"บิ๊กตู่" นำทัพประชุมสภากลาโหมเต็มคณะครั้งแรกหลังคลายล็อก "โควิด-19" ระยะ 2 พร้อมขอบคุณ "เจ้าสัว-เอกชน" ร่วมแก้โควิด-19สั่งล่าตัว "เหลือบโควิด-19" หักค่าหัวคิวดีลโรงแรมกักตัวผู้ป่วย ย้ำรัฐบาลไม่มีนโยบายหาผลประโชน์ ด้าน"ศรีสุวรรณ" ร้องผู้ตรวจฯ ปูดคนอักษรย่อ "พ" ใน"ศบค."หักหัวคิว พร้อมจี้ส่งศาล รธน.วินิจฉัย "พ.ร.ก.กู้เงิน-พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ "สนธิรัตน์" เชื่อรบ.ผ่านฉลุยศึก"พ.ร.ก.กู้เงิน" ชูผลงานเพียบ "ลดค่าไฟ-ลดค่าแก๊สหุงต้ม" ทำชาวบ้านเชื่อมือรบ. ขณะที่ "65 ฝ่ายค้าน"จ่อถล่ม "พ.ร.ก.กู้เงิน" 3 ฉบับ พร้อมตั้งเงื่อนไขรบ.ต้องรายงานต่อสภาทุกเดือนแรกไม่ตั้งกมธ.ตรวจสอบฯ ยันไม่ซ้ำรอยอนค. "พิจารณ์" แนะจับตารบ.ยื้อเวลาเปิดประชุม ที่กระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 25 พ.ค.63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมสภากลาโหม ครั้งที่ 5 /2563 ประจำเดือนพ.ค.63โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนา ยกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะที่ปรึกษาสภากลาโหม พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญการเหล่าทัพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง โดยการประชุมถือเป็นครั้งแรก ที่พล.อ.ประยุทธ์ ได้เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมด้วยตนเอง หลังจากมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมคาดว่าจะเป็นการติดตามสถานการณ์ การแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กระทรวงกลาโหม สนับสนุนสถานที่ State Quarantine การปฏิบัติงาน ของศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.)เพื่อนำมาพิจารณาประกอบการผ่อนปรนมาตรการในระยะที่ 3 และการลดช่วงเวลาเคอร์ฟิวจากเดิมในเวลา 23.00- 04.00น. เป็นเวลา 24.00-04.00 น. หรือ 23.00-03.00 น.เพื่อให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพได้ และอำนวยความสะดวกการใช้ชีวิตมากขึ้น พร้อมกันนี้ นายกฯได้กำชับเหล่าทัพติดตามดูภาพรวมการอภิปรายพ.ร.ก.กู้เงิน ทั้ง3 ฉบับ และพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ของทุกกระทรวง เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาโควิด-19 กว่า 1 แสนล้านบาท ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าการเดินทางมาประชุมสภากลาโหมครั้งนี้ จะมีการพูดคุยถึงแนวทางการปรับย้ายนายทหาร ประจำปี 63 ที่ในปีนี้มีตำแหน่งสำคัญระดับผู้บัญชาการเหล่าทัพเกษียณอายุราชการหลายตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุม นายกฯได้ปฎิเสธที่จะให้สัมภาษณ์เรื่องการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อออกอีก 1 เดือน หลังจากหลายฝ่ายมองว่าเป็นเรื่องทางการเมือง ไม่ใช่การควบคุมโรค ว่า "เจ็บคอไม่มีเสียง"เช่นเดียวกับเรื่องการวางตัวพล.อ.ประวิตรเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)ก่อนจะขึ้นรถออกไปทันที ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 26พ.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์จะกล่าวขอบคุณบรรดาเจ้าสัวและภาคเอกชนกลุ่มต่างๆ ที่ได้ตอบจดหมายและให้คำเสนอแนะกับรัฐบาล ในการแก้ปัญหาโควิด-19โดยจะออกอากาศผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) หลังเวลา 18.00 น. ซึ่งถือเป็นการเสร็จสิ้นภารกิจในการเดินสายพบกับภาคเอกชนกลุ่มต่างๆ ต่อมา พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมสภากลาโหม ถึงข่าวมีการแอบอ้างหักหัวคิวโรงแรมที่ใช้เป็นสถานที่กักตัวคนไทยที่กลับจากต่างแดน(State Quarantine)โดยยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายเรียกรับผลประโยชน์ อย่างไรก็ตามจากที่ได้พูดคุยกับนายกสมาคมธุรกิจโรงแรมภาคตะวันออก ทราบว่า เป็นเรื่องจริง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทยอยให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ และต้องไปดูข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่ "ผมยืนยันว่ารัฐไม่มีนโยบายเก็บค่าหัวคิว เพราะเรื่องดังกล่าวเราดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา ต่อกลุ่มคนไทยที่กลับจากฮูฮั่น จนถึงปัจจุบันก็ไม่เคยมีปัญหาเรื่องนี้ ทราบว่าคนที่ดำเนินการเรื่องนี้ เป็นนายหน้าที่ไปติดต่อกับโรงแรมโดยตรง และเรียกรับผลประโยชน์ และยืนยันว่า ไม่มีคนของกองทัพไปเกี่ยวข้อง ขณะนี้กำลังตามหาตัวอยู่ และนายกฯ ได้กำชับให้เร่งดำเนินการ" ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมและธุรกิจท่องเที่ยวในจ.ชลบุรีออกมาระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกรับสินบจากกลุ่มผู้ประกอบการ เพื่อแลกกับการที่โรงแรมจะได้รับคัดเลือกเป็นสถานที่กักตัว โดยแลกหัวคิว 30-40 เปอร์เซ็นต์จากเงินที่รัฐบาลจ่ายให้ 1,000 บาทต่อรายต่อวัน โดยเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และคนที่ออกมากล่าวเป็นผู้ประกอบการเองจึงน่าเชื่อถือ ซึ่งไม่ควรมีการฉกฉวยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาหาผลประโยชน์ "เรื่องแบบนี้คงไม่มีใครกล้าทำ นอกจากคนในศบค. โดยเฉพาะขณะนี้เริ่มมีกระแสข่าวว่าเป็นคนในราชการ อักษรย่อ "พ" จึงอยากให้ผู้ตรวจไปตรวจสอบและควรจะต้องสอบโฆษกศบค.ด้วยที่ออกมาปฏิเสธข่าวในทันทีทั้งที่ยังไม่ได้มีการสืบสวนสอบสวนเลย อาจจะมีการเกี่ยวพันหรือเกี่ยวโยงกันก็ได้ เรื่องนี้สร้างความอับอายไปทั่งโลก ยังไม่มีการสืบสวน สอบสวน ออกมาแก้ข่าวได้อย่างไร" นายศรีสุวรรณ ยังขอให้พิจารณาและเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 16 ของ พ.ร.ก.บริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ที่กำหนดว่าข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตาม พ.ร.ก.นี้ไม่อยู่ในการบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 197 หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจรัฐบาลในการออกข้อกำหนดจำนวนมากปัจจุบันมีการออกมามากว่า 7 ฉบับ และถ้ารวมคำสั่งของ ศบค.ด้านความมั่นคงก็ออกมาแล้วมากกว่า 15 ฉบับ ส่วนใหญ่เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน กระทบต่อการประกอบอาชีพ แต่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบไม่สามารถใช้สิทธิโต้แย้งทางศาลได้ เพราะบทบัญญัติตามมาตรา16 จึงเห็นว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ยังขอให้เสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการที่รัฐบาลอาศัยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ออก พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 โดยให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย กู้เงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท เพื่อมาซื้อตราสารหนี้ของภาคเอกชนได้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ประกอบมาตรา 140 หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่า การซื้อขายตราสารหนี้ ผู้ชื้อย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่า จะต้องมีเรื่องของการขาดทุนหรือกำไร และการลงทุนในตราสารหนี้มีทั้งคนไทยและคนต่างชาติ แต่รัฐบาลกลับให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกู้เงิน 4 แสนบ้านบาท ไปซื้อตราสารหนี้ของภาคเอกชนซึ่งล้วนก็เป็นบริษัทที่ร่ำรวย ขณะที่ยังเป็นการเปิดช่องให้ ธปท.เอื้อประโยชน์ต่อเอกชนบางรายได้ ซ้ำยังมีการระบุว่าถ้าหาดขาดทุนอนุญาตให้กระทรวงการคลังเข้าไปอุดหนุนในวงเงินไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน จึงเห็นว่าเป็นการใช้เงินอย่างไม่ถูกต้อง ประกอบกับรัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขของการออก พ.ร.ก.ว่า ต้องเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน แต่กรณีนี้เป็นการมาซื้อตราสารหนี้ของเอกชน ซึ่งเอกชนสามารถที่จะดำเนินการเองได้อยู่แล้ว รวมทั้งเห็นว่าถ้าออก พ.ร.ก.แม้จะต้องผ่านการพิจารณาของสภา ก็ทำได้เพียงแค่อภิปราย เห็นชอบหรือไม่ก็โหวตให้ตกไปทั้งฉบับหรือไม่เท่านั้น สภาไม่สามารถปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง พ.ร.ก.ได้ ด้าน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาพ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ในวันที่ 27-29 พ.