เชิงสารคดี/บูรพา โชติช่วง: เดินแนวทางปรัชญาฯพอเพียง ภูมิคุ้มกันชุมชนอย่างดีในทุกวิกฤติ แนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “ในหลวงรัชกาลที่ 9” เป็นแก่นแท้และภูมิคุ้มกันอย่างดีกับประเทศและสังคมไทย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหนก็ตาม ทุกคนทุกกิจการสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นเกราะป้องกันผลกระทบจากสภาวการณ์ต่างๆ ได้ ตั้งแต่ระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน ไปจนถึงหน่วยงานรัฐและระดับประเทศ อย่างเช่นครั้งนี้ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบเศรษฐกิจและสังคมไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งในวิกฤตินี้ เรานับว่าโชคดีกว่าในหลายๆ ประเทศ ด้วยเพราะประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมในภาคการเกษตร ขณะเดียวกันคนไทยยังมีพื้นฐานความเอื้ออาทร ปันน้ำใจต่อกัน คนที่มีกำลังทรัพย์ก็แปรรูปเป็นสิ่งของ แบ่งปันให้กับผู้ที่เดือดร้อน อย่างปรากฏการณ์ “ตู้ปันสุข” หรือจะเป็นการตั้งโรงทานตามวัด หรือกระทั่งนำ “ข้าวแลกปลา” ข้ามเขต ภาคอีสานมีข้าว ภาคกลางมีผลไม้ นำไปแลกปลาภาคใต้ ภาคตะวันออก เป็นต้น เมื่อมองไปยังหน่วยงานรัฐ จะพบว่าที่ผ่านมามีหลายภาคส่วนได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้ในรูปโครงการต่างๆ อย่างเช่นโครงการชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร ของสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (สปวธ.) โดยให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศขับเคลื่อน ซึ่งปัจจุบันมีชุมชนกว่า 22,000 แห่ง เข้าร่วมโครงการดังกล่าว นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากที่สำนักงานปลัดวธ.ได้สำรวจชุมชนคุณธรรมฯ ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 โดยพบว่าการรวมพลังบวร สามารถเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนในชุมชน เห็นได้ชัดเจนว่าเจ้าอาวาสพระสงฆ์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้การดูแลผู้ประสบภัยและผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีทั้งการเปิดรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา และนำไปจัดทำถุงยังชีพ อาหารกล่อง ไปมอบให้แก่ผู้เดือดร้อนในชุมชน นอกจากนี้ยังมีการลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจถึงประตูบ้าน โดยมีการถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ ความเดือดร้อน ความต้องการของชาวบ้านว่ามีอะไรขาดเหลือหรือไม่ ดังนั้นการนำพลังบวรไปช่วยเหลือชุมชน จึงสร้างแบบวิเคราะห์สถานการณ์และคนด้วยว่า ควรช่วยเหลือเรื่องอะไรตามลำดับก่อนและหลัง จากผลสำรวจยังพบว่า เกือบทุกชุมชนได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิตในช่วงโควิด-19 ได้ผลลัพธ์การดำเนินงานที่ดี แสดงให้เห็นว่ากว่า 2 หมื่นชุมชนไม่ได้เดือดร้อนในช่วงโควิด-19 นัก สะท้อนได้จากการปลูกพืชผักสวนครัว สมุนไพร ผลไม้ที่ออกผลผลิตได้ไว เช่น กล้วย แตงโม ฟักทอง มะละกอ ไว้ในบริเวณพื้นที่บ้าน รวมถึงในเขตชุมชน โรงเรียน วัด ทั้งมีการแบ่งปันซึ่งกันและกันในชุมชนเดียวกันและแลกเปลี่ยนข้ามชุมชน โดยไม่ได้มีการซื้อขายหรือเห็นแก่กำไร นอกจากนี้ ในต่างชุมชนได้มีการแลกเปลี่ยนสิ่งของกันและกัน ชุมชนหนึ่งมี อีกชุมชนไม่มี เช่น นำผัก ผลไม้ ข้าวสาร ไปแลกปลา อาหารทะเล ทำให้เห็นว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นแก่นแท้ที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันอย่างดี เกิดสังคมเอื้ออาทร ทำให้ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่พอดี พอเพียง มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ เกื้อกูล ซึ่งกันและกัน ไม่คิดเรื่องต่างตอบแทน “ขณะที่ด้านราชการ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดได้เข้ามาช่วยเกษตรกรที่ไม่มีเงินจ้างแรงงาน ด้วยวิธีการให้เจ้าหน้าที่สำนักงานฯ มาช่วยเก็บผลิตผล และผันงบฯไปช่วยรับซื้อไปแจกจ่ายชาวบ้าน ผลผลิตเหล่านี้นำไปมอบให้ชุมชนอีกชุมชนหนึ่ง เพื่อให้มีผัก ผลไม้ได้รับประทาน ซึ่งเจ้าของสวนไม่ต้องปล่อยให้ผลผลิตเน่าเสียคาสวน” นายกฤษศญพงษ์ ปลัดก.วัฒนธรรม กล่าว เดินแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภูมิคุ้มกันชุมชนอย่างดีในทุกวิกฤติ