ศิลปินพื้นบ้านทุกสาขา หมอลำ โนรา ลิเก ลำตัด ขับซอ ฯ พร้อมปรับการแสดงวิถีใหม่ ตามมาตรการผ่อนคลายศบค.
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 63 น.ส.อัจราพร คงฉวี รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวว่า หลังจากที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โควิด-19 ได้มีมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 3 ให้เปิดโรงมหรสพทำการแสดงลิเก ลำตัด และการแสดงพื้นบ้านนั้น ในส่วนของสวธ.จึงเป็นสื่อกลางนำ 9 เครือข่ายสมาคมศิลปินพื้นบ้านจากภูมิภาคต่างๆ อาทิ สมาคมศิลปินขับซอล้านนา สหพันธ์สมาคมโนราแห่งประเทศไทย สมาคมหมอลำอีสาน สมาคมลิเกประเทศไทย ร่วมจัดประชุมทางไกลกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อหาแนวทางและข้อปฏิบัติป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยระหว่างนี้จะมีการพิจารณาร่างแนวทางการปฏิบัติสำหรับเปิดการแสดงพื้นบ้านตามมาตรการป้องกันโรคของสธ. เมื่อแล้วเสร็จ สวธ.จะจัดทำเป็นคู่มือส่งให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด (สวจ.) ทั่วประเทศ แจ้งให้สมาคมและคณะศิลปินพื้นบ้านถือปฏิบัติ ซึ่งรวมถึงเจ้าภาพที่จะจ้างงานให้ประสานงานหน่วยงานท้องถิ่นก่อนจ้างงานเพื่อปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด
ด้าน นายวันชัย เอกนกลาภ นายกสมาคมลิเกประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มศิลปินพื้นบ้านพร้อมปฏิบัติตามมาตรการทุกด้านเบื้องต้นได้แจ้งไปยังคณะลิเกก่อนที่มีรับงาน เป็นลิเกวิถีใหม่ ให้ความสำคัญเรื่องความสะอาดทั้งเสื้อผ้า หน้าผม จากนี้ไปต้องไม่ใช้เครื่องสำอางร่วมกันเหมือนที่เคย เบื้องต้นการซ้อมจะต้องใช้เฟซซิลด์ รวมถึงการแสดงบทเกี้ยวพาราสีด้วย ผู้เข้าชมจะต้องสวมหน้ากากอนามัย การแสดงจะไม่เกิน 21.00 น. เพื่อไม่ให้เกิดเวลาเคอร์ฟิวส์ จำกัดจำนวนคนไม่เกิน 200 คน จัดที่นั่งแบบมีระยะห่าง มีระบบการลงทะเบียน การเล่นอาจต้องหยุดพักครึ่งเพื่อทำความสะอาด แต่ในช่วงที่ผ่านมาทราบว่า ชาวคณะลิเกส่วนใหญ่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลแล้ว และการที่ให้เปิดการแสดงได้ก็ถือเป็นเรื่องน่ายินดี แม้ว่าการจ้างงานอาจจะน้อยเพราะถือเป็นช่วงแรกที่เปิดทำการแสดง และยังเป็นช่วงฤดูฝน แต่ทั้งนี้อยากได้คู่มือปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ชมและเจ้าภาพที่จะมาจ้างงาน
ด้าน นางฉวีวรรณ พันธุ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(หมอลำ) นายกสมาคมหมอลำอีสาน กล่าวว่า คณะศิลปินหมอลำเครือข่าย 20 จังหวัดได้เตรียมความพร้อมการแสดงเอาไว้ในช่วงหลังเทศกาลออกพรรษา แต่เมื่อทางการให้เปิดทำการแสดงได้ทุกคนก็ดีใจ แต่การแสดงหมดลำประเภทกลอนจะไม่มีปัญหา เพราะเราใช้คนน้อยไม่เกิน 20 คน หากเป็นหมอลำเรื่องที่ต้องใช้คนจำนวนมาก จะต้องพิจารณาดูความเหมาะสมว่าจะแสดงอย่างไร หากทำการแสดงจะต้องมีระยะห่าง สถานที่ต้องไม่แออัดนักแสดงจะไม่แตะต้องกัน ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์การแสดงและฆ่าเชื้อโรคทุกอย่าง
“สำหรับการเปิดให้แสดงครั้งนี้ จะเป็นมิติใหม่ของการจัดระบบระเบียบคณะหมอลำไทย เพราะหากจะทำการแสดงต้องแจ้งทางการให้ดูแลมาตรการป้องกันโรค ซึ่งในส่วนของคณะหมอลำเครือข่ายทั้ง 20 จังหวัดหากสามารถเปิดรับงานต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ก็จะมีการจัดกิจกรรมการแสดงหมอลำและนำเงินไปช่วยเหลือคณะหมอลำต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบในช่วงโควิด-19 อีกด้วย” นางฉวีวรรณ นายกสมาคมหมอลำอีสาน กล่าว
แฟ้มภาพ