“นายช่างศิลปกรรมอาวุโส”กลุ่มงานศิลปะประยุกต์ฯ สำนักช่างสิบหมู่ เผยแบบผ้าม่านประดับพระเมรุมาศ“ในหลวง ร.9” ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ “อินทร์ พรหม” ทอไหมสีทอง มอบกลุ่มทอผ้าปักธงชัย เริ่มทอผ้าแล้ว เด็กศิลปาชีพเกาะเกิด จ.อยุธยาร่วมฉลุลายไม้พระโกศจันทน์ เมื่อวานนี้ (20 พ.ค. 60) นายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มงานศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินงานจัดทำผ้าม่านประดับพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอุลยเดช ว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการออกแบบผ้าม่านประดับพระเมรุมาศ ทั้ง 4 ด้านเสร็จแล้ว แต่ละด้านแยกออกเป็น 2 ผืน รวมจำนวน 8 ผืน มีความสูง 15 เมตร โดยได้ออกแบบเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ อินทร์ พรหม โคมลายกนก นกคาบออกรูปทวยเทพถวายกร ประกอบด้วย ท้องผ้าม่านเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ อินทร์ พรหม ใจกลางลายพุ่มข้าวบิณฑ์เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณสามเศียรรายล้อมด้วยลายกนกเปลว ส่วนฐานของช้างเอราวัณออกแบบเป็นลายหน้าสิงห์ขด ขณะที่ตัวโคมลายหรือที่ครอบลาย เป็นลายเทพยดาพนมกร ประดับทั้ง 4 ขาของตัวโคม และตัวห้ามลายเป็นรูปพระพรหม สื่อความหมายรวมเป็น อินทร์ พรหม ตามหลักของราชประเพณี ที่มีอินทร์ พรหมเคียงข้างพระราชยาน อีกทั้งเขาพระสุเมรุ เป็นที่สถิตของพระอินทร์ด้วย นายสมชาย กล่าวว่า ในส่วนสังเวียนหรือลายขอบและเชิงผ้า อยู่ระหว่างทำการดราฟจัดเส้นลวดลายด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นลายหน้ากระดาน มีลายเนื่อง 2 แถว และช่อแทงท้องม่าน ส่วนด้านล่างของผ้าม่านมีลายเชิง สังเวียนรอบคาด อีกทั้งลายกรวยเชิง ในส่วนปลายม่านเป็นช่อห้อยลงมา โดยคาดว่าจะออกแบบสังเวียนให้แล้วเสร็จภายในเดือนพ.ค.นี้ โดยขณะนี้ได้ทยอยส่งแบบไปยัง กลุ่มทอผ้าปักธงชัย ให้เริ่มทอผ้าแล้ว และได้นำทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรโดยภาพรวมแล้ว อย่างไรก็ตามในการออกแบบผ้าม่านครั้งนี้ได้ดูเค้าโครงมาจากลายผ้าไทยโบราณ โดยในส่วนทวยเทพ และช้างเอราวัณเป็นสีขาวเงิน ตัดลายด้วยสีแดงเข้มเปลือกลิ้นจี่ และใช้น้ำตาลเข้มตัดขอบในส่วนพระพรหมและตัวห้ามลายจะมีการทอด้วยไหมสีทอง การออกแบบช้างเอราวัณสามเศียรได้นำต้นแบบมาจากตราไอราพตของโบราณ เป็นตราประทับเครื่องหมายแทนองค์พระมหากษัตริย์ที่ใช้เกี่ยวกับงานราชการ “สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการจัดทำพระโกศจันทน์ ขณะนี้ อยู่ระหว่างขั้นตอนการขึ้นเหล็กทำเป็นโครงสร้าง มีลวดลายหลักกว่า 10 ลาย โดยในส่วนจงกลที่เป็นกลีบบัว ได้มอบให้เด็กและเยาวชนที่ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จ.พระนครศรีอยุธยา ทำการแกะสลักไม้จันทน์เป็นรูปเทพยดา ก่อนที่จะนำมาฉลุซ้อนไม้เพื่อนำมาประดับส่วนตรงใจกลางพระโกศจันทน์” นายสมชาย กล่าว