สำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาลทั้งจากนักท่องเที่ยวในประเทศ และจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยมี มัคคุเทศก์ เป็น หัวใจสำคัญของการท่องเที่ยวเพราะอยู่ฝ่ายต้อนรับ ให้ข้อมูล คอยอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว สำหรับอาชีพดังกล่าวได้สงวนไว้สำหรับคนไทยเตามพระราชกำหนดบริหารจัดการคนต่างด้าว พ.ศ.2560 แต่จากวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้น่าจะสร้างความท้าทายให้กับอาชีพดังกล่าวเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ผศ.ดร.กัลยา สว่างคง คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม และ RDI มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่าจากข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2563 พบว่ามีผู้จดทะเบียนมัคคุเทศก์กับกรมการท่องเที่ยวแล้วทั้งสิ้น 82,600 คน แต่ด้วยสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 เวลานี้ได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง เพราะจากมาตรการรับมือในระดับสากลที่รัฐบาลทั่วโลกปิดเมือง ปิดประเทศ จำกัดการเดินทาง งดกิจกรรมที่มีการพบปะชุมนุม เพื่อกักบริเวณกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยง ป้องการการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส จนทำให้ภาคธุรกิจต่างๆ รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกหยุดชะงัก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยลดลงเป็นอย่างมาก จากเดิมคาดการณ์ไว้ว่าจะมีจำนวนสูงถึง 42 ล้านคน แต่เมื่อผ่านไตรมาสแรกของปีกลับพบว่าตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยสอดคล้องกับข้อมูลจาก สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 มากที่สุด เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศไทยคิดเป็น 22% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ส่งผลให้แรงงานในภาคการท่องเที่ยวถูกเลิกจ้างหรือขาดรายได้ไม่ต่ำกว่า 2.3 ล้านคน (กองเศรษฐกิจท่องเที่ยวและกีฬา, 2563) ด้วยวิกฤติโควิด-19 ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มอาชีพมัคคุเทศก์ที่ว่างงานตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ส่วนหนึ่งใช้เงินออม เพื่อดำเนินชีวิตตามปกติ ขณะที่บางคนหาอาชีพเสริมสร้างรายได้ รวมทั้งรวมกลุ่มมัคคุเทศก์ด้วยกัน เพื่อแบ่งปันความช่วยเหลือ พร้อมรับการช่วยเหลือจากภาครัฐตามนโยบายเยียวยาต่างๆ ซึ่งในอนาคตน่าจะมีลักษณะการช่วยจ้างงาน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ และนำไปสู่การต่อยอดอาชีพ อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.กัลยา กล่าวว่า มาตรการด้านสุขอนามัยเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวหลังจากโควิด-19 นี้ อาจจะส่งผลต่อรูปแบบการทำงานของมัคคุเทศก์ และการเดินทางของนักท่องเที่ยว เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีความเชื่อมโยงกับหลายภาคธุรกิจ อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว ยานพาหนะ ร้านขายของ เป็นต้นเพราะฉะนั้นความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของภาครัฐจากผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่างๆ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ขณะที่ มัคคุเทศก์ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยว เป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนให้เกิดการตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวอีกครั้ง แต่วิกฤตการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตและปัจจุบันอาจนำไปสู่การตั้งข้อสงสัยว่า มัคคุเทศก์ ยังเป็นอาชีพที่มั่นคงอีกหรือไม่ รวมทั้งรูปแบบการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปจะทำให้อาชีพนี้ยังคงได้รับความคุ้มครอง โดยถูกจัดเป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทยต่อไปตามเจตนารมย์ของพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 อีกหรือไม่ ซึ่งทาง รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงจะต้องร่วมกันทบทวนและหาแนวทางเพื่อนำพากลุ่มอาชีพดังกล่าว และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยสามารถเดินหน้าต่อไป