"บิ๊กตู่" ถกศบค.ย่อย หาช่องคลายล็อกเฟส 3 "หมอทวีศิลป์"ยันได้ลดเคอร์ฟิวแน่ ส่วนกิจการเสี่ยง รอ ศบค.ชุดใหญ่เคาะวันนี้ แย้มนายกฯต้องการผ่อนปรนมากที่สุด ส่วนถก"พ.ร.ก.กู้เงิน"วันที่สอง "รังสิมา" ห่วงตัวเขมือบสวาปามเงินกู้"แช่งขอให้มีอันเป็นไป" วอน"บิ๊กตู่"เอาจริง ด้าน"โกวิท" แนะส่งเงินตรงท้องถิ่นฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน ย้ำรบ.ใช้เงินอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์ประชาชนมากที่สุด "อนุทิน"แจง สภาฯ แบ่งงบสธ. 45,000 ล้าน ลุยพัฒนาวัคซีนก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านสาธารณสุขของโลก หึ่ง! พบ "9 เซลล์" งาบหัวคิวโรงแรม "อสส." ยืนยันคดีป.ป.ช.ชี้มูล "ประธานวิปฯรัฐบาล" ทุจริตสนามฟุตซอลโคราช ถ้ามีหลักฐานฟ้องทัน ไม่ขาดอายุความแน่นอน พร้อมชี้ขาดไม่อุทธรณ์คดี"โอ๊ค"ฟอกเงินกรุงไทย เผยรอง อสส.ลงนามเเทนคดีจบเเค่ชั้นต้น ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 28พ.ค.63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้เรียกประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดเล็ก เพื่อหารือแนวทางการผ่อนปรนระยะ 3 และการลดเวลาเคอร์ฟิวเพิ่มเติม ภายหลังคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้ มาตรการในการป้องกัน และยับยั้งการแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ประชุมเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีพล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค โดยใช้เวลาในการหารือประมาณ 40 นาที จากนั้นพล. อ.สมศักดิ์ ได้เข้าพบกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ซึ่งคาดว่าหารือในเรื่องข้อกำหนดการผ่อนคลาย ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวถึงกรณีกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง และถูกจัดให้อยู่ในระยะที่ 4 จะได้รับการผ่อนปรนในระยะที่ 3 โดยมีกรอบการพิจารณาอย่างไร และสนามมวย ร้านนวด จะเปิดได้หรือไม่ว่า จนถึงนาทีนี้ยังไม่มีข้อสรุป จนกว่าจะมีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ "ที่พอจะบอกได้คือ กลุ่มก้อนกว้างๆ คือ 1.ร้านรวงต่างๆ ในห้างสรรพสินค้า ที่มีระบบดูแลที่ดี 2.กีฬา ซึ่งพยายามจะเปิดให้มากขึ้น โดยเฉพาะการซ้อมของนักกีฬา 3.เคอร์ฟิว มีแนวโน้มที่จะลดเวลาลงแน่ๆ แต่เวลาเท่าไรให้รอที่ประชุมศบค.วันที่ 29 พ.ค.และ4.กิจการใดที่จะได้รับการผ่อนปรนในระยะที่ 3 จะต้องลงทะเบียนผ่านแอพ พลิเคชั่นไทยชนะทั้งหมด รวมถึงผู้ใช้บริการก็ต้องเช็กอินและเช็กเอาท์ผ่านแอพฯดังกล่าว ซึ่ง ผอ.ศบค.บอกว่าจะพยายามเปิดให้มากที่สุด แต่ก็ต้องยอมรับการติดตามแบบนี้" ส่วนที่รัฐสภา เมื่อเวลา 09.30 น. นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน3ฉบับ วงเงิน1.9 ล้านล้านบาท ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง โดยมี ส.ส.เข้าประชุม ไม่มากนัก ต่อมา เวลา 09.45 น. ได้เข้าสู่การประชุม โดย น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องใช้เงินกู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ผ่านมาการช่วยเหลือของรัฐบาลยังตกหล่นอยู่พอสมควร จึงขอให้เก็บตกผู้ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือให้หมด รัฐบาลจะได้ไม่ถูกด่า ตอนนี้ส.ส.