เชิงสารคดี /บูรพา โชติช่วง: “ลาวเวียง” หาดสองแคว ดำเนินชีวิตแนวปรัชญาฯพอเพียง เสน่ห์วัฒนธรรมขับเคลื่อนชุมชน พาไปรู้จักชุมชนลาวเวียงบ้านหาดสองแคว ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ จากข้อมูลสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ บ้านหาดสองแคว ตั้งอยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน คนในชุมชนใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย พอเพียง มีวิถีวัฒนธรรมแบบล้านช้างซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายลาวเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ด้านประเพณีท้องถิ่นมีการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษในสมัยรัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์ อาทิ ภาษาถิ่น การแต่งกายประจำถิ่น อาหารพื้นบ้าน ประเพณีหาบจังหัน (ทำบุญตักบาตรและหาบจังหันทุกเช้า) เพื่อนำอาหารคาวหวานเข้าวัด เป็นประเพณีหนึ่งเดียวในประเทศที่ยังคงอยู่ งานย้อนรอยการเสด็จประพาสต้นรัชกาลที่ 5 หรือประเพณีขอบคุณพืชพันธุ์ธัญญาหารและสายน้ำน่าน จัดวันที่ 22 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของคนในชุมชนได้ช่วยกันอนุรักษ์ รักษา สืบสานและสืบทอดสิ่งต่างๆ นี้ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมให้กับลูกหลาน ด้วยอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมลาวเวียงสไตล์ ส่งผลทำให้ชุมชนลาวเวียงหาดสองแควเป็นที่รู้จักคนนอกอย่างแพร่หลาย ด้านวิถีชีวิตทำกินผูกพันอยู่กับการเกษตร การประมง เลี้ยงสัตว์ ดำเนินชีวิตตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายในชุมชนเองมีความสงบ ร่มรื่น ปลอดอบายมุข มีความสามัคคี เป็นชุมชนคุณธรรมพลังบวร มีกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย เช่น ถนนสายวัฒนธรรมชุมชนลาวเวียงหาดสองแคว ตั้งอยู่ระหว่างหมู่ที่ 1 – 2 จัดขึ้นทุกวันศุกร์และเสาร์แรกของเดือน เปิดตลาดตั้งแต่เวลา 15.00 – 20.00 น. เป็นพื้นที่เพื่อเปิดโอกาสให้คนในชุมชนตำบลหาดสองแควได้มาแลกเปลี่ยนกิจกรรมต่างๆ มีการจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรมและเกษตรกรรม การแสดงศิลปวัฒนธรรมของชุมชน รวมถึงการสาธิตทางวัฒนธรรมด้านอาชีพ ความรู้เชิงช่างภูมิปัญญาชาวบ้านและปราชญ์ท้องถิ่น อาหารพื้นบ้าน และกิจกรรมทางวัฒนธรรมอื่นๆ ที่คงความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนลาวเวียง นำมาซึ่งแหล่งรายได้ที่สุจริต เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในชุมชนลาวเวียงหาดสองแคว และจากชุมชนใกล้เคียง อีกทั้งยังก่อให้เกิดความสัมพันธ์และสร้างปฏิสัมพันธ์อันดีในระดับชุมชน รวมถึงนักท่องเที่ยว ผ่านกระบวนการปลุกจิตสำนึกร่วมของคนในชุมชน จุดเด่นของถนนสายวัฒนธรรม บรรยากาศภายในตลาดเป็นการจำลองตลาดย้อนยุคของชาวลาวเวียง โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการร้านค้าแต่งกายด้วยผ้าพื้นเมือง เสื้อสีขาว นุ่งผ้าซิ่นสีต่างๆ ใส่งอบ ใช้ร่มผ้าสีขาว และแคร่ไม้ไผ่ปูทับด้วยสื่อกกในการตั้งร้านจำหน่ายสินค้า ซึ่งแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่นและไม่เหมือนใครของชาวลาวเวียงหาดสองแคว ทั้งใช้วัสดุที่ผลิตธรรมชาติเป็นภาชนะใส่สินค้าและอาหาร แทนการใช้กล่องโฟมถุงพลาสติก และสินค้าที่จำหน่ายภายในตลาดเป็นสิ้นค้าประเภทผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน อาหารพื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ทางวัฒนธรรม งานประดิษฐ์ Handmade เท่านั้น นอกจากถนนสายวัฒนธรรมแล้วยังมีสถานที่ท่องเที่ยวให้ได้ศึกษาเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ตั้งอยู่ที่วัดหาดสองแคว อุโบสถเก่าอายุเกิน 100 ปี ตั้งอยู่ที่วัดคลึงคราช พระอกแตกหรือพระทองคำผุดในองค์พระ ตั้งอยู่ที่วัดบ้านแก่งใต้ ศาลเจ้าปู่ใหญ่ ปู่กั๊ก ปู่ก๊อก ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาตามวิถีวัฒนธรรมภายในชุมชน อาทิ ศูนย์เรียนรู้การทำสาแหรกจิ๋ว และไม้กวาดทางมะพร้าว ศูนย์เรียนรู้การทำอาหารพื้นบ้านลาวเวียง ศูนย์เรียนรู้การทำผ้ามัดย้อม ศูนย์เรียนรู้ปลูกต้นไผ่และพืชทางการเกษตร หากพักค้างคืนมีโฮมสเตย์ ในด้านสินค้าและผลิตภัณฑ์ของชุมชน ประเภทขนมของฝากที่ผลิตจากพืชและผลไม้ ผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อม และทุกเช้าวันเสาร์ เด็กๆ ในชุมชน จะร่วมกันปั่นจักรยานเก็บขยะโดยรอบชุมชนทุกสัปดาห์ และชุมชนลาวเวียงบ้านหาดสองแควยังได้รับรางวัลชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจากภาครัฐและเอกชน อย่างไรก็ดี ช่วงที่มีการแพร่ระบาดโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทั่วโลกและในประเทศไทย ทำให้เศรษฐกิจและสังคมได้รับผลกระทบไปถ้วนหน้า ด้านกระทรวงวัฒนธรรมเตรียมแผนวัฒนธรรมช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังจากโรคโควิด-19 คลี่คลาย ด้วยการนำร่องบวร On Tour ชวนคนไทยเที่ยวไทย เพื่อกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจชุมชน