ถกพ.ร.ก.3ฉบับวันแรก "บิ๊กตู่" นำครม.-รมต.-ส.ส.เข้าสภาแจงกรอบวงเงินกู้ 1.9 ล้านล้าน หวังแก้ปัญหาโควิด-19 ยันก่อหนี้ไม่เกินกรอบ 60% ไม่ขัดต่อกรอบวินัยการเงินการคลัง-เพดานก่อหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ด้านฝ่ายค้านถล่มยับ "สมพงษ์"หวั่นพ.ร.ก.กู้เงินไร้ประสิทธิภาพ เหมือนตีเช็คเปล่าเอื้อพวกพ้อง "อนุดิษฐ์" ขย่มซ้ำ"บิ๊กตู่" ก่อหนี้สูงสุด 2.62 ล้านล้านบาท หวั่นสุดท้ายทำศก.ประเทศ"จบจนเจ๊ง"วอนอย่าใช้โควิด-19 เป็นเครื่องมือทาง การเมือง-ข้ออ้างต่ออายุรัฐบาล "เลขาฯสมช."จ่อชง "ศบค."ชุดใหญ่คลายล็อกเฟส 3 ให้ปชช.ข้ามจังหวัดได้ ส่วน "มวยตู้-สวนน้ำ" รอหารือสธ.คาดได้เปิดเฟส 4 ขณะที่ "ภูมิธรรม" เผยเปิดห้องถกนัดแรก"พงษ์ศักดิ์ -หมอมิ้ง-หมอ เลี๊ยบ"ร่วมหาทางออกให้ประเทศ ยันสำคัญกว่าตั้งพรรคใหม่ "ธรรมนัส" ยันปัญหาในพปชร.จบแล้ว ชี้ข่าว"3 กุมาร" ลาออกไปตั้งพรรคแค่มโน ที่รัฐสภา วันที่ 27 พ.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดแรก ภายหลังเปิดสมัยประชุมสภาฯปี 63 ว่า เป็นไปอย่างคึกคัก โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ รัฐมนตรี และส.ส.ทยอยเดินทาง เข้าร่วมประชุมอย่างต่อเนื่อง พร้อมสวมหน้า กากอนามัยก่อนตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กระทั่ง เวลา 09.30 น. จึงเริ่มเปิดประชุมโดยมี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธาน เพื่อพิจารณาพ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 1ล้านล้านบาท พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19วงเงิน 5 แสนล้านบาท และพ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคง ทางเศรษฐกิจของประเทศ วงเงิน 4 แสนล้านบาท โดย นายกฯ ได้เสนอต่อที่ประชุมถึงหลักการ และเหตุผลในการตราพ.ร.ก. 3 ฉบับ ว่า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้คืนกลับมาสู่ประเทศ และมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขสถานการณ์ และหยุดยั้งการระบาดของโรคระบาดโควิด-19 รวมทั้งสร้างความพร้อมด้านสาธารณสุขของประเทศและเยียวยาเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระ ทบในการประกอบอาชีพ จากมาตรการควบคุม โดยรัฐบาลต้องใช้เงินในการดำเนินการดังกล่าว จำนวน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นทางเลือกสุดท้ายที่รัฐบาลตัดสินใจดำเนินการในการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ ซึ่งรัฐบาลได้ตระหนักถึงความห่วงใย ในประเด็นการรักษาวินัยการเงิน การคลังของประเทศ โดยวง เงิน 450,000 ล้านบาท จะนำเงินไปใช้ในแผนงานทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส-19วงเงิน 555,000 ล้านบาท ใช้ชดเชยเยียวยาให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบและวงเงิน 400, 000 ล้านบาท นำไปใช้ตามแผนงานชดเชยเศรษฐกิจ และสังคมที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 อีกทั้งยังกำหนดให้ มีคณะกรรมการกลั่นกรอง การใช้จ่ายเงินกู้ เพื่อพิจารณากลั่นกรองแผนงานหรือโครง การก่อนเสนอ ครม. และจำกัดการดำเนินโครงการ พร้อมทั้งรายงานต่อ ครม.รวมถึงมีการจัดทำรายงาน ผลการใช้เงินให้รัฐสภาทราบภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันสิ้นปีงบประมาณ ซึ่งเป็นรายงานที่ครอบคลุมรายละเอียดของการกู้เงิน วัตถุประสงค์ในการใช้จ่ายเงินกู้และผลที่ได้รับจากการใช้จ่ายเงิน "ขอยืนยันว่า การกู้คืนภายใต้พ.ร.ก. ไม่กระทบต่อหนี้สาธารณะ และกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งเมื่อรวมการก่อหนี้ในครั้งนี้แล้วมีอัตราการก่อหนี้สาธารณะต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ หรือ จีดีพี อยู่ที่ 57.6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าไม่เกินกรอบการก่อหนี้สาธารณะคงค้างต่อจีดีพีที่กำหนดไว้ว่าหนี้สาธารณะต้องไม่เกินกรอบ 60 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพี ซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลสามารถบริหารจัดการในการชำระหนี้ได้ และยืนยันว่าการตราพ.ร.ก.