ถูกด่าทุกวัน ส่วนตัวเห็นด้วยกับพ.ร.ก.กู้เงิน แต่ไม่เห็นด้วยกับตัวเขมือบโครงการ ซึ่งมีทุกที่ อบต. ,อบจ. ซื้อของแพง นักการเมืองบางคนเอาวิกฤติเป็นโอกาส อยากให้หมดไปจากประเทศ ภาวนาให้มีอันเป็นไป แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ทำงานช้ามาก ไม่ทันใจ ยิ่งการกู้เงินมหาศาล ตัวเขมือบจะเข้ามาเยอะ จึงอยากให้นายกฯเอาจริงกับตัวเขมือบให้หมดไป ไม่ต้องเกรงใจว่า เป็นใคร และต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาตรวจสอบโครงการ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนด้วย ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ได้ชี้แจงต่อที่ประชุม โดยขอบคุณสมาชิกทุกคนที่ให้กำลังใจรัฐบาล บุคลากรทางการแพทย์ และตนเอง ซึ่งจะเป็นพลังที่ต่อสู้กับสถานการณ์โควิด-19 อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้การ์ดตก ขอประชาชน ตั้งการ์ดสูงตลอดเวลา ถ้านับคะแนนยังไม่น๊อกเอาท์ และจะเอาชนะได้เมื่อมีวัคซีน โดยงบประมาณ 45,000 ล้าน จะเป็นการกระจาย งบประมาณส่วนหนึ่งให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ค้นคว้าหาวัคซีนให้ได้ เพราะการที่ประเทศไทยจะเป็นแชมป์ด้านสาธารณสุขของโลกอีกเรื่องเดียวคือ ต้องคิดค้นวัคซีนให้ได้ ต่อมา เวลา 14.17 น. นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท อภิปรายว่า ขอเน้นเรื่องแผนงานในการนำไปฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมที่ได้รับผลกระทบจำนวนเงิน 4 แสนล้านบาท จึงอยากจะให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเงินไปใช้ให้คุ้มค่า และเกิดประสิทธิภาพต่อพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด ซึ่งได้กำหนดไว้ใน 4 แผนงานตั้งแต่แผนงาน 1.การพัฒนาการลงทุนอุตสาหกรรม การค้า การท่องเที่ยวและการบริการ 2.การฟื้นฟูท้องถิ่นชุมชน 3.การบริโภคครัวเรือน และเอกชน 4. สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในกระบวนการผลิต ในการดำเนินการได้ให้หน่วยงานราชการในการจัดทำโครงการ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานระดับภูมิภาค กระทรวงและระดับจังหวัด จึงอยากเสนอว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการควบคุมและกระตุ้นที่กระจายให้ชัดเจนไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่สำคัญ ตนเห็นว่าทั้ง 4 แผนงานมีความเชื่อมโยงบูรณาการกันทั้งระดับพื้นที่ และระดับกิจกรรมที่จะดำเนินการ อย่างไรก็ตามในการทำโครงการนั้นระยะเวลาในการทำกระชั้นชิด ในวันที่ 1 มิ.ย.และเสร็จในเดือนก.ค.จะต้องไปดำเนินการ นายโกวิทย์ กล่าวว่า สิ่งที่อยากเสนอคือจะทำอย่างไรให้การกระตุ้นและฟื้นฟูนั้นส่งตรงไปยังชุมชน ส่งตรงไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้นการดำเนินการอย่างรวดเร็วจะต้องแบ่งระยะเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรกที่จะต้องฟื้นฟูมีความจำเป็นว่าถ้าจะให้หน่วยงานพิจารณาเพื่อความรอบคอบจะมีปัญหาในเรื่องระยะเวลาในการพิจารณาโครงการ ของคณะกรรมการกลั่นกรองที่จะต้องกลั่นกรองโครงการและส่งกลับไปยังพื้นที่ แต่การกระตุ้นที่รวดเร็ว คือส่งเงินให้กับกลุ่มชุมชนที่เขาดำเนินกิจกรรมอยู่แล้ว และขอให้แบ่งเงิน 10 % ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือประมาณ 4 หมื่นล้าน เพื่อนำไปกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจตามกรอบที่กำหนดโดยให้ท้องถิ่นกระจายตามฐานประชากรที่จะต้องจัดสรร ดังนั้นการให้หลักเกณฑ์ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มหรือชุมชน ที่มีกลุ่มอยู่แล้ว เช่น กลุ่มนักท่องเที่ยว นายโกวิทย์ กล่าวต่อว่า จึงอยากเสนอหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกลั่นกรองจะพิจารณาคือ 1.