ค.63โดยเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะสามารถชี้แจงรายละเอียดและความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างแน่นอน เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลก็พิสูจน์แล้วว่าไม่เคยทอดทิ้งประชาชน เช่น กระทรวงพลังงานก็มีผลงานที่เป็นรูปธรรมคือ การลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของประชาชน ทั้งมาตรการการคืนเงินประ กันการใช้ไฟฟ้า กว่า 21.5 ล้านราย วงเงิน 30,000 ล้านบาท มาตรการ่วยลดค่าไฟฟ้า ระดับครัวเรือนเป็นระยะเวลา 3 เดือน ครอบคลุมประชากร 22 ล้านราย การลดราคาก๊าซหุงต้มลง 3 บาท ต่อกิโลกรัม หรือลดลงไปถังละ 45 บาท นายสนธิรัตน์ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารพรรค พปชร. และปรับคณะรัฐมนตรี ว่า ไม่ขอแสดงความคิดเห็น แต่ขอเดินหน้าทำงานอย่างเต็มที่เหมือนที่เคยทำมาตลอดระยะเวลา 1 ปี ต่อไป ที่รัฐสภา นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือวิปรัฐบาล พร้อมด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายสุทิน กล่าวว่า การพิจารณาพระราชกำหนดจะพิจารณาต้องเป็นรายละฉบับ แต่สามารถโยงไปถึงพรพระราชกำหนดฉบับอื่นได้เท่าที่จำเป็น โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านมีผู้อภิปรายประมาณ 60-65 คน แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 35 คน พรรคก้าวไกล 15 คน ส่วนที่เหลือที่ลดลั่นไปตามสัดส่วนของส.ส.ฝ่ายค้านแต่ละพรรค พรรคร่วมฝ่ายค้านยืนยันว่าหากจะให้ฝ่ายค้านให้ความเห็นชอบกับพระราชกำหนดดังกล่าวจะต้องมีเงื่อนไขบางประการ โดยเมื่อรัฐบาลไม่ได้มีรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้เงินมาเสนอต่อสภาฯ จึงจำเป็นต้องขอให้รัฐบาลรับปากต่อสภาฯได้หรือไม่ว่าจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาและตรวจสอบการใช้เงินพร้อมกับการที่รัฐบาลจะรับปากว่าจะทำรายงานการใช้เงินกู้เสนอมายังสภาเดือนละครั้ง "เราไม่ยอมให้พ.ร.ก.ผ่านแบบไม่มีเงื่อนไขอย่างแน่นอน รัฐบาลต้องตอบรายละเอียดต่อสภาว่าเอาเงินไปใช้อะไรบ้าง ถ้าตอบและให้สัญญาต่อสภาก็ถือว่าเป็นคำมั่นอย่างหนึ่ง" ด้าน นายพิจารณ์ กล่าวว่า ฝ่ายค้านได้จัดสรรเวลารัดกุมมากขึ้น โดยการอภิปรายในแต่ละวันประมาณ 10.30 ชั่วโมง และยังแบ่งเวลาอย่างละเอียดด้วยความรัดกุมอย่างมาก เพื่อให้แต่ละพรรคได้อภิปรายครบถ้วน การเปิดสภาครั้งใหม่ ฝ่ายค้านร่วมกันบริหารเวลาอย่างดีจะไม่มีปัญหา แต่เรามีความกังวลว่าในเรื่องการบริหารเวลาในการเปิดประชุมแต่ละวันจะต้องมีนับองค์ประชุมใหม่ทุกวัน หากเปิดประชุมได้ช้าเวลาในการอภิปรายจะลดลงไป ดังนั้น จึงอยากให้มีการเปิดประชุมสภาได้ตรงเวลา ฝ่ายค้านไม่มีปัญหา กลัวรัฐบาลมาไม่ครบองค์ประชุม ขณะที่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า โดยหน้าที่รับผิดชอบองค์ประชุมจะไม่ได้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลฝ่ายเดียว แต่จะเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน โดยตามขั้นตอนถ้าสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอนุมัติพระราชกำหนด หรือถ้าวุฒิสภาไม่อนุมัติและสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้พระราชกำหนดนั้นมีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป เมื่อถามว่า เมื่อฝ่ายค้านเห็นว่าการตราพระราชกำหนดเป็นการตีเช็คเปล่าและไม่มีรายละเอียดแล้วทำไมต้องอภิปรายถึง 5 วัน นายสุทิน กล่าวว่า เบื้องต้นยังไม่มีรายละเอียดเหมือนกับการตีเช็คเปล่า แต่ต้องดูการชี้แจงรัฐบาลว่าจะมีรูปเล่มหรือคำอธิบายหรือไม่ หากไม่มีรูปเล่มรายละเอียดจะต้องมีการบันทึกในสภาฯไว้เป็นหลักฐานที่สามารถไว้วางใจและเห็นชอบได้หรือไม่ เมื่อถามว่า การบริหารเวลาฝ่ายค้านในครั้งนี้จะไม่ซ้ำรอยกับเมื่อครั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ทำให้ส.ส.อนาคตใหม่บางคนไม่ได้อภิปราย นายสุทิน กล่าวว่า เราเอาบทเรียนในอดีตมาแก้ไข เราจัดสรรเวลาแบบวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้การประชุมสภาฯ มีปัจจัยหลายเรื่องแต่เราจะให้เกิดความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง และหัวหน้าพรรคพปชร. ได้เดินทางเข้ามาตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีรายงานข่าวแจ้งว่า นายอุตตมได้เดินทางไปพบ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เพื่อหารือถึงแผนฟื้นฟูการบินไทย ซึ่งมี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม รออยู่ที่ห้องของนายวิษณุอยู่ก่อนแล้ว ขณะที่ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำ