เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย  ได้ยื่นเรื่องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี  จากกรณีที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าต้องร่วมกันแบกรับภาระค่าไฟฟ้าที่รัฐได้ทำสัญญาผูกขาดไว้กับเอกชนต่างๆ   โดยนายศรีสุวรรณ  เห็นว่าการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน  หรือ  กกพ. ไปกำหนดการผลิตไฟฟ้าเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด  คือต้องผลิต  45,000 เมกะวัตต์  ขณะที่ปริมาณการใช้จริงอยู่ที่ 26,000 - 27,000 เมกะวัตต์เท่านั้น  และจากที่มียอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 ใช้เพียง 28,000 เมกะวัตต์ ดังนั้นจึงมีไฟฟ้าที่เหลือหรือไฟฟ้าสำรองมากกว่า  16,000 เมกะวัตต์   ซึ่งเป็นการสำรองที่โอเวอร์เกินไป และเป็นค่าใช้จ่ายที่ประชาชนต้องแบกรับ  เพราะปริมาณไฟฟ้าเหล่านี้เมื่อไปทำสัญญากับเอกชน ก็จะมีภาระค่าไฟ  ที่รัฐได้ทำสัญญาผูกขาดไว้กับเอกชนต่างๆ  ไม่ว่าจะใช้ไฟฟ้าที่ผลิตมาได้หรือไม่ก็ตาม  ซึ่งต้องจ่ายตามสัญญาและหน่วยงานของรัฐก็ไม่ได้นำเงินส่วนตัวไปจ่าย  แต่มาผลักภาระทั้งหมดให้กับประชาชนด้วยการมากำหนดในค่าไฟยูนิตต่างๆ    นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ในแผนความต้องการใช้ไฟฟ้า หรือ PDP  ที่ กกพ. กำหนดการคำนวณโอกาสในการที่จะผลิตกระแสไฟฟ้า  โดยยึดตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ  GDP  ซึ่งเกินไปกว่าความเป็นจริงค่อนข้างมาก  โดยระบุว่าภายใน 10 ปี อัตราการเจริญเติบโตของประเทศไทยอยู่ในระดับ 3.8 %  ทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นตามนั้น  และยิ่งเมื่อเกิดผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด -19  ยิ่งทำให้GDP ติดลบมากยิ่งขึ้น  แม้รัฐบาลจะพยายามให้มีการลดค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือประชาชน  แต่ก็เป็นการลดเพียงแค่ช่วง 2-3 เดือน  เพื่อเป็นการช่วยเหลือจากผลกระทบของโรคโควิด-19   ซึ่งหลังจากนี้ก็ต้องกลับมาใช้ไฟในราคาที่แพงเกินไปอยู่ดี นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เป็นธรรมกับประชาชน  และผู้ตรวจการแผ่นดินเคยมีมติในเรื่องการผลิตไฟฟ้าที่ไม่เป็นตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 56  คือจัดให้มีสาธารณูปโภคอย่างทั่วถึง  และรัฐจะต้องถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 51%    แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตกลับผลิตไฟฟ้าได้แค่ 33 %  ส่วนอีก 66 % เป็นการผลิตของภาคเอกชน  ซึ่งผู้ตรวจฯได้เคยมีมติและเสนอหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว   แต่เรื่องราคาไฟฟ้ามีการผลักภาระมาให้ประชาชนตลอดเวลา เนื่องจากการคำนวณค่าไฟเกินนำไปสู่การซื้อ-ขายไฟฟ้าเกินความความต้องการใช้  ทั้งนี้ตนมีข้อเสนอแนะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะยกเลิกสัญญาที่จะมีการลงนามในอนาคตเพื่อไม่ให้มีปริมาณไฟฟ้าเพิ่มเข้ามา  เพราะถ้าไม่ยกเลิกจาก 45,000 เมกะวัตต์จะเพิ่มไปเป็นกว่า 50,000 –60,000  เมกะวัตต์  ก็จะยิ่งเป็นภาระให้กับประชาชน  ซึ่งบางโรงไฟฟ้าสามารถขยายหรือเลื่อนการลงนามออกไปอีก 3-5 ปี ก็ยังได้ “ไฟฟ้าที่ผลิตมาเกิน ก็ไม่ได้ถูกนำไปใช้อะไร  ถือว่าเสียไปฟรีๆ แต่ต้องจ่ายในราคาเต็มตามสัญญา ทั้งนี้  หากลดปริมาณการผลิตก็อาจจะทำให้ค่าไฟฟ้าต่อยูนิตที่เรียกเก็บจากประชาชนลดลงได้   ซึ่งตามมาตรฐานสากลต้องผลิตเกินการใช้จริงเพียง 15%  แต่ประเทศเรามีการผลิตโอเวอร์ไป 50-60% เกินมาตรฐานสากล” นายศรีสุวรรณ  กล่าว นายศรีสุวรรณ  ยังกล่าวว่าการร้องผู้ตรวจฯเพื่อให้ตรวจสอบเรื่องผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการไม่ได้เป็นการแก้เกี้ยวหลังร้องเรื่องรถเข็นราคาแพง  แต่ขอยืนยันว่ายังมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการไฟฟ้าที่ซื้อของแพงอีกหลายรายการ  รวมทั้งเรื่องการที่หน่วยงานของการไฟฟ้าทั้ง 3 หน่วย  มีตำแหน่งฝ่ายบริหารมากเกินไป  เช่น รองผู้ว่าการฯเกือบ 20 ตำแหน่ง   ผู้ช่วยผู้ว่าการอีกกว่า 30 ตำแหน่ง  ซึ่งทุกตำแหน่งจะมีรถประจำตำแหน่งและผลตอบแทนที่ได้รับมากเกินไป