ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
วัยรุ่นคือวัยแห่งการเรียนรู้และแสวงหา “ตัวตน”
ลองมองย้อนในสมัยที่ตัวเองเป็นวัยรุ่นแล้ววิเคราะห์ว่า เรามีสภาพจิตใจกับพฤติกรรมตอนนั้นเป็นอย่างไร ทำให้เข้าใจมากขึ้นในความทะเยอทะยานหรือความใฝ่ฝันของเราในช่วงดังกล่าว ซึ่งสำหรับตัวผมนั้นพบว่าผมเพียงแค่อยากให้คนอื่นมองเห็นเรา “อยู่ในสายตา” ไม่ใช่ว่าอยากเป็นคนสำคัญที่ไปถึงขั้นอยากมีชื่อเสียงโด่งดังอะไร ซึ่งก็เหมือนวัยรุ่นทุกๆ คนที่ต้องการความเป็นตัวตนเช่นนั้น
ในหนังสือวิชาการเกี่ยวกับพัฒนาการของวัยรุ่น อธิบายว่าทำไมคนที่อยู่ในช่วงวัย 12-13 ปีสำหรับผู้หญิง (ผู้หญิงในช่วงเป็นวัยรุ่นจะเติบโตเร็วกว่าผู้ชายประมาณ 2-3 ปี) และ 14-15 ปีสำหรับผู้ชาย จึงมีความสนใจในเรื่องรูปร่าง หน้าตา เสื้อผ้า และเผ้าผม มากขึ้นจนผิดสังเกต เริ่มต้นก็เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงในร่างกายนั่นเอง ทำให้เกิด “ความอาย” หรือการปกปิดไม่อยากให้ใครรู้ใครเห็น แต่สักระยะก็จะคุ้นเคยแล้วปรับตัวได้ นำไปสู่ “การเอาใจใส่” ดูแลการเติบโตของร่างกายในส่วนต่างๆ นั้น อีกเหตุผลหนึ่งก็คือเป็นวัยที่เข้าสู่ “ภาวะเจริญพันธุ์” อันเป็นธรรมชาติของสัตว์หลายๆ ชนิด ที่สัตว์ทั้งเพศผู้และเพศเมียจะต้องทำตัวเองให้น่าสนใจ เพื่อดึงดูดให้เพศตรงข้ามเข้ามาใกล้ชิด ซึ่งในวิถีธรรมชาติก็ได้สร้างสิ่งเหล่านั่นไว้ให้แล้ว อย่างเช่น นกที่มีสีขนเข้มขึ้น ปลาที่เปลี่ยนสีเกล็ด เป็นต้น เช่นเดียวกันกับคนที่ธรรมชาติได้เปลี่ยนแปลงร่างกายของชายและหญิงให้ “ดูน่าสนใจ” ซึ่งก็คือการดึงดูดทางเพศดังกล่าว
ดังนั้นจึงไม่ได้เป็นเรื่องแปลกประหลาดอะไรที่เด็กในชั้นมัธยมจะสนใจในเรื่อง “โป๊ๆ เปลือยๆ” จนส่งผลต่อการเรียน โรงเรียนจึงมีนโยบายในการที่จะให้คุณครูช่วยกันสอดส่องและควบคุมความประพฤติดังกล่าวนั้น เพื่อไม่ให้นักเรียนหมกมุ่นจนมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน เช่น เอารูปโป๊เปลือยมาแลกเปลี่ยนกัน (คงคล้ายๆ กับสมัยนี้ที่แชร์รูปและคลิปกันในโซเชียลมีเดีย) หรือหนีโรงเรียนไปอ่านหนังสือโป๊ (ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงเหมือนกับการติดเกมนั่นเอง) เป็นต้น ซึ่งครูแต่ละคนก็จะมีวิธีการ “จัดการ” ในเรื่องนี้แตกต่างกัน
ครูบุษบาด้วยความเป็นผู้หญิงและยังสาวมาก หลายคนก็กลัวว่าคงจะไม่กล้าทำอะไรกับเด็กนักเรียนผู้ช่ายห่ามๆ (ที่จริงน่าจะเรียกว่า “หื่นๆ”)เหล่านั้น แต่การณ์กลับเป็นตรงกันข้าม ครูบุษบาพอเข้าห้องเรียนก็จะถามเลยว่า “ใครยังไม่แตกเนื้อหนุ่มบ้าง” ซึ่งก็ไม่มีใครยกมือ แสดงว่าทุกคนยอมรับว่าตัวเองกำลังเป็นหนุ่มแล้วทั้งสิ้น จากนั้นคุณครูก็เล่าให้ฟังว่ามีน้องชายที่เคยเป็นวัยรุ่นแบบนี้ ได้พูดคุยกับน้องชายแล้วรู้ดีว่าผู้ชายในอายุเท่านี้ “ชอบ” ทำอะไรบ้าง แล้วก็บอกว่าเด็กนักเรียนผู้หญิงเขาก็เรียนรู้เรื่องเหล่านี้เหมือนกัน ตอนที่คุณครูยังเรียนชั้นมัธยมในโรงเรียนสตรีล้วนก็มีชั่วโมงเรียนพิเศษในเรื่องนี้โดยเฉพาะ