โครงการนั้นจะต้องเน้นในวงกว้างที่จะไปกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่นและเศรษฐกิจระดับครัวเรือน 2.การกระตุ้นเศรษฐกิจครัวเรือนไปกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน และภาคเอกชน 3.การดำเนินงานจะต้องต่อยอดและมีความต่อเนื่องมีความยั่งยืนในโครงการ ต้องมีความพร้อมในด้านทรัพยากรในการดำเนินงาน เพราะฉะนั้นในระยะที่ 1 จะนำไปสู่ระยะที่ 2 ดังนั้นการให้อำนาจในการกลั่นกรองโครงการซึ่งอยู่ไกลพื้นที่ชุมชนจะมีปัญหา แต่ถ้าให้ชุมชนมีอำนาจในการพิจารณาจะทำให้คุณภาพโครงการดีขึ้นในการใช้เงิน ส่วนระยะที่ 3 เงินจำนวนนี้ต้องป้องกันความเสี่ยงด้วยซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน และไม่แน่นอนว่าโรคนี้จะกลับมาอีกหรือไม่ และส่วนสุดท้ายสมาชิกได้พูดถึงคือการตรวจสอบติดตามถ้าส่งเงินไปท้องถิ่นและชุมชนการติดตาม หากส่งเงินไปในท้องถิ่นตรวจสอบไม่ยากเพราะมีกลไกภาคประชาสังคมชุมชนตรวจสอบกันอยู่แล้ว ซึ่งตนก็ขอให้กำลังใจสภาพัฒน์ ในการทำหน้าที่ในการกลั่นกรองโครงการต่างๆ ด้าน พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีการติดตามกลุ่มคนเกี่ยวข้องกับการเรียกเก็บค่าหัวคิวจากเจ้าของโรงแรม ที่เป็นสถานที่กักตัวกลุ่มเสี่ยงโควิด-19ว่า จากการลงพื้นที่พบผู้ประกอบการโรงแรมได้ให้ข้อมูลรายชื่อ ไลน์ที่ได้พูดคุยในการเรียกรับเปอร์เซ็นต์ เงื่อนไขต่างๆ จึงส่งให้ พล.ต.ท.มนตรี ยิ้มแย้ม ผบช.ภ.2หมดแล้ว ขั้นตอนจากนี้เป็นการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเบื้องต้นพบผู้ที่ผู้เกี่ยวข้อง 9 ราย เป็นเซลล์ติดต่อกับผู้ประกอบการโรงแรมโดยตรง วันเดียวกัน นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งสำนวนและมีมติชี้มูลกล่าวหา นายวิรัช รัตนเศรษฐ์ ประธานวิปรัฐบาล และส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในคดีทุจริตจัดสรรงบประมาณก่อสร้างสนามฟุตซอลใน จ.นครราช สีมา ว่า สำนวนคดีนี้ยังอยู่ระหว่างคณะทำงานอัยการที่ตั้งขึ้นมารับผิดชอบพิจารณา ยังไม่ส่งมาถึงตนเอง โดยอสส.ยืนยันคดีนี้ยังไม่ขาดอายุความยื่นฟ้องต่อศาลแน่นอน โดยคดีนี้เป็นคดีใหญ่มีข้อเท็จจริงมากมายและซับซ้อน และเมื่อไม่นานมานี้ก็พึ่งได้รับสำนวนเพิ่มเติ่มอีก 6-7 สำนวน ก็ต้องใช้เวลาพิจารณาด้วยความรอบครอบ ยืนยันว่าคดีนี้ไม่ขาดอายุความแน่นอน หากหลักฐานเพียงพอสามารถพิจารณาสั่งฟ้องต่อศาลได้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ทางอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งชี้ขาดไม่ยื่นอุทธรณ์คดีฟ้อง นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ คดีร่วมกันกันฟอกเงินทุจริตเงินปล่อยกู้แบงก์กรุงไทย จำนวน 10 ล้านบาท โดยมีรายงานว่า คำสั่งชี้ขาดดังกล่าวลงนามโดยรองอัยการสูงสุดคนหนึ่ง ซึ่งปฏิบัติราชการเเทนอัยการสูงสุด ส่วนเหตุผลของคำสั่งชี้ขาดดังกล่าว คาดว่าจะมีการชี้เเจงจากสำนักอัยการสูงสุดต่อไป