นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ในฐานะอดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ระบุว่า … [ 6 ปี รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ได้เวลายุติระบอบรัฐประหารถาวร ] 6 ปีนับตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ประเทศไทยยังคงต้องมีชีวิตอยู่ในระบอบรัฐประหาร และดูท่าจะต้องอยู่กับมันอีกหลายปีจนอาจครบทศวรรษ วันหนึ่ง แม้คณะรัฐประหารและคณะผู้สืบทอดอำนาจจะจากไป แต่มรดกของรัฐประหาร 2557 ก็ฝังอยู่ในสังคมไทยไปอีกหลายทศวรรษ รัฐประหาร 2557 จึงไม่ใช่เพียงแค่วันที่ 22 พ.ค. ที่ยึดอำนาจสำเร็จเพียงวันเดียว รัฐประหาร 2557 จึงไม่ใช่เพียงแค่ช่วงเวลาที่คณะรัฐประหารครองอำนาจเท่านั้น แต่รัฐประหาร 2557 เป็นการก่อร่างสร้าง "ระบอบรัฐประหาร" ที่จะมีอายุขัยไปอีกนานเท่านาน ระบอบรัฐประหารที่ทำลายสิทธิมนุษยชน ระบอบรัฐประหารที่เอื้อการผูกขาดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจให้แก่คนไม่กี่คน ระบอบรัฐประหารที่สร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้นๆ ระบอบรัฐประหารที่ "ฉุดรั้ง" ประเทศไทยให้ถอยกลับไปอยู่ในช่วงปี 2520 ในขณะที่ปี พ.ศ. เดินหน้าขึ้นเรื่อยๆ 6 ปีนี้ จึงมิใช่ “แค่ 6 ปี” หรือ “ตั้ง 6 ปี” แต่มันคือการถอยหลังไปอีก 40 ปี และเอาสังคมการเมืองแบบ 40 ปีก่อน ฝังไว้ต่อไปอีกอย่างน้อยๆก็ 20 ปี 6 ปี คือ 60 ปี !!! เราจะทนอยู่กับสถานการณ์เช่นนี้หรือ ? เราจะออกจากระบอบรัฐประหารได้อย่างไร ? การยุติ "วงจรรัฐประหาร" การออกจากระบอบรัฐประหาร การนำทหารออกไปจากการเมืองไทย การสถาปนาหลักการรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งอยู่เหนือกองทัพ และการสถาปนาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ทั้งหมดนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ ในขณะที่เรายังคงอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งอย่างร้าวลึกเกินกว่าทศวรรษ เราจำเป็นต้องมีพลังทางการเมืองเข้าทำหน้าที่ ฟื้นความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยให้กลับคืนมาอีกครั้ง และนำพาประเทศออกจากภาวะวิกฤติ พลังทางการเมืองนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร? ผมเห็นว่า การขีดเส้นแบ่งคู่ขัดแย้งใหม่ให้ชัดเจนเป็นปัจจัยสำคัญ คนทุกคน ไม่ว่าจะมีความคิดความเชื่อแบบใด ต่างก็เป็น "ประชาชน" ความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างประชาชนในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมาเป็นเพียงความขัดแย้งภายในระบอบประชาธิปไตยอันเป็นเรื่องปกติ ประชาชนฝักฝ่ายต่างๆ จึงมิใช่ “ศัตรู” กัน แต่เผด็จการต่างหากที่เป็น “ศัตรู” ของประชาชน คนแต่ละคน แต่ละกลุ่ม ต่างก็มีความต้องการ ข้อเรียกร้อง ความไม่พอใจ ความโกรธแค้น แตกต่างกันไป แต่ความแตกต่างเช่นว่านี้ เอาเข้าจริงแล้ว มันคือความต้องการร่วมกันของ "ประชาชน" ที่มีต่อชนชั้นนำไม่กี่คนไม่กี่กลุ่มที่ผูกขาดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจเอาไว้ คนที่ขัดแย้งกันตลอดกว่าทศวรรษ ต่างก็ไม่ชอบการผูกขาดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ คนที่ขัดแย้งกันมากว่าทศวรรษ ต่างก็ไม่ชอบให้ใครมาละเมิดสิทธิและเสรีภาพของตนเอง คนที่ขัดแย้งกันมากว่าทศวรรษ ต่างก็ไม่ชอบความเหลื่อมล้ำ คนที่ขัดแย้งกันมากว่าทศวรรษ ต่างก็ต้องการมีชีวิตที่ดี มีความมั่นคงและสวัสดิการ สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีตั้งแต่เกิดจนตาย คนที่ขัดแย้งกันมากว่าทศวรรษ ต่างก็ต้องการมีอำนาจ มีสิทธิ มีเสียง มีบทบาทในการตัดสินใจ คนที่ขัดแย้งกันมากว่าทศวรรษ ต่างก็ต้องการโอกาสใหม่ๆให้เขาได้พัฒนาและขยับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม คนที่ขัดแย้งกันมากว่าทศวรรษ ต่างก็ต้องการระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ โครงสร้างพื้นฐาน เช่นนี้แล้ว คนที่ขัดแย้งกันมากว่าทศวรรษ จะขัดแย้งกันต่อไปทำไม ในเมื่อขัดแย้งแล้ว ก็ไม่ได้การสนองตอบในสิ่งที่ต้องการ ในเมื่อขัดแย้งแล้ว ก็ยังจน ยังยากลำบาก ยังไม่มีโอกาส ยังขาดความมั่นคงในชีวิตเหมือนเดิม ตรงกันข้าม ยิ่งขัดแย้งกัน ก็ยิ่งเปิดทางให้ "เผด็จการ" เข้าครองอำนาจอย่างต่อเนื่องยาวนาน และดูดกลืนเอาทรัพยากรไปแบ่งปันกันในกลุ่มคนไม่กี่คน ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องขีดเส้นคู่ขัดแย้งใหม่ ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่าง "ประชาชนแบบหนึ่ง" VS "ประชาชนอีกแบบหนึ่ง" แต่เป็นความขัดแย้งระหว่าง "ประชาชน คนธรรมดา คนทั่วไป" VS "เผด็จการและชนชั้นนำที่ผูกขาดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ" เราจึงจำเป็นต้องรวบรวมคนทุกกลุ่ม รวบรวมความต้องการ ข้อเรียกร้อง ความอัดอั้นตันใจของคนทุกกลุ่ม เพื่อหลอมรวมเป็น “ประชาชน” สะสมกำลังทั้งปริมาณและคุณภาพเพิ่มขึ้น เพื่อเข้าเผชิญหน้ากับ "เผด็จการ" ร่วมกันก่อร่างสร้าง “ประชาชน” ให้กลับมาเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดอีกครั้ง ร่วมกันส่งเสียงออกไปว่า พอกันทีระบอบรัฐประหาร !!! เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ของพวกเรา ไม่ใช่ของพวกเขา ยุติระบอบคณาธิปไตยกินคน ปฏิรูปกองทัพ ศาล องค์กรอิสระให้เป็นของประชาชน ให้สอดคล้องประชาธิปไตย ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง รื้อ ส.ว. 250 คนตามบทเฉพาะกาลออกไป ลบล้างผลพวงรัฐประหาร นำคนก่อรัฐประหารมาดำเนินคดี พอกันทีระบอบรัฐประหาร !!! ร่วมทวงคืนอำนาจสูงสุดกลับคืนสู่เจ้าของที่แท้จริง ประชาชน