โครงการเรียนรู้ศก.พอเพียงพัฒนายั่งยืน โดยเมล็ดพันธุ์ทนแล้ง-โตได้ในดินเปรี้ยว-ดินเค็ม แบ่งพื้นที่ปลูกเป็น 4 ส่วน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) จัดกิจกรรมหว่านข้าว ณ โครงการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (เขตพื้นที่ขามเรียง) โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดี พร้อมผู้บริหาร และบุคลากร กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกันหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ105 ซึ่งเป็นข้าวที่มีคุณสมบัติทนแล้งได้ดี เมล็ดข้าวสารใส หุงต้ม อ่อนนุ่ม มีกลิ่นหอม ทนต่อสภาพดินเปรี้ยว และดินเค็ม ในแปลงสาธิต พื้นที่ 4.5 ไร่ รศ.ดร.ประยุกต์กล่าวว่า โครงการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน มีเนื้อที่ 15 ไร่ มีแปลงเกษตรสาธิต สำหรับนิสิต บุคลากรมหาวิทยาลัย และประชาชนทั่วไป เพื่อการศึกษาเรียนรู้ผลผลิตปลอดสารพิษ และหวังเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ได้แบ่งพื้นที่ตามอัตราส่วน 30:30:30:10 ดังนี้ ส่วนที่ 1 (พื้นที่ 30%) ขุดสระน้ำ เลี้ยงปลา พืชน้ำ และกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร ซึ่งบริเวณขอบสระ จะปลูกหญ้าแฝกช่วยยึดเกาะหน้าดินป้องกันการพังทลายของดิน ส่วนที่ 2 (พื้นที่ 30%) ปลูกข้าวนาปี และปลูกพืชหลังนา ปอเทือง ข้าวโพด และทานตะวัน ในส่วนของแปลงนาได้วางระบบน้ำ ขุดคลองไส้ไก่โดยรอบ สามารถเลี้ยงปลาในคลองได้ด้วย ส่วนที่ 3 (พื้นที่ 30%) ปลูกไม้ผลยืนต้นเป็นพืชหลัก ปลูกพืชไร่ พืชผักปลอดสาพิษ และปลูกพืชอายุสั่นหมุนเวียนมีจำหน่ายตลอดทั้งปี และส่วนที่ 4 (พื้นที่ 10%) สร้างที่พัก ศูนย์ประชุมขนาดเล็ก เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนต่างๆ เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางด้านเกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ พลังงานทดแทน การปศุสัตว์ ส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน ทั้งนี้ โดยมีแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ นอกจากนี้ ในอนาคต อาจจะมีร้านค้าเพื่อจำหน่ายสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ในบริเวณนี้ พร้อมทั้งเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ มีเส้นทางปั่นจักรยาน เส้นทางวิ่งออกกำลังกาย เพื่อให้นิสิตและบุคลากร ตลอดจนประชาชนทั่วไป สามารถเข้ามาพักผ่อนได้ เป็นอีกสถานที่เช็คอิน อีกสถานที่หนึ่งในมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ไม่ควรพลาด อธิการบดีกล่าว