ครั้งนี้ เป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ " ต่อมา นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน อภิปรายว่า ขอชื่นชมและแสดงความยินดีต่อความสำเร็จต่อการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย แต่ในความสำเร็จก็แฝงด้วยความผิดพลาด ของการบริหารจัดการภายใต้ภาวะวิกฤติ ในหลายๆ ครั้งของรัฐบาล ทั้งการไม่มีประสิทธิภาพในการจัดหาหน้ากากอนามัย และการขาดแคลนชุดป้องกันการติดเชื้อ ความสับสนในมาตรการกักตัว ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ การสั่งปิดกิจการในพื้นที่กทม.ความล่าช้าในการเยียวยาที่ไม่ทั่วถึง ความล่าช้าในการยกเลิกสถานการณ์ฉุก เฉินตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และความล่าช้าในการคลายล็อกให้กับระบบเศรษฐกิจ ซึ่งนำไปสู่การกู้เงินจำนวนมหาศาล ซึ่งรัฐบาลต้องระลึกไว้เสมอว่าเงินกู้จำนวนมหาศาลนี้ ประชาชนทั้งประเทศต้องร่วมกันชดใช้ ไม่ใช่การแบ่งเค้กชิงผลประโยชน์ เพื่อสร้างฐานคะแนนเสียง การเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องผ่านโครงการต่างๆ จึงมีความจำเป็นที่ส.ส.จะต้องร่วมกันตรวจสอบให้การใช้เงินก้อนนี้เป็นไปอย่างสุจริตและมีประสิทธิภาพสูงสุด ป้องกันไม่ให้เป็นการตีเช็คเปล่าให้รัฐบาลใช้เงินโดยตามอำเภอใจ จนอาจส่งผลเสียต่อประเทศ จากนั้น น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศได้ก่อหนี้จำนวน 2.62 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ไม่สามารถพยุงเศรษฐกิจได้ และขณะนี้มีประชาชนได้ฝากถามนายกฯว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินยืดออกไปสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ ต้องการควบคุมโรคหรือควบคุมประชาชนกันแน่ เพราะหากยืดออกไปเรื่อยๆสุดท้ายเศรษฐกิจของประเทศ ก็จบจนเจ๊งแน่ๆ ฉะนั้นรัฐบาลจะมีเพดานกู้เงินได้เพียง 1.5 ล้านล้านบาทเท่านั้น ถือเป็นเงินหน้าตักก้อนสุดท้ายของประเทศที่ต้องนำใช้ในการฟื้นฟูประเทศให้สำเร็จ และถือว่ารัฐ บาลชุดนี้สร้างหนี้ให้กับประเทศไทยมากที่สุดและอย่าใช้โควิดมาเป็นแพะรับบาปในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือข้ออ้างต่ออายุให้รัฐบาลอย่างเด็ดขาด ด้าน พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 เปิดเผยว่า ในช่วงการผ่อนคลายระยะที่ 3 นี้ ถึงเวลาเหมาะสมที่ต้องเริ่มกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว และในวันนี้จึงมีการประชุม เพื่อพิจารณาผ่อนปรนมาตรการกิจการและกิจกรรมในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะการผ่อนคลายมาตรการเดินทางข้ามจังหวัดที่จะออกเป็นข้อกำหนดกลาง แต่จังหวัดก็ยังสามารถบังคับใช้มาตรการที่เข้มข้นกว่าได้ การปรับลดเวลาเคอร์ฟิวลง พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนกิจการประเภทสวนน้ำ สวนสนุก และกีฬาบางประเภท เช่น มวยตู้ จะมีหารือกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขด้วย หากเห็นว่ายังมีความเสี่ยงก็จะต้องจัดให้อยู่ในกิจกรรมที่จะผ่อนคลายได้ในระยะที่ 4 ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อไป ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังนายไมเคิล จอร์จ ดีซอมเบร (H.E. Mr. Michael George DeSombre) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเข้าพบ ว่า ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาได้ให้การช่วยเหลือประเทศไทยมาก ซึ่งก่อนหน้านี้ทูตสหรัฐฯ ได้เข้าพบ รมว.แรงงาน และแสดงเจตนาที่จะช่วยเหลือในการยกระดับพัฒนาฝีมือแรงงานไทยหลังจากผ่านพ้นจะสถานการณ์โควิด-19 ไปแล้ว และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาท่านทูตสหรัฐฯ ได้เขียนบทความชื่นชมการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสของประเทศไทย ที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี ตนได้เรียนให้ทูตสหรัฐฯ ทราบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไปจะมีการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมหลายอย่าง แต่มาตรการเรื่องการบินจะยังปิดจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. ส่วนในเดือน ก.