เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่รัฐสภา นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) และส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย นส.ชนก จันทาทอง ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย ร่วมยื่นหนังสือที่สมาชิกได้ลงนาม ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญตรวจสอบการใช้เงิน1.9ล้านล้านบาท ผ่านนพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาฯผู้แทนราษฎร นพ.ชลน่าน ในฐานะผู้เสนอญัตติ กล่าวว่า ตามที่ครม.ได้เสนอพรก.เงินกู้3ฉบับ ในวงเงิน1.9ล้านล้านบาท ในส่วนของพรรคร่วมฝ่ายค้าน คงยากที่จะไปคัดค้าน พรรคฝ่ายค้านได้ตั้งข้อสังเกต มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับพรก.ฉบับต่างๆ ไม่มีรายละเอียด แผนงานในโครงการ ในส่วนของการกู้เงินในพรก.ฉบับแรก วงเงิน1ล้านล้านบาท เราไม่ได้ติดใจวงเงิน6แสนล้านบาท ที่จะนำมาเยียวยา และวงเงิน4.5หมื่นล้านบาท ที่จะมาใช้ในด้านสาธารณสุข ต้องมาดูและตรวจสอบต่อไป แต่วงเงิน 4แสนล้านบาท ที่ระบุให้เป็นงบฟื้นฟู ก็มีแต่เพียงแผนงาน จึงทำให้น่าสงสัยว่า งบที่จะนำไปพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ ในเรื่องเศรษฐกิจชุมชนฐานราก หรือการจะนำมากระตุ้นที่เกี่ยวกับภาคเอกชน ภาคประชาชน เป็นอย่างไร ซึ่งเราเป็นห่วงการใช้เงิน ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคร่วมฝ่ายค้าน ติดตามตรวจสอบ เนื่องจากการกู้เงิน ที่ในเดือนมิ.ย.จะมีการอนุมัติเงิน เดือนก.ค.จะเริ่มมีการใช้เงิน และจะต้องใช้ให้แล้วเสร็จในเดือนก.ย.2564 โดยไม่เป็นงบผูกพัน การที่ส.ส.ร่วมลงนามเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบการใช้เงินกู้1.9ล้านล้านบาท เพื่อจะเสนอให้มีผู้เชี่ยวชาญมาร่วมตรวจสอบ และได้มีสมาชิกลงนาม42คน เป็นไปตามข้อบังคับสภาฯข้อที่50 และหวังว่า สภาฯจะบรรจุญัตติให้เป็นเรื่องด่วน จากการอภิปราย มีส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล บางคน ก็มีท่าทีขอร่วมตรวจสอบด้วย หวังว่าทั้งส.ส.ฝ่ายค้านและส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจะให้ความร่วมมือในการตั้งคณะกรรมาธิการในชุดดังกล่าว นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า นอกจากช่องทางการเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบการใช้เงินกู้1.9.ล้านล้านบาทแล้ว พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยังเตรียมเสนอ พระราชบัญญัติแก้ไขพระราชกำหนด โดยจะมีเนื้อหาสาระ โดยให้มีกลไกลในการป้องกันการใช้เงินเพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยจะมีการเสนอหลังจากนี้ ประเด็นที่จะเสนอให้มีการแก้ไข มีหลายประเด็น อาทิ คณะกรรมการกลั่นกรอง เพื่อให้เกิดความสุจริต โปร่งใส ในคณะกรรมการนั้นต้องกำหนดคุณสมบัติเงื่อนไขของผู้ทรงคุณวุฒิเอาไว้ให้ชัดเจน นายสุทิน กล่าวว่า จะเสนอให้เพิ่มจำนวนส.ส.เข้าไปร่วมทำหน้าที่ในคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินด้วย และจะเสนอให้มีการแก้ไขการประมูล จากเดิมที่จะไม่ใช้การประกวดราคาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-biding) ต้องให้ประกวดราคาผ่าน e-bidding เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเสนอให้มีการรายงานในรายละเอียดการใช้เงินต้องมารายงานสภาฯ 3เดือนต่อครั้ง