บรรณาลัย / โชติช่วง นาดอน พระสุริยะเทพในไทย ประติมากรรมเศียรพระสุริยะเทพที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน แม้จะมีเพียงองค์เดียว แต่ก็เป็นโบราณวัตถุที่ล้ำค่า และจุดประกายความคิดให้ใฝ่รู้เรื่องราวปัญหาต่อไปได้ไม่รู้จบ มนุษย์ดึกดำบรรพ์บูชาปรากฏการณ์ธรรมชาติ นับถือดิน น้ำ-ฝน ลม ไฟ , พระแม่ธรณี พระแม่คงคา พระวรุณ พระพาย พระอาทิตย์ คล้ายๆ กันทั่วโลก ต่อมาเมื่อวัฒนธรรมก่อรูปขึ้นตามรากฐานสภาวะแวดล้อม มนุษย์จึงสร้าง เรื่องและรูปเคารพแตกต่างกันไปตามรากฐานภูมิวัฒนธรรมแวดล้อมนั้นๆ การบูชาพระอาทิตย์ - สุริยะเทพ มีอยู่ทั่วโลก กล่าวสำหรับประติมากรรมพระสุริยะที่พบในประเทศไทย มีต้นตอที่มาทั้งจากศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ มีประติมากรรมพระสุริยะในศิลปวัตถุพุทธยุคโบราณถึงสมัยทวาราวดีตอนต้นด้วยหรือ ? บางท่านอาจจะไม่ได้สังเกตว่าประติมากรรมพระธรรมจักร ทาราวดียุคต้นนั้น ที่ฐานธรรมจักรมีประติมากรรมเทพองค์หนึ่ง เมื่อก่อนนักวิชาการถกเถียงกันมากว่า คือเทพองค์ใด แต่ปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่คงยอมรับกันแล้วว่าคือ “พระสุริยะเทพ” ศิลปะรูปพระสุริยะเทพที่พบทางภาคใต้ของประเทศไทย มีอิทธิพลจากศิลปะปาละและคล้ายคลึงกับศิลปะชวา ดังเช่น ประติมากรรมพระสุริยะเทพ พบที่โบราณสถานหมายเลข 29 บ้านกูวิง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ส่วนสำหรับพระสุริยะเทพสายศาสนาพราหมณ์นั้น ผู้เขียนแบ่งเป็นสองยุคเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ยุคแรก ประติมากรรมสุริยะเทพที่โดดเด่น มีอัตลักษณ์ เป็นศิลปะมรดกโลกชั้นยอด คือโบราณวัตถุที่พบในแหล่งโบราณคดี เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่ประติมากรรมชิ้นงดงามยอดเยี่ยมของโลกของศรีเทพนั้น ส่วนใหญ่เป็นสมบัติของเอกชน (พิพิธภัณฑ์) ในต่างประเทศ “พระสุริยะเทพศรีเทพ” นั้นอยู่ในยุคก่อเกิดอาณาจักรเจนละ (พุทธศตวรรษที่ 11) ลงมาจนถึงก่อนอาณาจักรพระนคร(พุทธศตวรรษที่ 15) ผู้เขียนคิดว่า เป็นศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจาก “จามปา” มากกว่าจะรับจากอินเดียเหนือโดยตรง ที่ผู้เขียนคิดอย่างนั้น เพราะ “จามปา” เจริญทางการคมนาคมค้าขายกับอินเดียมาก่อนดินแดนส่วนใน จามปาขยายอิทธิพลเข้าสู่ดินแดนส่วนใน สร้างสัมพันธ์แนบแน่นกับกลุ่มต้นเค้าของเจนละ (แถบจำปาศักดิ์และลุ่มปากแม่น้ำมูล) ด้านหนึ่งเพื่อเพิ่มแหล่งวัตถุดิบสินค้า อีกด้านหนึ่งเพื่อแข่งขันกับฟูนัน จนในที่สุด ฟูนันพ่ายแพ้แก่มเหนทรวัน (พระเจ้าจิตรเสนแห่งลุ่มแม่น้ำมูล) , อีศานวรมัน (โอรสพระเจ้าจิตรเสน) เจนละรุ่งเรืองเกรียงไกรขึ้นเรื่อยๆ คติบูชาพระสุริยะ มีหลักฐานชัดเจนในศิลปะยุคก่อนอาณาจักรพระนคร ทางทิศใต้เจนละขยายรุกคืบสร้างธานีใหม่ๆ จนในที่สุดก่อตัวเป็นอาณาจักรพระนคร ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ขยายอำนาจลงไปคุมเมืองท่า(ในภาคตะวันออกของประเทศไทย) ทางทิศตะวันตกประชิดกับกลุ่มทวาราวดี (วัฒนธรรมพุทธ) ที่ศรีจนะศะ (เมืองเสมา) - ศรีเทพ แต่พระเจ้าอีศานวรมันก็สามารถส่งอิทธิพลต่อศรีเทพได้มาก (ดูจากศิลปะวัตถุ) อาจกล่าวได้ว่า สกุลช่างศรีเทพ เป็นกลุ่มที่สืบทอดศิลปะพระสุริยเทพต่อจากเจนละตอนต้นได้โดดเด่นและมีอัตลักษณ์ที่สุด เมื่อพิจารณาพระเศียรพระสุริยะเทพ ในพิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน (ได้จากชลบุรี) เราเห็นความแตกต่างจากอัตลักษณ์ของสกุลช่างศรีเทพชัดเจน นั้นคือ “ประภามณฑล” มีรัศมี ส่วนประภามณฑลศิลปะศรีเทพที่พบที่พบทุกองค์ “เรียบ” ไม่มีเส้นรัศมี “กิรีฎมุกุฏ” หมวกแขก ศิลปะศรีเทพ นิยมจำหลักลายดอกไม้ ส่วนที่พบในชลบุรี ไม่มีลายดอกไม้ ยุคสอง สุริยะเทพลดฐานะลงเป็นเพียงเทพนพเคราะห์ ต่อมาก่อนถึงสมัยอาณาจักรพระนคร ความนิยมรูปเคารพพระสุริยะเทพเริ่มเปลี่ยนไปเป็น เทพนพเคราะห์ , เทพโลกบาลประจำทิศ มีปรากฏตั้งแต่ปราสาทหินพิมาย ปราสาทพนมรุ้ง และเกือบทุกปราสาทในสมัยต่อๆ มา ประติมากรรมพระสุริยะเทพประทับยืนองค์ใหญ่ๆ หายไป ไม่นิยมสร้าง พระสุริยะเทพในยุคสองนี้ นิยมสร้างในท่าประทับนั่ง มีม้าเป็นพาหนะ ภาพจากห้องสมุด ศ. มจ.สุภัทรดิศ ดิสกุล ทับหลังจากปราสาทบ้านเบญจ์ อำเภอเดชอุดม ศิลปะเขมรแบบเกลียง ราวครึ่งแรกของศตวรรษที่ 16 รูปจำหลักเทพนพเคราะห์ อันได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอัคนี พระนารายณ์ พระอินทร์ พระพาย พระยม พระราหู และพระเกตุ แสดงคติความเชื่อในศาสนาฮินดูที่เข้ามามีอิทธิพลต่อผู้คนในแถบนี้ นอกเหนือไปจากการนับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก (ขอบคุณภาพจาก http://oknation.nationtv.tv/blog/supawan/2008/11/27/entry-1) เทพนพเคราะห์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์ แผ่นหินสลักนี้มีลักษณะคล้ายกับทับหลังที่ใช้ประดับอยู่บนกรอบประตูของปราสาทแบบเขมร แต่แผ่นหินนี้มีขนาดเล็กกว่ามาก วัตถุประสงค์ของการทำประติมากรรมลักษณะนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด เทวดานพเคราะห์ที่ปรากฏอยู่บนแผ่นหินชิ้นนี้ประกอบด้วยเทพ 9 องค์ (จากซ้ายไปขวา) คือ 1. พระอาทิตย์ทรงม้า 2. พระจันทร์ประทับนั่งบนแท่นลายดอกบัว 3. พระวายุหรือพระพายทรงกวาง 4. พระขันธกุมารทรงนกยูง 5. พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ 6. พระกุเวรทรงม้า 7. พระอัคนีทรงแกะ 8. พระราหูมีร่างกายท่อนล่างเป็นงู 9. พระเกตุทรงสิงห์ จากลักษณะการแต่งกายของเทวดานพเคราะห์ โดยเฉพาะการชักชายผ้านุ่งด้านหน้า แสดงถึงอิทธิพลของศิลปะเขมรแบบบาปวน (พ.ศ.1553 – พ.ศ.1623) ขอบคุณภาพจากกรมศิลปากร