คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น หวังกันว่า หลังเกิดโรคระบาดโควิด-19 ไปทั่วโลก (มีคนล้มตายเพราะโควิด-19 นับแสนๆราย) การดำเนินชีวิตของคน จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น คือ จะดำเนินชีวิตแบบ “นิว นอร์มอล (นอร์มัล)” หรือ “New Normal” (คำนี้มีผู้แปลความหมายว่าวิถีชีวิตใหม่) แต่ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปอย่างนั้น เชื่อว่า มนุษย์จะกลับสู่ความเคยชินอย่างเดิม คือ เคยไม่คาด “หน้ากากอนามัย” (Mask) ก็จะไม่คาดกันอย่างเดิม ไม่ทำความสะอาดด้วยการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอลN ก็จะไม่ขยันทำความสะอาดอย่างนั้นเหมือนเดิม ไม่นั่งหรือยืนห่างกันประมาณ 1 ช่วงวา ที่เรียกว่ามีระยะห่าง (distancing) ในเวลากินข้าว หรือทำธุระใดๆ ก็จะไม่เป็นอย่างนั้นได้นาน ฯลฯ เพราะความเคยชินของชาว(มนุษย์)โลก ไม่เป็นอย่างนั้น หลายอย่างเป็นความเคยชินโดยวัฒนธรรม หรือความนิยมทางศาสนา เช่น ชาวมุสลิมนิยมสวมกอดกันเมื่อแสดงออกซึ่งความเคารพนบไหว้กัน เป็นต้น หรืออย่างวัฒนธรรมของชาวตะวันตก (ฝรั่ง) ที่นิยมยื่นมือสัมผัสกัน หรือการเชคแฮนด์แสดงมิตรไมตรีต่อกัน เป็นต้น แต่...ไม่น่าเชื่อว่า ในธรรมเนียมของพระสงฆ์ (สมัยพุทธกาล หรือแม้แต่พระสงฆ์สายกรรมฐานที่อยู่วัดป่าสมัยปัจจุบันของไทย) การดำเนินชีวิตของท่านเป็น นิว นอร์มอล อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอยู่ในกุฏิ ที่นิยมให้อยู่แยกกัน การก้มกราบเวลาทำวัตรสวดมนต์ หรือทำพิธีกรรมต่างๆ นิยมนั่งห่างกันในระยะหัตถบาส (ประมาณ 1 ศอก) เป็นต้น แม้แต่การฉันอาหาร ก็มีพุทธบัญญัติ (วินัยสงฆ์) ให้ภิกษุฉันใครฉันมัน ไม่นั่งฉันเป็น “วงข้าว” หรือฉันรวมกันเป็นหมู่เป็นคณะ ถ้าไม่อย่างนั้นจะเป็นอาบัติข้อ “คณโภชน์” และในระหว่างฉันอาหาร ก็ให้ภิกษุสำรวมในการฉัน (ให้ตั้งใจฉันอาหารอย่างเดียว ไม่พูดคุยกันระหว่างฉันอาหาร เป็นต้น) (การฉันอาหารของพระสงฆ์ ที่ไม่ให้พูดคุยกัน ก็เพราะเป็นกิริยาที่ไม่งาม และในแง่ของสุขภาพพลานามัย ก็เป็นการป้องกันเศษอาหารและน้ำลายที่อาจจะกระเซ็นถึงกันได้นั่นเอง) ไม่น่าเชื่อว่า วิธีการหรือวิธีดำเนินชีวิตของพระสงฆ์ ที่มีขึ้นโดยพุทธบัญญัติแต่ดั้งเดิม เป็นวิธีนิว นอร์มอล ของโลกยุคใหม่ ภายหลังเกิดวิกฤติการณ์โรคระบาดสมัยปัจจุบันได้ อันที่จริง วิถีชีวิตของภิกษุหรือพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาลนั้น น่าสนใจและน่าศึกษาอยู่หลายเรื่อง เช่น เรื่อง “ภาวะโลกร้อน” ที่กำลังคุกคามโลกขณะนี้ ถ้าชาวโลกดำเนินชีวิตตาม “วิถีพุทธ” ของพระพุทธเจ้าบ้าง ธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม เช่น ป่า ต้นไม้ และแม่น้ำ เป็นต้น ก็จะไม่เสื่อมโทรมเร็วเกินไป มานึกดู ก็เห็นอานิสงส์(ประโยชน์) ของชีวิตพระป่า หรือพระกรรมฐานเป็นอันมาก เพราะท่านพยายามใช้ชีวิตเพื่ออยู่กับโลกอย่างถูกต้องเหมาะสม ว่าไปแล้ว ถ้าโลกมนุษย์ถูกโรคระบาดอย่างโควิด-19 คุกคาม จนสูญสิ้นเผ่าพันธุ์มนุษย์ ก็จะมีพระกรรมฐานตามวัดป่านี่แหละยังหลงเหลืออยู่ แม้การสาธารณสุขจะไม่คุ้มครองท่านก็ตาม น่าเสียดาย ที่ศาสนาของพระพุทธเจ้าไม่เข้าไปยึดครองประเทศที่เจริญทางวิทยาศาสตร์อย่างประเทศทางตะวันตกไว้ตั้งแต่ต้น เชื่อว่า ถ้าวงการวิทยาศาสตร์มาสนใจศึกษาเรื่องจิต หรือวิญญาณ ตามแนวคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องขันธ์ 5 (รูป/เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) แทนที่จะมองข้ามเรื่องจิต (ในขันธ์ 5) และมองศาสนาเป็นเรื่องอื่นจากโลก แทนที่จะทุ่มเทการวิจัยศึกษาไปทางชีววิทยาและจิตวิทยา ตามแนวทางของวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน ในคำสอนของพระพุทธเจ้า มีเรื่องชีวิตล้วนๆ เชื่อว่าถ้าวิทยาศาสตร์มีการวิจัยศึกษาเรื่องจิตอย่างจริงจัง ป่านนี้โลกก็คงรู้เรี่อง วิญญาณไปไกลแล้ว คงจะไม่งมอยู่กับ “จิตวิทยา” ที่ศึกษาอยู่แต่เรื่องระบบประสาทและสมอง อย่างที่เป็นอยู่ น่าเสียดายที่คำสอนของพระพุทธเจ้า มักจะถูกมอง(ศึกษา) ในรูปความเชื่อหรือในรูปของศาสนา ที่ผูกติดอยู่กับเรื่อง “ปาฏิหาริย์” มากไป เช่นเรื่องราวในพระไตรปิฎก ที่กล่าวถึงพระกุมาร (โคตมะ) นั่งสมาธิที่ใต้ร่มหว้า ระหว่างพระบิดาทำการแรกนาขวัญตามประเพณี เราก็มักจะมองว่าเป็นเรื่องปาฏิหาริย์เหลือเชื่อ แต่ความเป็นจริง พระพุทธเจ้า (หรือพระโพธิสัตว์) ได้พบสมาธิจริงๆ โดยบังเอิญ (แต่เกิดจากความเคยชินในการทำสมาธิในชาติก่อนๆ มาแล้ว ) พระองค์ได้อาศัยความรู้ (เอะใจ) ในการทำสมาธิที่ใต้ร่มหว้าคราวนั้น เมื่อไปเรียนการทำสมาธิในสำนักดาบสทั้งสอง ซึ่งทำได้ง่าย-ได้เร็ว เข้าถึงสมาธิขั้นอรูปฌานในเวลาอันรวดเร็ว จึงเอะใจว่า คนทำสมาธิหรือการได้ฌานอย่างนั้น ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะสักแต่ว่าเป็นการนิ่งสงบอย่างละเอียดของจิตเท่านั้นเอง ฌานอย่างนั้นใช้ทำประโยชน์อะไรไม่ได้ (เพราะในฌานอย่างนั้น ไม่มีการคิดอ่านอะไร แต่พวกดาบสหรือ “นักฌาน” สมัยนั้นเชื่อว่าเป็นฌานชั้นพรหม เมื่อตายไปหลังจากได้ฌานอย่างนั้นแล้ว จะได้ไปเกิดอยู่กับเทวดาชั้นพรหม หรือเป็น “พระพรหม” อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพวกเขา) แต่พระโพธิสัตว์(หรือพระพุทธเจ้า) ไม่คิดอย่างนั้น เพราะเมื่อเข้าถึงอรูปฌานแล้ว กิเลสในพระทัยก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม จึงนึกถึงการได้สมาธิที่ใต้ร่มหว้าคราวนั้น(แสดงว่า ทรงเห็นว่าสมาธิที่ใช้ประโยชน์นี้ได้อย่างแท้จริงในการทำลายกิเลส คือ สมาธิที่ยังใช้ความคิดอ่าน หรือยังรู้สึกตัวได้ ซึ่งเป็นสมาธิขั้นสูงสุดของ “รูปฌาน” ที่เรียกว่า “จตุตถฌาน” นั่นเอง) การบอกเล่าเรื่องนี้ (ในพระไตรปิฎกบาลี) ต้องการจะบอกว่า พระกุมาร หรือ “พระพุทธเจ้ามีอุปนิสัยในการทำสมาธิ ซึ่งสั่งสมมาตั้งแต่อดีตชาติ แม้ภายหลังก็มีเรื่องเล่าว่า พระพุทธองค์ต้องการเข้าสมาธิเมื่อใดก็เข้าได้ทันที แต่คนทั่วไปรวมถึงชาวพุทธทั่วไป ก็มักจะเห็นว่าเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ของผู้เป็นพระศาสดา คือมองว่า พระศาสดาจะต้องมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์พิเศษต่างจากคนทั่วไป แต่ความเป็นจริง พระพุทธเจ้ามีความสามารถพิเศษอันเกิดจากพระบารมีในชาติก่อนๆ จะเห็นได้จากธรรมะที่เป็นคำสั่งสอนของพระองค์ ซึ่งล้วนแต่เกิดจากสมาธิ ล้วนแต่เป็นความจริงและมีประโยชน์ คัดค้านไม่ได้ทั้งสิ้น ว่าไปแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้า ย่อและพิสดารอย่างยิ่งในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ถ้าชาวพุทธเข้าใจแจ่มแจ้งในพระสูตรนั้นก็จะไม่ฟุ้งซ่านไปตามคำสอนอันหลากหลายในพระสูตรอื่นๆเลย เพราะทุกคำสอนในพระไตรปิฎกล้วนแต่แตกยอดออกมาจากเรื่องทุกข์ของชีวิตอันรวมอยู่ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั่นเอง ความรู้อันเกิดจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นความรู้ภายในขันธ์ 5 แม้แต่เรื่อง จิต วิญญาณ เรื่องอายตนะ เรื่องธาตุ ฯลฯ ที่อธิบายอย่างละเอียดในพระอภิธรรมปิฎก ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องภายในขันธ์ 5 นี่เอง จึงเชื่อว่า จิต หรือ วิญญาณ ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็จะต้องเนื่องอยู่กับขันธ์ 5 อย่างแน่นอน แต่ในความเชื่อดั้งเดิมของคนทั่วไป ก็ยังเชื่อว่า จิตหรือวิญญาณมีการล่องลอยไปมาแบบผี ผีสำหรับคนทั่วไปมีฤทธิ์เดชได้มากมาย ทั้งๆที่ผีที่เนื่องอยู่กับขันธ์ 5 (ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า) ตามที่ “หมอปลา” ทำพิธีขับไล่นั้น ดูเหมือนเป็นแค่สัตว์โลกจำพวกหนึ่งที่มีขันธ์ 5 ไม่ครบ หรือมีบางขันธ์(5) ไม่สมบูรณ์เท่านั้นเอง เป็นไปไม่ได้ที่ “ผี” หรือ “สัมภเวสี” (ตามความเชื่อของคนทั่วไป) จะมีขันธ์ 5 ครบ หรือมีประสิทธิภาพอย่างมนุษย์ เพราะผีหรือสัมภเวสี (ตามความเชื่อของคนทั่วไป) ออกไปจากขันธ์ 5 ที่สมบูรณ์พร้อม คือ ขันธ์ 5 ที่มีอายตนะ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ทุกอย่างที่ทำงานได้อย่างดี เมื่อขันธ์ 5 (ก่อนตาย) มีไม่สมบูรณ์อย่างเดิม จึงเชื่อว่า ผีหรือ “สัมภเวสี” ก็มีสภาพเป็นสัตว์โง่ๆ เท่านั้นเอง ความคิดอ่านคงจะไม่มี “จินตนาการ” อย่างที่มนุษย์มี อย่างมากก็คงปรากฏตัวให้เห็นสภาพที่น่ากลัวของตนเท่านั้น แต่มนุษย์ก็เข้าใจไปเองว่า พวกเขามีฤทธิ์เดชต่างๆเหนือมนุษย์ เขียนถึงเรื่องนี้ เพื่อจะบอกว่า พุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าเป็นศาสนาที่ไม่ใช่ “ปรัชญา” (มีทฤษฎีที่เกิดจากการคิดนึกด้วยเหตุผล หรือด้วย logic ) และยิ่งกว่า ศาสนาในความหมายของ Religion (ที่สอนให้มนุษย์มีเทวดาเป็นที่พึ่งสูงสุด) อย่างที่หลวงปู่โง่น” (ขออภัยวันก่อนผมเขียนว่า “หลวงปู่โง่”) ได้ฟังจากพระธุดงค์รูปหนึ่ง ต้องการจะบอกว่า พุทธศาสนาสอนเรื่องที่เนื่องอยู่กับขันธ์ 5 หรือเนื่องอยู่กับชีวิตมนุษย์โดยเฉพาะ แม้แต่เรื่อง จิต หรือ วิญญาณ ก็เป็นเรื่องในขันธ์ 5 ของมนุษย์ ซึ่งวิทยาศาสตร์สามารถจะอธิบายหรือศึกษาได้ คำสั่ง (พุทธบัญญัติ) ที่เป็น “วินัยสงฆ์” ก็เป็น นิว นอร์มอล (นิว นอร์มัล) มาก่อนแล้ว พระสงฆ์ในพุทธศาสนา (โดยเฉพาะพระสงฆ์สายกรรมฐาน) ฉันอาหารในบาตรของโครของมัน ไม่ฉันรวมกันเป็นหมู่เป็นคณะ เป็นวิธี “กินอาหาร” ที่ถูกต้องที่สุด ฯลฯ แม้จะเป็นสิกขาบท (ศีล) เล็กน้อยของพระสงฆ์ แต่ก็มีความหมายต่อโลกทุกสมัย น่าเสียดาย ที่การฉันในบาตรของพระสงฆ์สายกรรมฐาน ที่ผู้คนเห็นเป็นการถือ “เคร่ง” ไป น่าเสียดายที่เรื่องราวของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก (บาลี) มีหลายตอนที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องทาง “ปาฏิหาริย์” ไป แต่นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง อัลเบิร์ต ไลน์สไตน์ ชาวเยอรมัน (ต่อมาเป็ฯชาวอเมริกัน) กลับบอกว่า พุทธศาสนาเป็น Cosmic Religion (ศาสนาแห่งจักรวาล) หรือเป็นศาสนาสากล และได้ทราบจากข่าวว่า พุทธศาสนาสายหลวงปู่ชากำลังไปยึดครองศรัทธาของชาวอังกฤษถึงพระราชวัง “บักกิ้งแฮม”และพุทธศาสนาสายวัดพระธรรมกายได้ไปทำโบสถ์ในเมืองนิวคาสเซิลของอังกฤษให้เป็นวัดของชาวพุทธเรียบร้อยแล้ว ก็เลยเสียดายที่พุทธศาสนาไม่ได้รับการเทิดทูนจากรัฐบาล(ไทย) เท่าที่ควร