ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง: ภาพสลักงาม ใบเสมาพันปีเขาอังคาร ศิลปกรรมพื้นถิ่นผสมศิลปะเขมรโบราณ มาตรการผ่อนคลายโควิด-19 ทยอยเปิดกิจกรรมกิจการ แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมตามสถานที่ต่างๆ กลับมาเปิดประตูตามปกติ ส่วนตรงนี้ยังไม่ได้ออกเดินทางถ่ายภาพสถานที่ทางวัฒนธรรม รอให้มาตรการผ่อนคลายโรคโควิด-19 ข้ามเมืองเข้าจังหวัดถิ่นนั้นสะดวกขึ้นจึงค่อยเดินทาง ช่วงนี้ขอเปิดแฟ้มภาพถ่ายเก่าอัพเดทข้อมูลที่ได้จากแหล่งองค์ความรู้ทางสื่อออนไลน์ อย่างภาพศาสนสถานที่นำเสนอนี้ วัดเขาพระอังคาร ถ่ายเมื่อปี พ.ศ.2559 วัดเขาพระอังคาร เป็นสำนักสงฆ์และแหล่งท่องเที่ยวทางพุทธสถาน ตั้งอยู่ในเขตหมู่ 1 บ้านเจริญสุข ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยตัววัดนั้นตั้งอยู่บนภูเขาเตี้ยๆ เป็นภูเขาไฟที่มอดดับสนิทแล้ว (นั่นทำให้รู้ว่าไม่ได้มีแค่ภูเขาไฟมอดดับสนิทอันเป็นที่ตั้งปราสาทพนมรุ้งเพียงภูเขาเดียว) ส่วนพระอุโบสถก่อสร้างขึ้นใหม่ มีลักษณะสถาปัตยกรรมร่วมสมัยผสมผสานกันระหว่างพุทธศิลป์กับศิลปะเขมร มีพระพุทธรูปประดับรอบซุ้มมณฑปยอดเจดีย์ ลดหลั่นลงมา กึ่งกลางทำเป็นซุ้มเรือนแก้วประดับพระพุทธรูปปางมารวิชัย ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระอังคารธาตุ ด้านนอกมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยรอบอุโบสถ 108 องค์ รอยพระพุทธบาทจำลอง พระนอนขนาดใหญ่ 1 องค์ วัตถุธรรมที่น่าสนใจ เห็นจะเป็นใบเสมาที่ตั้งอยู่รอบอุโบสถ ตามข้อมูลวัด เป็นใบเสมาหินบะซอลล์สมัยทวารวดี พบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย มีทั้งสลักภาพบุคคล สถูป ดอกบัว และธรรมจักร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 13 – 14 เป็นหลักฐานว่าที่นี่เคยเป็นพุทธสถานมาแต่โบราณ จากตรงนี้ได้ความรู้เพิ่มเติมจากเพจเฟซบุ๊กกลุ่มเผยแพร่กรมศิลปากร องค์ความรู้เรื่อง “ใบเสมาเขาอังคาร ร่องรอยพุทธสถานใกล้ปราสาทเขาพนมรุ้ง” กฤษณพงศ์ พูนสวัสดิ์ นักโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เรียบเรียง ขอคัดเนื้อความมาเผยแพร่อีกทอดนึง “บนยอดเขาอังคารพบใบเสมาสลักด้วยหินภูเขาไฟ จำนวน 15 แผ่น มีความสูงตั้งแต่ 1.08 – 2.10 เมตร ใบเสมาที่พบส่วนใหญ่สลักภาพทิพยบุคคลในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในท่าประทับยืนแบบตริภังค์ ทรงภูษาสั้น มีชายพกด้านขวา ภาพสลักส่วนใหญ่พระพักตร์กะเทาะหลุดหายจึงมีการปั้นปูนประดับขึ้นใหม่ แต่ยังคงมองเห็นภาพสลักที่เป็นของเดิมอยู่ ทิพยบุคคลบางภาพถือดอกบัวไว้ในพระหัตถ์ บางภาพมีเครื่องสูงประกอบได้แก่ ฉัตร พัดโบกและแส้ นอกจากนี้ใบเสมาบางแผ่นอีกด้านหนึ่งยังมีภาพสลักรูปดอกบัว สถูป และธรรมจักรอีกด้วย ภาพสลักที่พบเป็นงานศิลปกรรมแบบพื้นถิ่นผสมผสานกับศิลปกรรมเขมรโบราณแบบไพรกเมง กำหนดอายุจากรูปแบบศิลปะได้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 – 16 หรือเมื่อประมาณ 1,200 ปีมาแล้ว เขาอังคารเป็นภูเขาเพียงลูกเดียวในจังหวัดบุรีรัมย์ที่พบใบเสมา ซึ่งมีภาพสลักที่งดงาม ใบเสมาทั้งหมดสลักด้วยหินภูเขาไฟมีจำนวนมากถึง 15 แผ่น ทั้งหมดล้วนมีอายุเก่าแก่ก่อนการสร้างปราสาทเขาพนมรุ้ง เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในบริเวณนี้มาช้านาน ก่อนที่ศาสนาฮินดูจะได้รับความสำคัญและสร้างปราสาทเขาพนมรุ้งเป็นศูนย์กลางของชุมชนแถบนี้ในสมัยต่อมา” วัดเขาพระอังคาร นอกจากมีใบเสมาภาพสลักที่งดงามแล้ว วัดยังเป็นสถานที่ที่พระป่าทางอีสานเมื่อออกธุดงค์จะเดินทางมาปักกลดที่นี่ คนในหมู่บ้านและละแวกใกล้เคียงขึ้นไปทำบุญฟังเทศน์ธรรมกัน เขาอังคารในมุมท่องเที่ยวของอำเภอเฉลิมพระเกียรติ คงเทียบไม่ได้กับปราสาทหินพนมรุ้งที่ตั้งอยู่ในอำเภอเดียวกัน หากเที่ยวปราสาทหินพนมรุ้งแล้วควรได้แวะมาเที่ยวเขาอังคาร ซึ่งอยู่ห่างจากเขาพนมรุ้งมาทางทิศตะวันตกเพียง 8 กิโลเมตรเท่านั้น ชมภาพสลักใบเสมาพันปี ศิลปกรรมพื้นถิ่นผสมศิลปะเขมรโบราณไพรกเมง