ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “ภาวะการศึกษา โดยเฉพาะในประเทศชาติบ้านเมืองของเรา นับวันก็นับจะมีแต่ความโกลาหลด้วยมิติแห่งการประกอบสร้างที่ทั้งผิดปกติและไร้สติ..มันคือองศาอันบิดเบี้ยวของการออกแบบสู่เป้าหมายอันเป็นที่สุดของความตระหนักในคุณค่าแห่งการยอมรับนับถือ...ทุกองคาพยพดำเนินไปด้วยท่าทีอันกวัดแกว่ง ด้วยคำสั่งอันซ่อนเหลี่ยมซ่อนคมของการทำลายล้างความเชื่อมั่นของผู้เรียนรู้ลง มันไม่ต่างจากการใช้อำนาจเข้าหว่านคลุมความพิกลพิการแห่งเจตจำนงที่ไม่กล้าแข็งขืนต่อต้าน...อันเปรียบเสมือนการถูกกดทับด้วยการกดขี่ทางปัญญาญาณอย่างดิ้นไม่หลุดจนชวนเวทนา...สิ่งดั่งนี้คือรูปรอยแห่งการศึกษาที่แท้ ที่ควรจะเป็นหรือไม่? นั่นคือข้อคำถามอันเป็นปริศนาล้ำลึกของการรอคอยคำตอบที่ไม่เคยมาถึง และไม่มีใครคิดที่จะให้ โดยเฉพาะผู้เสวยสุขในอำนาจ ที่ถือเอาการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดทอนศักยภาพของมนุษย์ แทนที่จะเป็นการปลูกสร้างความแข็งแกร่งให้เกิดแก่จิตวิญญาณของผู้คน...โศกนาฏกรรมอันโสมมนี้คือความเป็นจริงที่เป็นเสียยิ่งกว่าความเป็นจริง...มันถูกปล่อยให้กลายเป็นความสิ้นสูญพลังแห่งศรัทธา จนที่สุดแล้วมันก็ถึงกลับง่อยเปลี้ยเสียขาที่จะก้าวย่าง จนกระทั่งถึงขนาดต้องพิกลพิการสู่ความว่างเปล่าไป...ในที่สุด” บริบททางความคิด อันถือเป็นบทเริ่มต้นนี้ คือนัยแห่งความเป็นสัจจะ ที่ได้รับจากผัสสะอันล้ำลึกผ่านหนังสือที่เจาะจงระบุถึง “การศึกษาของผู้ถูกกดขี่” (PEDAGOGY OF THE OPPRESSED)งานวิพากษ์การศึกษาอย่างชี้ชัดและถึงแก่นของ “เปาโล เฟรรี”(PAULO FREIRE)/นักปราชญ์ นักการศึกษาชาวบราซิล...ผู้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในฐานะนักการศึกษานอกระบบ...ผู้เน้นการสอนและการเรียนรู้ผ่าน การให้ความสำคัญต่อการโต้แย้งในการแสดงความคิดเห็น และเน้นการคำนึงถึง ผู้ที่ต้องถูกกดขี่บีบคั้น เพราะทั้งขาดโอกาส และถูกเอารัดเอาเปรียบ...เหตุนี้เขาจึงถูกยกย่องให้เป็นดั่ง นักคิดด้านบริหารการศึกษาที่ทรงพลังและทรงอิทธิพลมากที่สุดในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมา กระทั่งแม้แต่ในปัจจุบัน.. “ผมคิดว่า ผลกระทบใหญ่ที่สุดจากงานของเฟรรีคือ..มันแสดงให้เห็นว่า..ประสบการณ์การเรียน แบบที่เป็นประชาธิปไตยเพียงช่วงสั้นๆ ไม่ว่าจะในชั้นเรียน หรือนอกโรงเรียน จะเป็นของเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม..ทุกส่วนควรค่าแก่การไปให้ถึง../ประสบการณ์เหล่านี้สอนเราให้ไม่เพียงแต่คาดหวังจากตัวเองมากขึ้น ในฐานะนักการศึกษาและผู้เรียน แต่ยังเชื่อมโยงปฏิบัติการของทั้งปัจเจกและของสังคม เข้ากับเป้าหมายเรื่องความเท่าเทียมและสมานฉันท์อีกด้วย.”....นี่เป็นทรรศนะของ “กุสตาโว อี. ฟิชมัน”จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ แอริโซนา สหรัฐอเมริกา..ที่กล่าวถึงเฟรรีเอาไว้อย่างพินิจพิเคราะห์ถึงเนื้องานและท่าทีทางการศึกษาที่ส่งผลกระทบต่อการรับรู้และปฏิบัติอย่างชัดแจ้ง...เหมือนดั่งเช่นบทวิเคราะห์ต่อสภาวะแห่งการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยของผู้เรียนในยุคสมัยของโลกวันนี้ ที่เขาได้ระบุไว้อย่างตรงไปตรงมาว่า...มันจักต้องเป็นความเรียบง่าย แต่ไม่ฉาบฉวย..มหาวิทยาลัยในแบบของเขาจักต้องมีลักษณะสำคัญในสามประการนี้ คือหนึ่ง...ควรวางโครงสร้าง เพื่อดำเนินงานการศึกษาสู่การปลดปล่อย...โดยยึดถือหลักการของเสรีภาพ เสมอภาค ทั่วถึง และ สมานฉันท์ การศึกษาเพื่อการปลดปล่อย จะจัดการสอน บริการ และวาระวิจัย ด้วยความใคร่รู้ เคร่งครัด และสามารถนำไปใช้ได้ /ประการที่สอง นักศึกษา คณาจารย์ และ ฝ่ายบริหาร ควรหลากหลาย พอๆกับสังคมที่มหาวิทยาลัยนั้นตั้งอยู่ ความหลากหลายมีสองแง่มุม ที่ต่างกันแต่เชื่อมโยงกัน นั่นคือการให้บริการแก่ภาคส่วนที่หลากหลายและกลุ่มคนในสังคมทุกกลุ่ม พร้อมกับมีความหลากหลายทางความคิดและทิศทาง /ประการที่สาม มหาวิทยาลัยแบบเฟรรีจะมีการจัดองค์กรแบบเป็นห้องปฏิบัติการ สำหรับการบริหารระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม.... บทวิเคราะห์ต่อกระบวนการสื่อสารในวิถีปฏิบัติทางการศึกษาของเฟรรี..ถูกแจกแจงออกมาอย่างถ่องแท้ในเชิงประจักษ์...มันคือวิถีปฏิบัติที่นำไปสู่การปลอดพ้นจากการครอบงำ..แต่แท้จริงแล้วลักษณะใดคือภาพร่างของชนชั้นที่คอยครอบงำและมีผลอันเป็นลบ...เป็นด้านมืดต่อวงการศึกษากันแน่..??? “ชนชั้นที่นิยมชมชอบการครอบงำ..คงจักต้องเกิดความขัดแย้งในตัวเองทีเดียว หากต้องยอมให้ผู้นำแนวปฏิวัติจัดตั้งองค์กรขึ้นมา...เป็นภาพภายในกลุ่มของชนชั้นครอบงำ ที่เสริมกำลังและจัดระเบียบอำนาจของพวกเขา...โดย จำต้องอาศัยการแบ่งแยกในหมู่ประชาชน /ส่วนเอกภาพของผู้นำแนวปฏิวัติ ต้องอยู่ในเอกภาพในหมู่ประชาชนและประชาชนกับพวกเขาเท่านั้น เอกภาพของชนชั้นสูงมาจากความเป็นปฏิปักษ์กับประชาชน/เอกภาพของกลุ่มผู้นำแนวปฏิวัติงอกงามมาจากการล่มหัวจมท้าย กับแนวร่วมประชาชน สถานการณ์การกดขี่ ก่อทวิลักษณ์แห่งนัยของผู้ถูกกดขี่ ทำให้บุคคลผู้ถูกกดขี่มีสภาวะคุมเครือ อารมณ์ปรวนแปร และหวาดกลัวเสรีภาพ /เอื้ออำนวยต่อเจตนาของผู้ครอบงำ เพราะกีดขวางการรวมตัวเป็นเอกภาพที่การปลดปล่อยจะขาดเสียมิได้” คำอธิบายนี้ของเฟรรี..สื่อแสดงถึงเจตจำนงที่ว่า..อุดมการณ์กดขี่ที่ฝังลึกนั้น จะขาดเสียมิได้ในการแบ่งแยกผู้ถูกกดขี่ /ในทางตรงข้าม การสร้างเอกภาพของผู้ถูกกดขี่ จำต้องอาศัยปฏิบัติการทางวัฒนธรรมรูปแบบหนึ่งที่จะทำให้พวกเขารับรู้ว่าตนยึดโยงกับความเป็นจริงอย่างไรและทำไม คือต้องอาศัยการรื้อถอนอุดมการณ์/ด้วยเหตุนี้ ความพยายาม รวมผู้ถูกกดขี่เข้าด้วยกัน จึงไม่ใช่แค่การป่าวร้องด้วย... “คำขวัญ” ทางอุดมการณ์เพียงเท่านั้น/...ซึ่งฝ่ายหลังนี้ นอกจากจะบิดเบือนความสัมพันธ์ที่แท้ระหว่างผู้กระทำการกับความเป็นจริงในเชิงภววิสัย แต่ยังแยกส่วน การรู้ อารมณ์ความรู้สึกและการกระทำ ของตนออกจากกันอีกด้วย ซึ่งปกติเป็นบุคลิกภาพรวมอันแบ่งแยกมิได้.. “การที่ผู้ถูกกดขี่จะรวมตัวเป็นเอกภาพได้ แรกสุดพวกเขาต้องตัดท่อน้ำเลี้ยงชองการมอมเมาและมายาคติที่มัดโยงตนไว้กับโลกของการกดขี่ เอกภาพที่ร้อยเชื่อมพวกเขาเข้าหากันและกัน ต้องมีลักษณะที่ต่างไป และขบวนการแนวปฏิวัติ ต้องเป็นปฏิบัติการทางวัฒนธรรม นับจากจุดเริ่มต้น...เอกภาพนี้จึงจะเกิดขึ้นได้ วิธีการที่ใช้สร้างเอกภาพของผู้ถูกกดขี่จะขึ้นอยู่กับประสบการณ์ทางการดำรงอยู่ และทางประวัติศาสตร์ของพวกเขาภายในโครงสร้างทางสังคมนั้นๆ” โดยความเป็นส่วนตัว..เฟรรี ซื่อตรงเสมอต่อทรรศนะของเขา ที่ว่าประวัติศาสตร์คือ ความเป็นไปได้ และยืนหยัดในความหวังอันแน่วแน่ว่าโลกที่เลือกปฏิบัติน้อยลง เป็นธรรมมากขึ้น ทำลายความเป็นมนุษย์น้อยลง และเป็นมนุษย์มากขึ้นนั้นเป็นไปได้ เขาจะวิพากษ์ในเชิงกังขาอยู่เสมอต่อการโฆษณาชวนเชื่อของนักอิสรนิยม ที่เพียงแต่ฝังปลูก ความเชื่อในอิสรภาพแก่ผู้ถูกกดขี่ ด้วยคิดว่า จะได้รับความไว้วางใจจากพวกเขา..ด้วยเหตุนี้ เฟรรี จึงเชื่อว่า วิธีการที่ถูกต้อง ยืนพื้นอยู่บนการสานสนทนา อันหมายถึงกระบวนการที่จะเผยโฉม ความเชื่อมั่นของผู้ถูกกดขี่ ว่าพวกเขาจะต้องต่อสู้เพื่ออิสรภาพของตนเอง ซึ่งก็หาใช่ของกำนัลที่ผู้นำฝ่ายปฏิวัติจะมอบให้..หากแต่เป็นผลของจิตสำนึกวิพากษ์..ของพวกเขาเอง “ชนชั้นปกครอง ไม่มีทางส่งเราไปพักผ่อนที่หาดโคปา คาบานา หรอก ...ถ้าอยากไป เราต้องต่อสู้เอาเอง” ทรรศนะเชิงเสียดสีในประเด็นนี้ เป็นดั่งการพูดเล่นยั่วล้อของเฟรรี แต่มันก็เป็นความจริงที่อยู่เหนือความเป็นจริงอันน่าขมขื่นยิ่ง.. ทั้งนี้ก็เพราะว่า...จริงๆแล้ว...เอกภาพของผู้ถูกกดขี่จะเกี่ยวข้องกับความรู้สึกสมานฉันท์เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพใด ดังนั้นเอกภาพจึงต้องอาศัยจิตสำนึกทางชนชั้นอย่างไม่ต้องสงสัย..../การก้มหน้ารับสภาพความเป็นจริงซึ่งเป็นลักษณะของชาวไร่ชาวนาในละตินอเมริกา หมายความว่า จิตสำนึกของการเป็นชนชั้นผู้ถูกกดขี่ต้องเกิดขึ้นหลังจากนี้ หรืออย่างน้อย ก็พร้อมกันไปกับ การบรรลุจิตสำนึกของการเป็นผู้ถูกกดขี่...ดังนั้นการหยิบยกข้อเท็จจริงที่ว่าเขาหรือเธอเป็นบุคคลหนึ่ง ขึ้นมาเป็นปัญหา อาจเป็นเรื่องแปลก สำหรับชาวไร่ชาวนาในยุโรป แต่จะไม่แปลกเลยในกรณีของพวกเขาบางส่วน ที่เลียนแบบสัตว์หรือต้นไม้ และบ่อยครั้งที่พวกเขาก็มองตนเองไม่ต่างจากพวกมัน... “ปีเตอร์ เมโย” จากมหาวิทยาลัยแห่งมอลตา มอลตา ได้ให้ทรรศนะเชิงวิเคราะห์ที่น่ารับฟังว่า... “โอกาสที่เปิดให้ได้อ่านการศึกษาของผู้ถูกกดขี่...คือการเปิดโลกให้ผมจริงๆ มันเต็มไปด้วยญาณปัญญาและองค์ประกอบมากมายที่จำเป็นเพื่อช่วยให้ผมเข้าใจบริบทในมอลตาที่ผมสอนหนังสืออยู่ อันได้แก่ การอยู่นอกโครงสร้างอำนาจ /มรดกตกทอดจากการเป็นอาณานิคม ความยากจนสัมพัทธ์ ปัญหาชนชั้น รวมถึงเรื่องภาษา และปัญหาสืบเนื่องจากการเหยียดผิว ...มหาวิทยาลัยแบบเฟรรี เป็นมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญในศูนย์กลางแก่การทำงานร่วมกับชุมชน เป็นมหาวิทยาลัยที่จุดประกายถึงการเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการเรียนรู้ อันถือเป็นสภาพการณ์ที่นักศึกษามีชีวิตอยู่..ด้วยความรู้ที่ได้มาจากแก่นเรื่องเชิงซ้อนที่ได้วิจัยค้นคว้ามาภายในชุมชน และที่ปรากฏออกมาจากชุมชน เป็นมหาวิทยาลัยที่การถ่ายทอดแบบบรรยายแบบเดิมถูกแทนที่ด้วยการสืบค้นร่วมกันโดยนักศึกษา อาจารย์ และสมาชิกของชุมชน/ โดยจะมีการถกเถียงประเด็นที่หยิบยกขึ้นมา ในลักษณะที่กระตุ้น “ความสนใจใคร่รู้ทางญาณวิทยา” และกลายเป็นเป้าประสงค์ของการสืบค้นร่วมกัน” ดั่งนี้วิถีแห่งการศึกษาของผู้ถูกกดขี่จึงสามารถส่งผลต่อการรับรู้อย่างเปี่ยมเต็มถึงว่า...มันคือแรงบันดาลใจให้ผู้คนมากมายผละออกไปจากรูปแบบการเรียนการสอนที่แบ่งลำดับชั้น และใช้อำนาจเป็นใหญ่ ไปสู่แนววิธีที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น อันเป็นแนวที่ตั้งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของครูที่ได้รับมอบหมายแบบประชาธิปไตย ที่จะไม่ถดถอยจนกลายเป็นเผด็จการ นอกจากนี้เฟรรียังบันดาลใจให้นักการศึกษาได้เห็นถึงการเมืองของการศึกษาและความรู้ หลีกเลี่ยงการเสแสร้งว่าเป็นกลาง และที่สำคัญที่สุด เขาได้เน้นย้ำถึงมิติด้านการรวมหมู่ของการเรียนรู้ และความจำเป็นที่จะต้องเริ่มจากสภาพความเป็นอยู่จริงของผู้เรียน รวมทั้งความแตกต่างทั้งหมดที่มีอยู่ แล้วจึงเคลื่อนไปสู่การเรียนรู้และความรู้ลำดับสูงขึ้น... “โนม ชอมสกี” ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ ปรัชญา และปริชานศาสตร์ คนสำคัญ จาก สถาบันเทคโนโลยี แมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา...ได้ให้ข้อสรุปอย่างตรงไปตรงมาถึงอุดมการณ์ในการสอนสั่งของเฟรรีอย่างชัดเจนว่า...เขาคงจะรู้สึกขนลุกขนพองกับหลักการสอนเพื่อสอบที่ยึดถือกันอยู่ในปัจจุบัน.../แท้จริงการเรียนการสอนควรจะปฏิเสธความเชื่อที่ว่าการศึกษาคือการเทน้ำใส่ภาชนะ ซึ่งเฟรรีตีความว่า มันคือการศึกษาแบบ “ฝากธนาคาร” /และหันไปกระตุ้นนักศึกษาให้กระตือรือร้นต่อการแสวงหาความเข้าใจ ในสภาพแวดล้อมของความร่วมมือกันระหว่างอาจารย์และนักศึกษาจะดีกว่า “บรรยากาศการเรียนรู้เช่นนี้ ในระดับหนึ่งที่มีนัยสำคัญก็มีอยู่แล้วในการสอนวิทยาศาสตร์ที่ทำได้ดี และบางครั้งก็มีในศาสตร์อื่นด้วย...พวกเขาควรตระหนักว่า การศึกษาควรเป็นกระบวนการค้นหาตนเอง พัฒนาศักยภาพของตน และ สนองความสนใจใคร่รู้ของตน ด้วยจิตใจที่เปิดกว้างและเป็นอิสระ โดยทั้งหมดจะกระทำร่วมกับผู้อื่น” ภาพรวมจากการเรียนรู้ผ่าน “การศึกษาของผู้ถูกกดขี่” โดยแก่นแกนทางความคิดทั้งหมด ที่เฟรรีได้กลั่นออกมาจากธารสำนึก จนเข้าไปสู่การตีความด้วยมิตินานาจากบรรดานักการศึกษา ด้วยแนวคิดและการวิเคราะห์ที่ผิดแผกไปจากรหัสแห่งการเรียนรู้แบบตายตัวและจำเจ..เปรียบเสมือนการดิ้นรนทางจิตปัญญาที่ปรารถนาจะหลุดพ้นออกไปจากคอกขังอันตอกตรึงและมัดแน่นด้วยวิสัยแห่งการสื่อสารอันคับแคบ และเป็นตัวถ่วงภาวะแห่งการเรียนรู้ของมนุษยชาติทั้งมวลด้วยโครงสร้างแห่งมโนทัศน์อันเป็นอิสระ...ที่สุดแล้ว !...มันจึงกลายเป็นบ่วงที่ผูกรัดเสรีภาพทางการศึกษาให้ต้องยอมจำนนอยู่กับสภาพของการเป็นวัตถุที่ไร้คุณค่า..จนมิอาจบรรลุได้ถึง ภาวะแห่งความแม่นตรงของการรับรู้อันแท้จริง และขยายกว้างออกไปสู่การปลดปล่อยจากการจองจำที่มืดดำทางการศึกษา ที่ตายทั้งเป็นมาช้านาน ...นั่นคือ...สิ่งที่ยากต่อการปฏิเสธ...ในโลกแห่งการศึกษาส่วนใหญ่ ณ วันนี้... “สายพิณ กุลกนกวรรณ ฮัมดานี” ถอดความหนังสือเล่มนี้ออกมาได้อย่างถึงแก่นแท้ทางการรับรู้และรู้สึก...โดยเฉพาะความกระจ่างชัดในด้านความคิดของ “เปาโล เฟรรี” และการตอบโต้ของปัญญาที่สร้างสรรค์ ตลอดจนมโนธรรมที่ละเอียดอ่อน ต่อความเจ็บปวดและความทุกข์ยากของผู้ถูกกดขี่ที่อยู่รอบข้าง../มันจะนำพาไปสู่การหยั่งเห็นของผู้อ่านที่จะต้องเข้าใจอย่างกระจ่างแจ้งถึงเงื่อนไข ที่ว่า...การปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่คือการปลดปล่อยมนุษย์ชายและหญิง...หาใช่วัตถุสิ่งของแต่อย่างใดไม่...! “การทำให้ผู้ถูกกดขี่อ่อนแอลง โดดเดี่ยว เกิดความร้าวฉานรานลึกในหมู่พวกเดียวกัน ล้วนเป็นประโยชน์ต่อผู้กดขี่...วิธีการที่ใช้มีหลายรูปแบบ จากการกำราบปราบปรามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ไปจนถึงการปฏิบัติการทางวัฒนธรรมต่างๆ ที่ชักนำผู้คนไปในทางที่ต้องการโดยทำให้พวกเขา...รู้สึกว่ากำลังได้รับความช่วยเหลือ!!!”