ค.น่าจะมีความคืบหน้ามากขึ้น ซึ่งเราจะประเมินสถานการณ์ตลอดในช่วงเดือนมิ.ย.ที่มีการขยายการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่ามีสถานการณ์อะไรที่เป็นความเสี่ยงหรือไม่ อีกทั้งองค์การอนามัยโลกได้ออกมาเตือนว่าหากหลายประเทศปลดล็อกมาตรการพร้อมกัน จะก่อให้เกิดความอันตรายอย่างมาก เพราะจะเกิดการไหลเวียนของคนจำนวนมาก จากประเทศหนึ่งไปสู่ประเทศหนึ่ง แต่การติดเชื้อของคนยังมีอยู่ นายวิษณุ กล่าวว่า นอกจากนี้ ทูตสหรัฐฯ ยังได้สอบถามถึงการขยายเวลาประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งตนอธิบายเหตุผล 2 ข้อคือ 1.หากเราไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็จะต้องใช้พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งไม่ได้ให้อำนาจอะไรกับรัฐบาลเลย และจะทำให้เกิด 77 มาตรฐาน ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย รัฐบาลจึงใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียว 2.การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะใช้อำนาจหน้าที่ในการดำเนินการใดๆ เช่น ปิดสถานที่ต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อประเทศ อาจจะทำให้ประชาชนตกงาน และขาดรายได้ ดังนั้นการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะทำให้รัฐบาลสามารถเข้าไปเยียวยาประชาชนที่รับผลกระทบได้ และยังทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเกิดความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนเหตุผลที่ทูตสหรัฐฯ ถามถึงประเด็นนี้ไม่ใช่เพราะว่าเขากังวลอะไร แต่เขาถามเพราะความอยากรู้ นอกจากนี้ยังได้หารือกันอีกหลายเรื่อง วันเดียวกัน นายภูมิธรรม เวชยชัย แกนนำพรรคเพื่อไทย และ ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้าน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "อดีตไทยรักไทย ร่วมกลุ่มคนหลากหลายอาชีพประชุมนัดแรก ถกหาทางออกประเทศ เมื่อวานนี้(26พ.ค.)โดยพวกเราทั้ง 4 คน อันประกอบด้วย คุณพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล, นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และภูมิธรรม เวชยชัย ซึ่งเคยทำงานการเมืองร่วมอุดมการณ์เดียวกันมา และยังคงมีความห่วงใยในปัญหาของบ้านเมือง ได้มีโอกาสพบปะและพูดคุยกับเพื่อนๆ จากหลากหลายสาขาวิชาชีพ อาทิ นักธุรกิจ นักเขียน/กลุ่มผู้ทำงานด้านสตาร์ทอัพ / ด้านไอที /นักวิชาการ /สื่อมวลชน /ตัวแทนเยาวชน คนรุ่นใหม่ รวมทั้งกลุ่มบุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงในแวดวง การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ประมาณกว่า 30 คน ที่สำนักงานแห่งหนึ่ง ย่านพระราม9 โดยเป็นการพบปะร่วมกันครั้งแรก ซึ่งพวกเราเห็นตรงกันว่าความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ในสังคมที่คับข้องใจและเป็นกังวลกับอนาคตทั้งของตนเองและประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง โดยตลอด 3 ชั่วโมง ที่ประชุมได้สรุปความเห็นร่วมกันว่า เรื่องการจัดตั้งพรรคการเมืองนั้น ยังไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะพิจารณาในขณะนี้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ การมุ่งให้ความสำคัญกับการนำเสนอแนวคิดด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ที่สะท้อนทางรอดของสังคมไทย" ด้าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงปัญหาความวุ่นวายในพรรค โดยเฉพาะการเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ว่า ตอนนี้ไม่มีอะไร น่าจะได้ข้อยุติแล้ว เรื่องนี้จะให้ส.ส.ไปคุยกันเองคงไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ แม้แต่ตน ก็เป็นเด็กที่จะไปพูดอะไรคงไม่ได้ ต้องให้ผู้ใหญ่ในพรรคตัดสินใจ ทั้งเรื่องตำแหน่งต่างๆ รวมถึงการประชุมใหญ่สามัญพรรคที่จะมีการปรับเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคก็ต้องรอผู้ใหญ่ตัดสิน ส่วนกระแสข่าวที่กลุ่ม "3 กุมาร"จะไปตั้งพรรคการเมืองใหม่นามพรรคสร้างไทยนั้น ยืนยันว่าไม่มีการตั้งพรรค เป็นการมโนไปเอง ซึ่งปัญหาทุกอย่างจบแล้ว