เช้าวันหนึ่งหลังการเข้าแถวชักธงชาติ ก็มีประกาศว่าตอนบ่ายวันนั้นในชั่วโมงที่เคยเรียนพละศึกษา จะให้นักเรียนไปรวมกันที่ห้องประชุมใหญ่เพื่อเรียน “เพศศึกษา” แล้วเสียงฮือๆ ก็ดังกึกก้องไปทั้งสนามหน้าเสาธง บ่ายวันนั้นโดยที่ยังไม่ถึงเวลาของชั่วโมงพิเศษ หน้าห้องประชุมใหญ่ก็เนืองแน่นไปด้วยเด็กหนุ่ม พอกริ่งดังเป็นสัญญาณให้เข้าห้อง ต่างก็กรูกันจับจองเก้าอี้แถวหน้าๆ เวลาผ่านไปสัก 5 นาทีก็ไม่ปรากฎว่ามีครูคนใดเดินขึ้นมาประกาศกล่าวเปิดหรือทำพิธีอะไร มีแต่ภารโรงมาปิดผ้าม่านทุกด้านแล้วปิดไฟมือสนิท สักพักจอหลังเวทีด้านหน้าก็เปิดออก มันคือจอภาพยนตร์ขนาดใหญ่กำลังฉายภาพคำว่า “กำเนิดกุมาร” ซึ่งก็คือชื่อเรื่องของภาพยนตร์สารคดีที่รัฐบาลกำลังส่งเสริมให้ฉายไปในสถานศึกษาต่างๆ เนื้อหาว่าด้วยการเจริญเติบโตทางร่างกายของทารกในแต่ละสัปดาห์ในช่วงที่มารดากำลังตั้งครรภ์ จนถึงคลอดออกมาเป็นคนโดยสมบูรณ์ แล้วเนื้อเรื่องก็ย้อนไปถึงความรักของหนุ่มสาวที่ก่อให้เกิดทารก กล่าวถึงความสัมพันธ์ที่มีความรับผิดชอบ ความพร้อม และการป้องกันอนามัย ที่ได้แก่ โรคทางเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ
ภาพยนตร์ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง ใบหน้าของเด็กหนุ่มทุกคนดูงงๆ เมื่อเวลาที่เดินออกมา มีครูผู้ชายมายืนแจกถุงยางอนามัย โดยถามขึ้นก่อนว่ามีใครอยากเอาไปใช้บ้าง ซึ่งก็มีบางคนมาขอไป แต่บอกว่าไม่ได้เอาไปใช้นะ แค่เอาไปเป็น “ที่ระลึก” ในตอนเช้าวันรุงขึ้นผู้อำนวยการโรงเรียนก็มาพูดกับนักเรียนหลังเชิญธงชาติเช่นเคย ท่านถามผ่านไมค์ดังไปสนามหน้าเสาธงว่า มีใครชอบภาพยนตร์ที่ฉายเมื่อบ่ายวานนี้บ้าง ซึ่งก็ไม่มีเสียงหรือปฏิกริยาอะไรเกิดขึ้น แล้วท่านก็บอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จัดฉายตามนโยบายของรัฐบาล ในโครงการคุมกำเนิดประชากร แล้วท่านก็พูดถึงคุณมีชัย วีระไวทยะ ผู้เป็นผู้นำในการรณรงค์ในเรื่องนี้ จนทำให้คนทั้งหลายเรียกถุงยางอนามัยว่า “ถุงมีชัย”
ครูบุษบาจะเป็นผู้เกี่ยวข้องในการนำเสนอแนวคิดนี้หรือไม่ก็ไม่มีใครทราบ แต่ในชั่วโมงภาษาอังกฤษที่คุณครูต้องเข้าสอนในเช้าวันนั้น ดูคุณครูจะอารมณ์ดีเป็นพิเศษ เดินฮัมเพลง Puppy Love ของวง The Osmond ไปรอบห้องก่อนที่จะเริ่มการสอน โดยเริ่มด้วยคำถามว่าใครรู้จักเพลง เพลงนี้บ้าง ซึ่งก็มีบางคนชูมือตอบ คุณครูจึงถามต่อไปว่าเนื้อร้องของเพลงนี้เกี่ยวกับอะไรรู้ไหม พอไม่มีเสียงตอบคุณครูก็อธิบายว่า “เกี่ยวกับความรักแบบเด็กๆ” ที่ฝรั่งเปรียบเทียบว่าเหมือนความรักของคนเลี้ยงลูกหมา หรือ Puppy ในภาษาอังกฤษ ลูกหมาในวัยเริ่มแรกจะขี้เล่นขี้ประจบ น่ารักมากๆ แต่พอโตขึ้นก็จะเปลี่ยนนิสัยไป รวมถึงตัวเจ้าของนั้นด้วยก็จะรักหมาในแต่ละช่วงเปลี่ยนไป ความรักแบบ “ปั๊ปปี้เลิฟ” จึงไม่ยั่งยืน เหมือนความรักของเด็กวัยรุ่นนั่นเอง
พอขึ้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ผมมีอายุ 15 ปี เริ่มสนใจในเพศตรงข้าม “เป็นพิเศษ” แต่ก็ลืมคำสอนของครูบุษบาไปเสียสิ้น แบบที่สุภาษิตบอกว่า “ความรักทำให้คนตาบอด” และไม่นานผมก็อกหัก จึงทำให้คำสอนของคุณครูโผล่แว่บขึ้นมา ในช่วงของความเศร้าเสียใจที่เป็นอยู่หลายวันนั้น ทำให้ผมมีเวลามานั่งคิดถึงความล้มเหลวของความรักในครั้งนั้น แล้วก็รู้ด้วยตนเองว่าเพราะตัวเรา “เชื่อมั่น” ในความแท้จริงของความรักนั้นมากเกินไป ในวัยที่เรายังไม่พร้อมและยังไม่รู้จักรับผิดชอบ ซึ่งผลการสอบในเทอมนั้นผมหล่นมาเป็นที่ 5 ทั้งที่เคยสอบได้ที่ 1 และ 2 เป็นประจำ
เทอมต่อมาผมจึงเขียนด้านในของปกสมุดว่า “สตรีคือศัตรูของการเรียน” ไว้ทุกเล่ม