ที่เหนือสันเขื่อนภูมิพล จ.ตาก ขึ้นไปนั้น มีชุมชนเล็กๆ ตั้งอาศัยอยู่ 5 หมู่บ้าน คือ บ้านอูมวาบ บ้านโสมง บ้านสันป่าป๋วย บ้านหินลาดและบ้านนาไฮ โดยช่วงที่มีการก่อสร้างเขื่อนภูมิพล ชาวบ้านไม่ยอมอพยพออกจากพื้นที่ แต่กลับอพยพหนีขึ้นไปอยู่ในที่สูงให้พ้นจากน้ำท่วม โดยประกอบอาชีพเลี้ยงวัว ทำประมง หาของป่า และทอผ้าขาย นายสุดเขต สวยสม ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 38 พร้อมทีมงาน นายใจ ยอดดำเนิน ผู้อำนวยการโรงเรียน และคณะครู โรงเรียนสามเงาวิทยาคม อ.สามเงา จ.ตาก ออกเดินทางไปยังหมู่บ้านเหนือสันเขื่อนภูมิพล เพื่อไปเยี่ยมเยียน และติดตามเรียนออนไลน์ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อน คุณครูได้ไปเยี่ยมบ้านนักเรียน เอาใบความรู้และใบงานไปให้เรียนเสริมช่วงปิดเทอม ก่อนที่จะเปิดเรียนตามปกติในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 นี้ การเดินทางต้องนั่งเรือจากสันเขื่อน ใช้เวลา 45 นาที ไปยังหมู่บ้านสันป่าป๋วย เพื่อเยี่ยมบ้านของเด็กหญิงชนาพร ทาสุ่ม หรือน้องชบา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสามเงาวิทยาคม ช่วงปิดเทอมและเรียนออนไลน์ น้องชบาใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วยการช่วยคุณแม่ย่างปลา ซึ่งหาได้จากเขื่อนภูมิพล เป็นวิถีชุมชนของชาวบ้านที่อาศัยเหนือเขื่อน ส่วนการเรียนออนไลน์ น้องชบากล่าวว่า ได้เรียนทางโทรศัพท์มือถือ คุณครูสั่งงานผ่านไลน์ และเฟสบุ๊ก และใบงานที่คุณครูเอามาแจกให้ ส่วนตัวแล้วอยากให้เปิดเทอมเร็วๆ เพราะอยากเจอเพื่อนที่เรียนร่วมห้อง เสร็จภารกิจเยี่ยมบ้านและติดตามการเรียนออนไลน์ จากหมู่บ้านสันป่าป๋วย คณะทำงานเดินทางต่อด้วยรถขับเคลื่อน 4 ล้อ ขึ้นเขา ลงห้วย บางช่วงเดินเท้า ใช้เวลา 2 ชั่วโมง เพื่อเดินทางไปยังหมู่บ้านหินลาด และหมู่บ้านนาไฮ ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวกะเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอ ที่นี่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์ทั้งหมด นางสาววิจิตรา แก่งสร้อยสมบูรณ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสามเงาวิทยาคม เรียนออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟน แต่สัญญาณอินเตอร์เน็ตมีน้อยมาก รับสัญญาณได้เพียงบางครั้ง ครูสั่งงานทางเฟสบุ๊ค ทางไลน์พอตอบกลับได้ แต่เรียนออนไลน์ไม่ได้ คุณครูเลยนำใบความรู้และใบงานมาให้ถึงที่บ้าน นางสาวนิรวรรณ โยทา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสามเงาวิทยาคม ก็เรียนผ่านสมาร์ทโฟนเช่นเดียวกัน รับสัญญาณได้บางครั้ง เลยมาตั้งดูข้างๆ มือพลางทอผ้าไปด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง ใช้เครื่องทอผ้าแบบกี่เอว มีคุณแม่สอนการทอผ้าอยู่ข้างๆ นายผดุงเกียรติ ปานแดง ครูโรงเรียนสามเงาวิทยาคม เป็นครูฝ่ายวิชาการ ได้นำใบความรู้และใบงานมาให้นักเรียน กล่าวว่า นักเรียนที่อาศัยอยู่เหนือเขื่อน สภาพความเป็นอยู่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ สัญญาณอินเตอร์ไม่ดี ทำให้การเรียนออนไลน์ไม่สะดวก ทางโรงเรียนจึงได้จัดทำแผนการสอน โดยจัดทำใบความรู้ใบงาน และเอกสารการเรียนรู้จาก DLTV มาให้นักเรียนได้ศึกษาก่อนเปิดเรียนจริง ส่วนการเดินทางในการมาบ้านนักเรียนแต่ละครั้งยากลำบาก และบางครั้งถ้ามีลมแรงหรือฝนตก เรือไม่สามารถแล่นออกจากหมู่บ้านได้ ก็ต้องนอนพักที่เหนือเขื่อน หมู่บ้านสันป่าป๋วย เลยใช้วิธีประสานกับชุมชน หรือชาวบ้านที่นำพืชผล หรือปลาสด ปลาย่าง มาขายที่ตลาดใต้เขื่อน ฝากใบงานไปให้เด็กๆในหมู่บ้าน นายใจ ยอดดำเนิน ผู้อำนวยการโรงเรียนสามเงาวิทยาคม กล่าวว่า นักเรียนโรงเรียนสามเงาวิทยาคม ที่ความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม การเรียนออนไลน์ เด็กนักเรียนที่อาศัยอยู่ในตัวอำเภอนั้น สามารถจัดการเรียนรู้ได้ และในส่วนของเด็กที่อยู่ห่างไกลและไม่พร้อม ทางโรงเรียนก็จัดทำใบความรู้เสริม ให้คุณครูไปเยี่ยมบ้านนักเรียนและสอบถามนักเรียน และเนื่องจากเราเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ใกล้เขื่อนภูมิพล เขื่อนของพ่อ ที่สร้างไว้ให้พวกเราทุกคน สิ่งที่โรงเรียนสามเงาวิทยาคม ตั้งปณิธานไว้คือ คือ สร้างเด็กนักเรียนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ ดังพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร 13 พฤศจิกายน 2516 “งานครูนั้นจัดเป็นงานสำคัญ เพราะเท่ากับเป็นการสร้างคนให้เป็นคนโดยสมบูรณ์ เยาวชนในปัจจุบันเป็นเยาวชนที่อุดมไปด้วยพลังกายพลังใจ และพลังอยากรู้อยากเห็น อยากเปลี่ยนแปลง หากเขาได้รับการอบรมกล่อมเกลา ที่ถูกทาง เขาเหล่านั้นจะเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมือง ส่งเสริมให้ประเทศชาติรุ่งเรืองและมั่งคั่งยิ่ง”