แบงก์ชาติเผยมาตรการช่วยเหลือรายย่อย-ภาคธุรกิจผ่าน 3 มาตรการใหญ่ช่วยลูกหนี้รายย่อย พักชำระหนี้แล้วกว่า 15 ล้านราย รวมมูลหนี้กว่า 6.6 ล้านล้านบาท พร้อมอัดฉีดเม็ดเงินใหม่ผ่านมาตรการซอฟท์โลนแล้วกว่า 1.5 แสนล้านบาท ชี้ช่วงโควิดลดดอกเบี้ยรวมแล้ว 1% ดึงดอกเบี้ยเงินกู้แบงก์ลง 0.62-0.95% นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รายงานการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจจากวิกฤติโควิด-19 ประกอบด้วยการเลื่อนกำหนดชำระหนี้สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเอสเอ็มอี 3-6 เดือน และมาตรการการเร่งรัด และผ่อนปรนเกณฑ์การกำกับดูแลเพื่อให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งลูกหนี้ที่ยังมีสถานะปกติ และลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ณ วันที่ 26 พ.ค.63 ที่มีลูกหนี้ที่ได้รับการพักหนี้ และการปรับโครงสร้างหนี้ 15 ล้านราย เป็นวงเงินสินเชื่อ 6.6 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นสินเชื่อรายย่อย 3.8 ล้านล้านบาท หรือเป็นลูกหนี้ 13.9 ล้านราย ขณะที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ 1.1 ล้านราย วงเงิน 2.8 ล้านล้านบาท สำหรับมาตรการการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องแก่ภาคธุรกิจจาก 3 ส่วนคือ 1.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของ ธปท.วงเงิน 500,000 ล้านบาท ล่าสุด ณ วันที่ 26 พ.ค.63 สามารถปล่อยสินเชื่อได้ 58,208 ล้านบาท 2.สินเชื่อของธนาคารออมสินวงเงิน 150,000 ล้านบาท ปล่อยไปแล้ว 55,000 ล้านบาท 3.สินเชื่อของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) อื่นๆ ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 35,000 ล้านบาท ทำให้มีสินเชื่อใหม่เข้าไปหมุนเวียนในระบบเพื่อช่วยสภาพคล่องธุรกิจ 148,208 ล้านบาท ส่วนสินเชื่อซอฟต์โลนของ ธปท.ที่ให้สินเชื่อใหม่ไปแล้ว 58,208 ล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้ 35,217 ราย เฉลี่ยต่อรายได้สินเชื่อใหม่อยู่ที่ 1.65 ล้านบาท และ 74% เป็นลูกหนี้รายเล็กที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 20 ล้านบาท 71% เป็นเอสเอ็มอี ผู้ที่ได้รับสินเชื่อส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเพื่อการพาณิชย์หรือค้าขาย 51% เป็นธุรกิจในภาคบริการหรือท่องเที่ยว 12% อุตสาหกรรมการผลิต 23% ที่เหลือเป็นภาคอื่นๆ โดยสถาบันการเงินที่ยื่นคำขอเข้ามามากที่สุดคือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ธนาคารกรุงไทย จำกัด ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด เป็นต้น คาดว่าระยะต่อไปจะมีความสนใจใช้วงเงินสินเชื่อของ ธปท.มากขึ้น