิเนื่องจากมีเสาเดียว จึงไม่กินเนื้อที่นัก
อันที่จริง วิญญาณหรือผี(ตามความเชื่อของคนทั่วไป) ไม่จำเป็นต้องมีบ้านเรือนอยู่อาศัย(อย่างศาลพระภูมิ) แม้แต่ในสมัยพุทธกาล เทวดาบางประเภทก็อยู่ตามซุ้มประตู หรืออยู่ตามต้นไม้ ตามภูเขา มีจำเพาะคนไทยนี่แหละที่นิยมสร้างศาลพระภูมิให้ผีอยู่
เพราะคนไทยเชื่อว่า ผีหรือวิญญาณของคนตายต้องการที่อยู่และเชื่อว่า ผีหรือวิญญาณนั้นเป็นเจ้าของที่ในบริเวณบ้านนั้น โดยเฉพาะเชื่อว่า พระภูมิคือวิญญาณของพ่อแม่ปู่ย่าตายายของตน จึงมีการตั้งศาลพระภูมิให้วิญญาณอยู่อาศัย
ผมเคยอยู่อินเดียหลายปี และเคยเช่าบ้านของชาวอินเดียอยู่ ก็ไม่เคยเห็น “ศาลพระภูมิ” ที่มุมบ้านของแขกแต่อย่างใด เข้าใจว่า ศาลพระภูมิหรือเรือนน้อย(เสาเดียว) มีแต่ในหมู่ชาวพุทธที่เป็นคนไทย?
ว่าไปแล้ว ศาลพระภูมิเป็นเครื่องหมายของ “เมตตา” ของคนไทย แต่ก็แฝงไว้ด้วยความเชื่อในเรื่องวิญญาณแบบศาสนาพราหมณ์ และการตั้งศาลพระภูมิก็มักจะมีพิธีแบบพราหมณ์ มีคนทำพิธีตั้งศาลพระภูมิแต่งกายเป็นพราหมณ์ (ของศาสนาพราหมณ์) แต่คำสวดของ “พราหมณ์” กลับเป็นคำสวดภาษาบาลีของพุทธ?
ได้สังเกตอย่างหนึ่ง คนที่ถูกผีเข้า รวมถึงพวกร่างทรงต่างๆ มักจะมีสิ่งเคารพบูชามากมายบนหิ้งหรือที่โต๊ะหมู่ และมักจะมี “ศาลพระภูมิให้วิญญาณอยู่อาศัย แสดงว่ามีความเชื่อในเรื่องวิญญาณ หรือเชื่อว่ามีผีเป็นดวง ลอยไปลอยมา
สลดใจกับบ้านหลังหนึ่ง ที่วิญญาณบอกว่า ขออยู่อาศัยในบริเวณบ้าน หรือแม้แต่ที่สุสานเก็บศพ แต่เจ้าของบ้าน ซึ่งเป็นลูกหลานของวิญญาณนั้น พูดกับวิญญาณว่า ตายไปแล้วจะมาอยู่ได้อย่างไร เท่ากับปฏิเสธไม่ให้วิญญาณของบรรพบุรุษตนมาวนเวียนอยู่ในบ้านนั้น จึงคิดว่าถ้ามีวิญญาณอย่างนั้นจริง ก็ไม่น่าจะมีการขับไล่ไสส่งด้วยคำหยาบคายรุนแรงอย่างที่ “หมอปลา” ทำ
และถ้าเชื่อว่าศาลพระภูมิเป็นที่อยู่ของวิญญาณจริง ก็น่าจะเป็นการแสดงออกของ “เมตตา” อันเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งของมนุษย์ไม่น่าจะมีการทุบทำลายศาลพระภูมิทิ้ง ไม่ว่าจะโดย “หมอผี” หรือโดยคนที่เป็นเจ้าของบ้าน เพราะถ้ามีวิญญาณหรือผีจริง ถ้าเขามีครอบครัว (มีลูกมีหลาน) ก็จะต้องเดือดร้อน ไม่มีที่อยู่ ต้องระเหเร่ร่อนเป็นผีไม่มีศาล (ไม่มีที่อยู่อาศัย) นั่นเอง
เห็นบริเวณบ้านของหนูแหม่ม (สุริวิภา) ซึ่งเป็นบ้านชาวคริสต์แล้ว ก็เกิดความคิดในเรื่องวิญญาณอย่างหนึ่ง คือทั้งชาวคริสต์และชาวพุทธแต่ดั้งเดิม มีความเชื่อในเรื่องวิญญาณคล้ายกัน คือเชื่อว่ามี “สัมภเวสี” (หมู่บ้านชาวคริสต์มีสุสานให้คนตายอยู่รวมกัน)
แต่พุทธศาสนาสอนว่าไม่มีสัมภเวสี เพราะทุกวิญญาณของคนที่ตายแล้วไปเกิดแล้วทันทีในภพใหม่ของตน คือไปเกิดเป็นสัตว์โลกพวกใดพวกหนึ่ง อาจจะเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก เป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือเป็นเทวดานั่นเอง