สุดท้ายก็มาถึงวันที่ “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติ ต้องเข้าสู่กระบวนการ “ฟื้นฟูตามคำสั่งของศาลล้มละลาย หลังจากที่เวลานี้การบินไทยไม่สามารถทำกำไรจากธุรกิจได้ และที่อยู่ทุกวันนี้ได้ก็เพราะเงินกู้ หรือ เงินสนับสนุนจากรัฐบาลในงบประมาณประจำปี จนเป็นที่มาของการประกาศไฟเขียวจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนิน “กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย” เพื่อหวังให้กลับมาเป็นองค์กรที่สร้างความรุ่งเรืองให้ประเทศได้อีกครั้ง ก่อนวิกฤติ COVID-19 ในปี 2563 สถานการณ์การเงินของบริษัทการบินไทยนับว่าไม่สู้ดีนัก เพราะมีกระแสเงินสดไม่พอในการใช้ชำระหนี้ตามข้อผูกพันเดิม โดยในปี 2562 พบว่าการบินไทยขาดทุน 12,016.47 ล้านบาท (ซึ่งยังไม่นับรวมผลกระทบจาก COVID-19) ขณะที่งบการบินไทยปี 2562 ที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ ปี 2561 ขาดทุนสุทธิ 11,569 ล้านบาท ปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 12,016 ล้านบาท ที่น่าสนใจคือ ค่าใช้จ่ายหลัก ประกอบไปด้วย อันดับ 1 ค่าน้ำมัน 54,675 ล้านบาท อันดับ 2 ค่าใช้จ่ายผลประโยชน์ของพนักงาน 31,171 ล้านบาท อันดับ 3 ค่าบริการการบิน 21,058 ล้านบาท อันดับ 4 ค่าซ่อมและค่าบำรุงรักษา 19,321 ล้านบาท และอันดับ 5 ค่าเช่าเครื่องบินและอะไหล่ 15,892 ล้านบาท ด้วยสถานะการเงินของการบินไทยก่อนวิกฤติ COVID-19 ที่หนักหนาสาหัสเช่นนี้ จึงทำให้เส้นทางข้างหน้าเต็มไปด้วยขวากหนามมากขึ้นอีก โดยหนี้สินต่อต้นทุนของบริษัทการบินไทย เหลือทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท และมีหนี้สิน 250,000 ล้านบาท หรือกว่า 25 เท่าของทุน และมีหนี้สินต่อกระแสเงินสดปี 2562 คิดเป็น 70 เท่า ซึ่งล่าสุดการบินไทยเลื่อนประกาศผลประกอบการประจำปีไปจนถึงเดือนสิงหาคม ขณะที่ “จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล” รองประธานกรรมการคนที่ 2 รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย กล่าวว่า แม้การบินไทยจะดำเนินการตามแผนฟื้นฟูธุรกิจภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลาง แต่ก็ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการขนส่งผู้โดยสารไปยังจุดหมายปลายทางของทั่วโลก หรือการขนส่งสินค้าไปรษณียภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับการฟื้นฟูองค์กรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานและพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์และการบริการให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ส่วนด้านพนักงานการบินไทยโดย “สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย” ได้แสดงจุดยืนเรื่องแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเห็นด้วยที่การบินไทยจะเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ ผ่านศาลล้มละลายกลาง เพราะส่งผลดีที่จะฟื้นฟูได้จริงและกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การที่กระทรวงคมนาคม เสนอให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือครองหุ้นนั้น ขอคัดค้านเพราะการบินไทยกำลังเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ การจะลดสัดส่วนหุ้นในขณะนี้ อาจส่งผลให้เจ้าหนี้ยื่นคัดค้าน การร้องขอต่อศาลในการขอฟื้นฟูกิจการ และทำลายความเชื่อมั่นของการบินไทย ส่งผลทำให้สหภาพฯถูกยุบไปตามกฎหมาย ส่งผลทำให้พนักงานไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานในช่วงทำแผนฟื้นฟู อาจมีการปรับลดพนักงาน ลด หรือยุบ บางตำแหน่งงาน รวมถึงลดสิทธิประโยชน์และสวัสดิการอื่นๆของพนักงาน ขณะที่ในมุมมองของนักวิชาการ และผู้เชียวชาญธุรกิจการบิน “ชัยศักดิ์ อังค์สุวรรณ” อดีตรองปลัดคมนาคม อดีตอธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ และผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการบิน ให้มุมมองในการฟื้นฟูการบินไทยว่า ปัญหาการบินไทย คือ ต้องทำให้ธุรกิจกลับมาคล่องตัว และสามารถแข่งขันกับสายการบินอื่นได้ ส่วนประเด็นสายการบินแห่งชาตินั้น ปัจจุบันมีการเปิดเสรีด้านการบินไปแล้ว ผู้ใช้บริการมีทางเลือกมากมายที่เหมาะกับความต้องการ และกำลังซื้อของผู้โดยสาร ดังนั้นในช่วงเวลาที่ธุรกิจการบินทั่วโลกได้รับผลกระทบจากปัญหาการระบาดโควิด-19 และไม่รู้ว่าจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้เมื่อไหร่นั้น ถือเป็นจังหวะที่ดีที่การบินไทยจะใช้เวลาช่วงนี้เร่งฟื้นฟูกิจการตัวเองให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง เช่นเดียวกับ “สุเมธ องกิตติกุล” ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า สายการบินแห่งชาติไม่ได้จำเป็นในยุคเปิดเสรีน่านฟ้า และเห็นว่าการมีรัฐเป็นเจ้าของ หรือเอกชน ไม่สำคัญเท่าผลสำเร็จของการบริหารจัดการที่ต้องมีประสิทธิภาพแข่งขันได้ ดังนั้น “การบินไทย” ที่เดินหน้าเข้าสู่ “กระบวนการฟื้นฟูศาล” จึงเป็นเรื่องวัดใจรัฐบาลอีกครั้ง! แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สะสม 250,000 ล้านบาท จะสำเร็จหรือไม่!?! บอกได้เลยว่างานนี้มีแค่ 2 ทางเลือกเท่านั้น คือ รุ่ง – เจ๊ง!!!