"สศช."เผย"โควิด-ภัยแล้ง"กระทบจ้างงาน ทำแรงงานเสี่ยงตกงาน 8.4 ล้านคน ประเมินว่างงานระดับสูงสุดปีนี้อยู่ที่ 3-4% ของแรงงานทั้งระบบหรือประมาณ 2 ล้านคน ใกล้เคียงวิกฤติต้มยำกุ้ง ห่วงเด็กจบใหม่กว่า 5.2 แสนราย หางานยาก หวังพรก.กู้เงินเพิ่มจ้างงานทดแทน เมื่อวันที่ 28 พ.ค.63 นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)เปิดเผยว่า ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 และรายงานพิเศษกรณี วิกฤตโควิต-19 : บทเรียนเพื่อการก้าวต่อไปอย่างมีภูมิคุ้มกัน สศช.ประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 และปัญหาภัยแล้งจะส่งผลให้ในปี 2563 อัตราการว่างงานจะอยู่ในช่วง 3-4% หรือตลอดทั้งปีมีผู้ว่างงานไม่เกิน 2 ล้านคน ถือเป็นระดับว่างงานใกล้เคียงกับวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 โดยยอมรับว่าในปีนี้จะมีคนตกงานมากกว่าทุกปี จากอัตราเฉลี่ยการว่างงานของไทยอยู่ที่ 1% หรือประมาณ 4 แสนคน โดยโควิด-19 ทำให้แรงงาน 8.4 ล้านคน เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง แบ่งเป็นภาคการท่องเที่ยวมีความเสี่ยงเลิกจ้าง 2.5 ล้านคน จากจำนวนจ้างงาน 3.9 ล้านคน (ไม่รวมสาขาการค้าส่ง และการค้าปลีก) ส่วนภาคอุตสาหกรรม คาดว่ามีแรงงานเสี่ยงลูกเลิกจ้าง 1.5 ล้านคน จากจำนวนจ้างงาน 5.9 ล้านคน สำหรับการภาคบริการอื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยวเช่น สถานศึกษา หรือสถานที่มีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก เช่น ตลาดสด สนามกีฬา ห้างสรรพสินค้า มีแรงงานเสี่ยงถูกเลิกจ้างประมาณ 4.4 ล้านคน จากจำนวนจ้างงาน 10.3 ล้านคน อย่างไรก็ตามการที่รัฐเริ่มคลายล็อกดาวน์ทำให้แรงงานบางส่วนกลับเข้าทำงาน หรือย้ายงาน ทั้งนี้ คาดว่าผลกระทบของโควิด-19 และปัญหาภัยแล้งต่อการจ้างงาน การว่างงาน จะเริ่มเพิ่มมาขึ้นในตั้งแต่ไตรมาสสอง และชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะแย่สุดในไตรมาส 2 ปีนี้ โดยต้องติดตามภาวะภัยแล้งเกิดขึ้นตั้งแต่กลางปี 2562 และต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ซึ่งส่งผลให้การจ้างงานภาคเกษตรลดลง และมีจำนวนแรงงานที่รอฤดูกาล 3.7 แสนคน สูงที่สุดในรอบ 7 ปี โดยถึงสิ้น เดือนเมษายน มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 26 จังหวัด มีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบประมาณ 3.9 ล้านคน และเกษตรกรในพื้นที่อื่นที่มีปริมาณน้ำน้อยและไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเกษตรได้รับผลกระทบอีกจำนวน 2.1 ล้านคน รวมเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั้งสิ้น 6 ล้านคน ส่วนอัตราการว่างงานข้างต้น เป็นการประเมินภาพรวมที่จะเกิดขึ้นตลอดทั้งปี 2562 สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือในแต่ละปีมีแรงงานจบใหม่ เข้าสู่ตลาด 5.2 แสนคน ซึ่งในปีนี้อาจจะไม่มีตำแหน่งรองรับได้ทั้งหมด เพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ดี ดังนั้นสศช.หวังไว้ว่าพรก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทในส่วนของการฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท จะมีส่วนมาช่วยในการจ้างงานของนักศึกษาจบใหม่ไม่น้อยกว่า 2-3 แสนงาน