รายงาน: อุตสาหกรรมหนังสือเป็นอีกหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ผู้ประกอบการเองรอดูว่ารัฐจะมีมาตรการใดออกมาสนับสนุนให้รอดจากภาวะวิกฤตินี้ได้อย่างไร เมื่อเร็วๆ นี้ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ประธานกรรมการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ OKMD หน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 มีนโยบายที่จะส่งเสริมการอ่านและสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมหนังสือ จึงมีมติให้สำนักงานฯ ประสานกับกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณานำเสนอมาตรการหักลดหย่อนภาษีรายจ่ายซื้อหนังสือเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยจะเป็นมาตรการระยะ 3 ปี (2563-2565) เพื่อให้ประชาชนสามารถนำรายจ่ายในการซื้อหนังสือมาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ต่อปี อุตสาหกรรมหนังสือ ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของประชาชน ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงองค์ความรู้ และส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หลายประเทศทั่วโลกล้วนให้ความสำคัญกับเรื่องการอ่านของประชาชน โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการอ่านของประชาชนอย่างต่อเนื่อง แม้การเกิดขึ้นของสื่อออนไลน์จะเป็นทางเลือกใหม่ในการเรียนรู้ของประชาชน แต่หนังสือก็ยังคงมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของคนไทย โดยเฉพาะในวัยเด็กที่การเรียนรู้จากหนังสือทำให้เด็กมีสมาธิจดจ่อกับการเรียน เกิดความซาบซึ้งเกิดจินตนาการและจดจำได้ดีกว่า รวมถึงมีผลกระทบต่อสายตาน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าความนิยมในการเรียนรู้ผ่านหนังสือในประเทศไทยกลับลดลงเรื่อยๆ และส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมหนังสือ ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้กิจกรรมส่งเสริมการอ่านทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อย่างเช่นงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ต้องมีการเลื่อนหรือไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ (หันไปจัดทางออนไลน์แทน ภายใต้แนวคิดหนังสือดิ้นได้ไปออนไลน์) จึงนำมาสู่การหารือร่วมกันระหว่างสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) กับสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมหนังสือ ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ อุตสาหกรรมหนังสือเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้กับเศรษฐกิจไทยกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท และมีการจ้างงานกว่า 200,000 อัตรา ในปี 2562 แต่ด้วยสถานการณ์การแข่งขันจากสื่อออนไลน์และสถานการณ์ COVID-19 ทำให้คาดว่าในปี 2563 ยอดขายของอุตสาหกรรมหนังสือจะลดลงเหลือเพียง 1.2 หมื่นล้านบาท หากไม่มีมาตรการในการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยจากผลการศึกษาดังกล่าวสำนักงานฯ คาดว่าการดำเนินมาตรการหักลดหย่อนภาษีรายจ่ายซื้อหนังสือจะช่วยผลักดันให้ยอดจำหน่ายหนังสือในปี 2563 เพิ่มขึ้นได้ประมาณร้อยละ10–20 และสนับสนุนให้อุตสาหกรรมดังกล่าวสามารถประคองตัวอยู่ได้ภายใต้สภาวการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างเช่นทุกวันนี้ “อย่างช้อปหนังสือช่วยชาติ กระทรวงวัฒนธรรมทำก่อนหน้านี้ประสบความสำเร็จ ซึ่งกลยุทธ์นี้เป็นอีกทางรอดหนึ่ง ช่วยต่อลมหายใจอุตสาหกรรมหนังสือในภาวะวิกฤติโควิด-19” นายวีระ ประธานกรรมการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กล่าวทิ้งท้าย