ครม.เห็นชอบลดภาษีที่ดินฯร้อยละ 90 ของภาระภาษี บ้านหลังที่ 2 ราคา 5 ล้านบาท เสียภาษีร้อยละ 0.02 จ่ายเพียง 100 บาท ส่วนบ้านหลังแรก ทำเกษตร 3 ปีแรกได้รับยกเว้นอยู่แล้ว ยอมรับภาครัฐสูญเสียรายได้ 36,000 ล้านบาท ระบุที่อยู่อาศัยทุกประเภทแม้ปล่อยเช่าเสียภาษีที่อยู่อาศัย นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท เป็นภาระลดภาษีร้อยละ 90 จากมูลค่าคำนวณแล้วต้องเสีย ไม่ใช่เป็นการลดอัตราภาษีตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หลังจากรัฐบาลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขยายเวลาจัดเก็บจากเดือนเมษายนเลื่อนไปเป็นเดือนสิงหาคม 2563 แต่ปัญหาโควิด-19 ส่งผลกระทบหลายส่วน จึงต้องลดภาระภาษีให้เพิ่มเติม ยอมรับภาครัฐสูญเสียภาษีรายได้ 36,000 ล้านบาท จากเดิมประเมินรายได้เข้ามาให้กับ อปท.วงเงิน 40,000 ล้านบาท สำหรับการลดจำนวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 90 ส่งผลให้ประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจได้รับลดค่าภาษีที่ต้องชำระตามตัวอย่างดังนี้ 1.กรณีที่ดินสำหรับทำการเกษตร ถ้าเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา ได้รับยกเว้นภาษีช่วง 3 ปีแรก (ปี 63-65) จากการจัดเก็บภาษีไปแล้ว ส่วนเจ้าของเป็นนิติบุคคล หากที่ดินมีมูลค่าราคาประเมิน 5 ล้านบาท เสียภาษีเกษตรกรรม ร้อยละ 0.01 มูลค่าเสียภาษี 500 บาท หักส่วนลดร้อยละ 90 เหลือเพียง 50 บาท 2.ที่อยู่อาศัย สำหรับบ้านหลังแรกของบุคคลธรรมดาเป็นเจ้าบ้าน มูลค่าภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาทได้รับการยกเว้น หากเป็นเจ้าของบ้าน แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน หรือคอนโดมิเนียม ได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 10 ล้านบาท สำหรับบ้านหลังที่ 2 หากมูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท ต้องเสียภาษีอัตราที่อยู่อาศัย ร้อยละ 0.02 คิดเป็นค่าภาษี 1,000 บาท ลดภาษีที่ดินฯ ชำระภาษีเพียง 100 บาท 3.กรณีที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม ราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรารกร้างว่างเปล่า/อัตราการใช้ประโยชน์อื่น ร้อยละ 0.3 คิดเป็นค่าภาษี 15,000 บาท ชำระภาษีเพียง 1,500 บาท เป็นต้น สำหรับกฎหมายลูก เรื่องหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม และที่อยู่อาศัย 2 ฉบับ มีผลบังคับใช้แล้ว ได้กำหนดชัดเจนว่า ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างลักษณะใดใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย และประกอบเกษตรกรรม เพื่อให้ อปท.จัดเก็บภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยได้แก่ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ทั้งการอยู่อาศัยเองเป็นหลัก หรือมีบ้านหลังที่ 2 มอบหมายให้ญาติพี่น้องอยู่อาศัย หรือปล่อยให้เช่าเพื่ออยู่อาศัยแบบรายเดือน (เช่น บ้านเช่า อพาร์ทเม้นท์ หอพัก คอนโด เป็นต้น) และโฮมสเตย์ ดังนั้นที่อยู่อาศัยทุกประเภทกำหนดให้เสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัยเช่น บ้านหลังที่ 2 ราคา 5 ล้านบาท เสียภาษีอัตราที่อยู่อาศัยร้อยละ 0.02 คิดเป็นค่าภาษี 1,000 บาท ส่วนรายได้จากค่าเช่าให้จัดเก็บภาษีบุคคลธรรมดาส่งให้กรมสรรพากร ทั้งนี้กำหนดให้ครอบคลุมถึงช่วงเวลาระหว่างการก่อสร้าง หรือปรับปรุงต่อเติมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัยด้วยเช่น บ้านที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรือคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการตกแต่ง เป็นต้น แต่ไม่รวมถึงโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่าง การพัฒนา หรือสร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้ขายตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน หรือกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด สำหรับการใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ให้หมายความรวมถึงการปลูกพืช การเลี้ยงปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำนาเกลือสมุทร การทำสวนป่า การเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริโภค หรือจำหน่าย หรือใช้งานในฟาร์ม และรวมถึงที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ต่อเนื่องที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมนั้นด้วย สำหรับระยะเวลาในการประกอบเกษตรกรรมให้รวมถึงช่วงเวลาพักการเกษตร เพื่อฟื้นฟูสภาพที่ดิน หรือการพักที่ดินระหว่างฤดูกาลผลิต หรือการตัดวงจรโรคด้วย