ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทย ไตรมาส 1/2563 ไว้ว่าจะหดตัวราว 1.8%YoY จากปัจจัยลบหลายอย่าง ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาวะภัยแล้ง และความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2563 ทำให้แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยแทบทุกตัวหดตัวลง ยกเว้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ยังขยายตัวได้ 3.0% YOY ซึ่งเป็นผลของปัจจัยชั่วคราวจากการซื้ออาหารและเครื่องดื่มก่อนประกาศล็อกดาวน์ ในขณะที่ทั้งปี 2563 ภาพรวมการใช้จ่ายครัวเรือนคาดว่าจะหดตัวที่ -1.5% ท่ามกลางการว่างงานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานประกอบการหยุดชั่วคราวในช่วงเดือน เม.ย. และธุรกิจทยอยปิดกิจการ ทำให้กำลังซื้อและบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยลดลง โดยเฉพาะสินค้าคงทน นอกจากนี้ยังอีกระบุว่า แม้ว่าการแพร่ระบาดจะคลี่คลายลงในไตรมาส 2/2563 และไม่มีการแพร่ระบาดซ้ำ แต่เศรษฐกิจไทยจะยังไม่สามารถพลิกฟื้นกลับมาได้เร็ว เนื่องจากแนวทางการดำเนินธุรกิจภายใต้เงื่อนไขการรักษาระยะห่าง โดยเฉพาะในภาคบริการ ทำให้ธุรกิจมีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น ในขณะที่รายรับถูกจำกัดด้วยกำลังซื้อและเงื่อนไขการรักษาระยะห่าง อีกทั้งการแพร่ระบาดในต่างประเทศ ยังทำให้เศรษฐกิจไทยต้องหันกลับมาพึ่งพิงตลาดในประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยมาตรการภาครัฐที่กำลังดำเนินการอยู่จะช่วยประคับประคองการดำรงชีพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้สามารถผ่านวิกฤตินี้ไปได้ ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีแรกจะหดตัวลึกกว่าการหดตัวในช่วงครึ่งปีหลัง โดยในไตรมาสที่ 2 จะหดตัวลึกที่สุดราว -10% ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2563 หดตัวราว -5.0% หากไม่มีการระบาดรุนแรงอีกระลอก อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเทียบไตรมาสต่อไตรมาสในช่วงครึ่งปีหลังอาจเป็นบวกได้ แต่เนื่องจากสถานการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศยังไม่กลับมาเป็นปกติ ดังนั้นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าอาจยังคงติดลบอยู่เล็กน้อย