สายลม แสงแดด นับเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ทั่วโลกนำมาผลิตเป็นไฟฟ้ากันอย่างแพร่หลายรวมถึงประเทศไทยด้วย แต่ความไม่แน่นอนของสายลม แสงแดดที่มีเพียงบางช่วงเวลา ยังคงเป็นปัญหาสำคัญต่อการวางแผนเพื่อผลิตไฟฟ้าให้เพียงต่อความต้องการของประชาชน หลายประเทศจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนา “ระบบพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน” หรือ RE Forecast เพื่อให้สามารถคาดการณ์ปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างแม่นยำ อย่างในประเทศโปรตุเกสซึ่งผลิตไฟฟ้าพลังงานลมเป็นอันดับ 4 ของโลก ก็มีศูนย์สั่งการหลักโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่เมืองปอร์โต สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้แบบเรียลไทม์ทั้งรายวันและรายสัปดาห์ รวมถึงพยากรณ์ล่วงหน้า 72 ชั่วโมงจะมีความแม่นยำถึง 95% เช่น หากคาดการณ์ว่าจะเกิดพายุ ศูนย์ดังกล่าวก็จะสั่งตัดการเดินเครื่องกังหันลมออกจากการผลิตไฟฟ้าในวันนั้น เพื่อป้องกันความเสียหายของกังหันลม และสั่งเดินเครื่องจากโรงไฟฟ้าหลักแทน ศูนย์ควบคุมและสั่งการการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เมืองปอร์โต้ สำหรับประเทศไทยเริ่มศึกษาระบบพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมาตั้งแต่ปี 2560 โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ศึกษาแบบจำลองการพยากรณ์ต่าง ๆ เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความแม่นยำของการพยากรณ์ คือ ข้อมูลการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในอดีตย้อนหลังประมาณ 1 – 2 ปี อาทิ ที่ตั้งของโรงไฟฟ้า อุณหภูมิ ความเข้มข้นของแสง ความเร็วลม ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ ฯลฯ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากโรงไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 30 แห่ง ทั่วประเทศ และข้อมูลการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนปัจจุบัน จากนั้นระบบพยากรณ์ที่ กฟผ. พัฒนาขึ้นจะนำข้อมูลทั้งในอดีตและปัจจุบันมาวิเคราะห์และประมวลผลด้วยระบบ AI ทำให้สามารถพยากรณ์กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง จนถึงในอีก 7 วันข้างหน้าได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำแผนการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าและปริมาณสำรองการผลิตไฟฟ้าให้สอดคล้องกับพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนที่คาดการณ์ไว้ ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าทำให้ค่าไฟถูกลง และลดผลกระทบของพลังงานหมุนเวียนต่อระบบไฟฟ้าของประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ คาดว่าระบบพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของประเทศไทยจะพร้อมใช้เต็มรูปแบบภายในปี 2564 การดำเนินงานของศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน กฟผ. นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีแผนที่จะยกระดับการพยากรณ์ให้ครอบคลุมโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั่วประเทศเพื่อให้มีความแม่นยำสูงสุด ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอุตุนิยมวิทยาเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลจากโรงไฟฟ้า เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานไฟฟ้าของอาเซียนในอนาคต