มาทั้งจันทรุปราคา และสุริยุปราคา ดาวเคียงเดือน ดาวพุธโดดเด่น กลางวันยาวสุดในรอบปี NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ “ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์น่าติดตามในเดือนมิ.ย.63 ดังนี้ 4 มิ.ย.63 ดาวพุธปรากฏบนฟ้านานที่สุด สังเกตได้ทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า โดยมีเวลาสังเกตการณ์ประมาณ 1 ชม. 6 มิ.ย.63 จันทรุปราคาเงามัว (สังเกตได้ยาก) ตั้งแต่ 00.46-04.04 น. โดยความสว่างของดวงจันทร์จะลดลงเล็กน้อย เกิดจากดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โคจรมาเรียงอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน ดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามัวของโลก โดยเวลา 02.24 น. เงามัวของโลกพาดผ่านดวงจันทร์มากที่สุด 9 มิ.ย.63 ดาวเคียงเดือน โดยดาวพฤหัส ดาวเสาร์ เคียงดวงจันทร์ ตั้งแต่ 03.30 น.ไปจนถึงรุ่งเช้า 13 มิ.ย.63 ดาวเคียงเดือน โดยดาวอังคาร เคียงดวงจันทร์ ตั้งแต่ 00.30 น. ไปจนถึงรุ่งเช้า 21 มิ.ย.63 วันครีษมายัน เวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี ดวงอาทิตย์ขึ้นและตกเฉียงไปทางทิศเหนือมากที่สุด รวมทั้ง ยังเกิดสุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย ในวันนี้ ตั้งแต่ 13.11-16.09 น. เกิดจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาเรียงอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน ทั้งนี้ จะเกิดสุริยุปราคาวงแหวน แนวคราสวงแหวนจะพาดผ่านทวีปแอฟริกา คาบสมุทรอาหรับ เอเชียใต้ เอเชียตะวันออก มหาสมุทรแปซิฟิก ในประเทศไทย จะสังเกตเห็น “สุริยุปราคาบางส่วน” ได้ โดยพื้นที่ภาคใต้มีโอกาสเห็น 20% ภาคกลาง 40% ภาคเหนือ 60% เวลา 13.11 น. เริ่มต้นคราสบางส่วน เวลา 14.49 น. เกิดคราสมากที่สุด เวลา 16.09 น. สิ้นสุดคราสบางส่วน (เวลา ณ กทม.) ภาพจากเพจ “NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ”