เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ ยกระดับการทำงานในห้องฉุกเฉินทุกรพ.ป่วยไม่ฉุกเฉินให้พบหมอตามนัด คัดกรองญาติมาเยี่ยมสวมหน้ากาก ลดแออัดในโรงพยาบาล ป้องกันการแพร่เชื้อ 23 พ.ค.2563 กระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการปฏิบัติงานในระบบการแพทย์ฉุกเฉินในวิถีใหม่ new normal emergency care system เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งปัจจุบันห้องฉุกเฉินมีความแออัด ส่งผลให้สมรรถนะในการดูแลผู้ป่วย หรือทำให้เกิดความปลอดภัยลดลง จึงมีการพัฒนาคุณภาพห้องฉุนเฉิน ผ่านการคัดกรอง โดยบริการผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉินให้มารับบริการตามนัด และให้ผู้ป่วยฉุกเฉินเข้าสู่การบริการตามความรุนแรงของอาการต่อไป เพื่อให้เกิดความปกติใหม่ โดยจะมีการพิจารณาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดภายในห้องฉุกเฉิน รวมทั้งห้องความดันลบ โดยคัดกรองตามความรุนแรงของผู้ป่วย การป้องกันการติดเชื้อในเจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์และญาติผู้ป่วย พร้อมนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดระบบด้วย เพื่อให้เป็น New Normal อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานดังกล่าว ได้มีการสื่อสารไปยังโรงพยาบาลทุกระดับแล้ว เพื่อปรับให้เกิดความปลอดภัยอย่างเต็มที่ สำหรับญาติที่มาเยี่ยมผู้ป่วยในสถานการณ์โควิด-19 จะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ประเมินความเสี่ยงด้วยตนเอง ปฏิบัติตามข้อกำหนดของโรงพยาบาลและให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่ รวมทั้งล้างมือเป็นประจำ ส่วนกรณีที่มีประชาชนกังวลว่าหากเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 2 ยืนยันว่าขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าระบบสาธารณสุขของประเทศยังคงดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเครื่องมือแพทย์รองรับผู้ป่วยอย่างเพียงพอ ด้านนพ.เฉลิมพล ไชยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 10 โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า ห้องฉุกเฉินเป็นหนึ่งในจุดเสี่ยงแพร่เชื้อโดยเฉพาะหัตการที่ต้องปั้มหัวใจ และใส่เครื่องช่วยหายใจ ดังนั้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด -19 จึงต้องมีการปรับระบบการแพทย์ฉุกเฉินใหม่ ตั้งแต่การปรับโครงสร้างของห้องฉุกเฉิน ปรับรถพยาบาลฉุกเฉินโดยเฉพาะรถรุ่นเก่าต้องปิดช่องเชื่อมต่อระหว่างห้องผู้โดยสารกับห้องคนขับ ในส่วนของการเตรียมทีมแพทย์ออกไปรับผู้ป่วยต้องคิดเสมือนว่าผู้ป่วยติดโควิด-19 ดังนั้นทีมที่ออกไปรับผู้ป่วยต้องสวมชุดป้องกันขั้นสูงออกไปรับผู้ป่วย โดยรถขั้นสูงนี้จะเตรียมแยกเอาไว้อย่าน้อย 1 คัน อุปกรณ์ภายในรถเป็นแบบใช้แล้วทิ้ง เมื่อรับผู้ป่วยมาจากข้างนอกจะต้องมีการนำเข้าไปกู้ชีพในห้องความดันลบก่อน และลดจำนวนบุคลากรกู้ชีพเหลือประมาณ 3 คน หากต้องมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย จะใช้รถเข็นความดันลบ แทนเตียงปกติ ซึ่งแนวทางปฏิบัติทั้งหมดนี้จะเป็นแนทางสำหรับห้องฉุกเฉินในรพ.ทุกแห่ง โดยสิ่งสำคัญที่สุดของห้องฉุกเฉินจะต้องไม่แออัด และต้องเป็นพื้นที่สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างแท้จริง