ปลัดเกษตรฯ จี้กรมวิชาการเกษตร ออกประกาศให้เอกชนเรียกคืนสารพิษ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส จากท้องตลาด-เกษตรกร ก่อนแบนสารมีผลบังคับใช้ 1 มิ.ย.นี้ ด้านเอกชน ระบุสารพาราควอต ราคาสูงขึ้นเพราะยังไม่มีสารอื่นทดแทนได้ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าหลังจากมีประกาศ ห้ามครอบครอง นำเข้า ผลิต จำหน่าย นำผ่าน ส่งออก สารกำจัดวัชพืช พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ยกเป็นวัถตุอัตรายประเภทที่ 4 ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิ.ย.63 นี้ โดยขั้นตอนระหว่างนี้ กรมวิชาการเกษตร จะต้องออกประกาศมาตรการ กรอบระยะเวลาที่ให้เอกชน เก็บคืนสารเคมี 2 ชนิด จากร้านค้าต่างๆ และเกษตรกร ให้หมดก่อนวันบังคับใช้กฏหมาย อย่างไรก็ตามคาดว่าอยู่ในท้องตลาดและเกษตรกร ไม่มากแล้วเพราะได้เลื่อนการแบนสารจากเดิมมีผลวันที่ 1 ธ.ค.62 มาเป็นวันที่ 1 มิ.ย.63 ทำให้ทุกฝ่ายมีห้วงเวลาเตรียมตัวและดำเนินการ ทั้งนี้ตนจะสอบถามไปยังกรมวิชาการเกษตร ได้ทำมาตรการรองรับเสนอแนะวิธีทำเกษตรทางเลือกให้กับเกษตรกร และบัญชีสารทดแทน แล้วหรือยังเพราะมาตรการเหล่านี้ต้องออกประกาศเป็นคำแนะนำให้เกษตรกรได้รับทราบทั่วประเทศ นายวีรวุฒิ กตัญญกุล นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอกรมวิชาการเกษตรส่งหนังสือให้ผู้ประกอบการแจ้งปริมาณการครอบครองและส่งสินค้าทั้ง 2 สารคืนกรมวิชาการเกษตรซึ่งจะกำหนดระยะเวลาส่งคืน โดยขณะนี้เชื่อว่าปริมาณสารดังกล่าวเหลือไม่มากแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีการนำเข้า เชื่อว่าจะไม่กระทบผู้ประกอบการมากและที่ผ่านรัฐได้ยืดเวลาให้แล้ว 6 เดือนเพื่อระบายสินค้า ซึ่งการแบนสารเคมี 2 ชนิด จะส่งผลให้สารไกลโฟเซตที่มีการจำกัดการใช้และสามารถทดแทนสารพาราควอตได้บางส่วนมีราคาสูงขึ้น เพราะปริมาณที่เหลือน้อยและยังไม่มีการอนุญาตนำเข้าเพิ่ม ซึ่งจะกระทบเกษตรกร โดยเฉพาะพืชไร่ เช่น อ้อย ข้าวโพด ที่จะเริ่มปลูกในช่วง 1 -2 เดือนนี้ ส่วนสารทดแทนจนถึงขณะนี้ยังไม่มีสารใดที่มีคุณสมบัติทดแทนพาราควอตได้ ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย กล่าวว่า ในช่วงการเปลี่ยนผ่านการแบน 2 สาร อาจจะทำให้เกษตกรที่ปลูกพืชบางชนิดได้รับผลกระทบ แต่เกษตรกรต้องปรับตัว เพราะขณะนี้ มีถึง 58 ประเทศยกเลิกการใช้แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ จีน เวียดนาม กัมพูชา ลาวและมาเลเซีย ได้ประกาศแบนสารดังกล่าวแล้วเช่นกัน โดยเกษตรกร มีทางเลือก ใช้เครื่องจักรกล เช่น เครื่องตัดหญ้ามาใช้แทนสารสึ หรือการปลูกพืชคลุมดิน ส่วนพืชที่มีข้อจำกัด เรื่องพื้นที่ หรือทุน เช่น หากเป็นเกษตรกรรายย่อยไม่สามารถซื้อเครื่องจักร หรือเครื่องตัดหญ้าได้ รัฐจะต้องมีการสนับสนุนผู้ประกอบการในท้องถิ่นให้บริการด้านการจัดการพื้นที่เพาะปลูก ที่สามารถให้บริการเกษตรกรรายย่อยได้ หรือการชดเชย เยียวยาพืชบางชนิดที่ได้รับผลกระทบ พร้อมเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมมาตรการรองรับหลังการแบนสารซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน สำหรับเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนนี้ จะไม่สามารถมีสารดังกล่าวไว้ในครอบครองได้หากมีไว้ในครอบครองจะมีความผิดตามกฎหมาย