ฤดูฝนปีนี้ ค่อนข้างดีช่วยเติมน้ำในอ่างฯและเพิ่มน้ำท่าได้หลายแห่ง ซึ่งจะต้องดำเนินการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 63 ตามมาตรการที่วางไว้ เพื่อมีน้ำกินน้ำใช้ในช่วงฤดูฝนตลอดจนถึงฤดูแล้งหน้า เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสำนักงานชลประทานเครือข่าย SWOC ทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำจากพื้นที่ต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 3–6 มิถุนายน 2563 ว่า ประเทศไทยจะมีฝนตกเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(1 มิ.ย. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 33,076 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 9,417 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 42,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 7,967 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 32 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 1,271 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบัน (1 มิ.ย. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,712 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 23 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 925 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 28 ของแผนจัดสรรน้ำฯที่วางไว้ ส่วนผลการเพาะปลูกข้าวนาปี ล่าสุด (ข้อมูล ณ วันที่ 29 พ.ค.63) ทั้งประเทศมีการทำนาปีไปแล้ว ประมาณ 1.47 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 8 ของแผนฯ(แผนวางไว้ 16.79 ล้านไร่) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 0.85 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 10 ของแผนฯ (แผนวางไว้ 8.10 ล้านไร่) แม้ว่าขณะนี้จะเข้าสู่ฤดูฝนแล้วก็ตาม แต่เกษตรกรควรเพาะปลูกพืชเมื่อมีปริมาณน้ำในพื้นที่ของตนที่เพียงพอ หรือมีปริมาณฝนตกในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ และขอให้เก็บกักน้ำไว้ในพื้นที่ของตนด้วย เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 63 อาจมีฝนน้อยหรือเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงได้ กรมชลประทาน กำชับทุกโครงการชลประทาน ติดตามการคาดการณ์ฝนจากกรมอุตุนยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาปรับใช้ วางแผน และดำเนินการบริหารจัดการน้ำ ให้สอดคล้องกับมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 2563 โดยจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี ส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝนโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก บริหารจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด เก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำให้มากตามศักยภาพของอ่างฯ รวมทั้ง วางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัย เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน