เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 พ.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โลกโซเชียลมีเดียและเพจต่างๆ ทั่วทั้ง จ.ขอนแก่น ได้มีการเผยแพร่ภาพคลิปวีดีโอเหตุการณ์ชายรูปร่างสันทัด เข้ามาด้านหลังร้านอาหารที่ตั้งติดอยู่กับกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น โดยใช้เวลาไม่นานทำการงัดเอาปั๊มน้ำที่ตั้งอยู่ด้านหลังร้านหลบหนีไป โดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที พร้อมข้อความระบุว่า “เตือนภัย ️บุคคลในภาพได้ตระเวนลักทรัพย์ตามร้านต่าง ๆย่านกังสดาล มข.เหมือนซ้ำเติมกันเลยครับร้านก็ต้องปิดยังมาขโมยกันอีก ใครมีเบาะแสหรือรู้จักโจรรายนี้รบกวนinboxมาที่ผมด้วยครับ ขอบคุณครับ” ในเวลาต่อมาผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุ ตามภาพที่ปรากฎที่ร้านเพลิน เพลิน ตั้งอยู่เลขที่185/58 ถ.กัลปพฤกษ์ ซึ้งมีรั้วติดกับกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น ซึ่งร้านแห่งนี้ถูกปิดไปตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.2563 ตามคำสั่งของจังหวัดในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด- 19 โดยพบกับนายณัฐพล หฤทย์ภาวศุทธิ อายุ 37 ปี เจ้าของร้าน “เพลิน เพลิน” ที่ได้พาเดินดูจุดที่คนร้ายลงมือก่อเหตุภายในร้าน โดยนายณัฐพล กล่าวว่า ร้านได้ปิดทำการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนหน้านี้ได้จ้างคนงานมาดูแลร้าน แต่ช่วงหลัง ได้ปิดไว้โดยแวะเวียนมาดูทรัพย์สินภายในร้านทุกวัน ก่อนเกิดเหตุวันเสาร์ที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมามีฝนตกลงมาอย่างหนักทำให้ไฟฟ้าดับ จนกระทั่งวันอาทิตย์ที่ 17 พ.ค.ได้เข้ามาดูอีกครั้งพบความผิดปกติ ห้องเก็บของถูกงัดของภายในร้านหายไป ประกอบด้วย พัดลมตัวใหญ่ จอคอมพิวเตอร์ และเมื่อเดินไปดูด้านหลังร้านพบว่าปั้มน้ำถูกขโมยไปด้วย รวมมูลค่ากว่า 20,000 บาท "ขณะนี้ยังไม่ทราบว่ามีทรัพย์สินอะไรหายไปอีก เพราะของในร้านมีจำนวนมาก ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ร้านเคยถูกคนร้ายเข้ามาขโมยเก้าอี้และทรัพย์อื่น ๆ ไป จึงอยากเตือนภัยกับผู้ประกอบการร้านอาหารด้วยกัน เพราะช่วงนี้ต้องปิดกิจการอาจไม่มีคนเฝ้าร้าน ซึ่งต่อไปคงจะต้องจ้างคนมาเฝ้า เพราะขนาดเป็นช่วงเวลากลางวันยังมีคนร้ายเข้ามาขโมยของได้ อีกทั้งร้านก็ตั้งติดกับตำรวจภูธรจังหวัด ที่มีตำรวจอยู่จำนวนมาก แต่ก็เกิดเหตุการณ์ขึ้น อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้นำหลักฐานเข้าแจ้งความที่ สภ.เมืองขอนแก่น เรียบร้อยแล้ว" ขณะที่ ร.ต.ท.วรพรต อุติลา รอง สว.(สอบสวน)สภ.เมืองขอนแก่น กล่าวา หลักฐานจากภาพวงจรปิดเห็นใบหน้าคนร้ายชัดเจน ขณะนี้รู้ตัวคนร้ายแล้ว ซึ่งทางตำรวจจะเร่งรัดจับกุม เพราะถือว่าเป็นการซ้ำเติมผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19