ถูกยกให้โรคอุบัติใหม่ที่ร้ายเหลือ สำหรับ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดลุกลามไปแล้ว 213 ประเทศ ทั่วโลก ณ ชั่วโมงนี้ พร้อมกับพ่นพิษทำผู้ติดเชื้อต้องเจ็บป่วยล้มตาย จำนวนนับแสน นับล้าน โดยผู้ป่วยติดเชื้อทั่วโลกมีจำนวนราว 5 ล้านคน และจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตกว่า 3.2 แสนราย สำหรับ ตัวเลขที่มีรายงานล่าสุด นอกจากนี้ ภัยร้ายโควิดฯ ยังพ่นพิษต่อเศรษฐกิจ อันเป็นวิกฤติปัญหาเรื่องปากท้องของประชาคมโลกแบบถูกถล่มกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติร่ำรวยพัฒนาแล้ว และกลุ่มชาติที่กำลังพัฒนา ตลอดจนกลุ่มชาติด้อยพัฒนา ที่มีฐานะยากจน ประชากรในประเทศเหล่านั้นล้วนต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนทั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กลุ่มคนยากจน” ที่พำนักอาศัยในประเทศต่างๆ นั้น ทาง “ธนาคารโลก” หรือ “เวิลด์แบงก์” ซึ่งมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวของสหรัฐฯ ออกมาแสดงทรรศนะด้วยความวิตกยิ่ง เป็น “นายเดวิด มาลแพสส์” ประธานธนาคารโลก ออกมาแสดงทรรศนะด้วยตัวเอง โดยระบุว่า ประชากรโลกที่มีฐานะยากจนเป็นทุนเดิมแล้วจำนวนไม่ต่ำกว่า 60 ล้านคน จะถูกผลักให้ไปสู่ภาวะ “ความยากจนอย่างรุนแรง (Extreme poverty)” โดยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 ที่กำลังอาละวาดอยู่ ณ เวลานี้ นายเดวิด มาลแพสส์ ยังพยากรณ์สถานการณ์เศรษฐกิจโลกโดยรวม ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปีนี้ว่า อาจ “ติดลบ” ถึงร้อยละ 5 เลยทีเดียว ไม่ต้องพูดถึงการขยายตัว เติบโต ของเศรษฐกิจโลก ที่มิว่าจะอย่างไรก็ “หดตัว” แน่ๆ แตกต่างกันเพียงว่า แต่ละชาติจะได้รับผลกระทบกันกี่มากน้อย โดยไวรัสร้ายยังได้ทุบภาคการจ้างแรงงานของบรรดาลูกจ้างให้ทรุดตัวลงด้วย ซึ่งทางเวิลด์แบงก์ ประเมินว่า ประชากรโลกจำนวนหลายล้านคน ต้องประสบกับการสูญเสียการจ้างงาน คือ ถูกเลิกจ้าง และไปสู่สภาวะคนตกงานในที่สุด เช่นเดียวกับภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ นายจ้าง ก็ถูกพิษภัยของไวรัสมรณะ ทุบจนล้มเหลวในผลประกอบการ คือ ขาดทุน ไปด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ บรรดาประเทศยากจน จะสามารถรับรู้ความรุนแรงจากการโจมตีโดยไวรัสโควิดฯ นี้มากที่สุด โดยผลพวงจากไวรัสโควิด-19 นอกจากทำลายสภาพชีวิตความเป็นอยู่แล้ว ก็ยังก่อให้ภาวะตึงเครียดในระบบสาธารณสุขของประเทศต่างๆ ทั่วโลกอีกต่างหากด้วย ประธานธนาคารโลก ยังประเมินอีกด้วยว่า นอกจากประชากรคนยากจน 60 ล้านคน ต้องถูกฉุดไปสู่ภาวะยากจนอย่างยิ่งยวดแล้ว ไวรัสโควิดฯ ก็ยังพ่นพิษถึงแผนงานแก้ไขความยากจน ซึ่งดำเนินมาเป็นเวลา 3 ปีที่ผ่านมาของธนาคารโลก ถูกล้มล้างไปด้วย ชนิดที่กล่าวได้ว่า การดำเนินงานตลอด 3 ปีที่แล้วมาของทางเวิลด์แบงก์ แทบจะสูญเปล่าไปเลยก็ว่าได้ พร้อมกันนี้ ประธานเวิลด์แบงก์ ยังระบุถึงแผนการสำหรับเยียวยาประเทศยากจนที่กำลังได้ความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดฯ ด้วยว่า ได้เตรียมเม็ดเงินไว้จำนวน 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยก็ราว 5.1 ล้านล้านบาท) สำหรับการอุดหนุนแบบฉุกเฉิน และการให้กู้ฉุกเฉินแบบดอกเบี้ยต่ำ แก่ประเทศต่างๆ ราว 100 ประเทศ ทั้งนี้ ประธานธนาคารโลก ยังบอกด้วยว่า เม็ดเงินจำนวนดังกล่าว เป็นเพียงเบื้องต้นเท่านั้น เพราะตามการประเมินของทางธนาคารฯ ก็ระบุว่า ยังไม่เพียงพอต่อการเยียวยาแก่บรรดาประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่คาดว่า โลกของเรายังเผชิญหน้ากับไวรัสร้ายชนิดอีกหลายเพลา สำหรับ เกณฑ์วัด “ความยากจนอย่างรุนแรง ความยากจนข้นแค้น (Extreme poverty)” ตามที่ทางธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ กำหนดไว้ก็คือ ผู้ที่ดำรงชีพด้วยระดับรายได้ที่น้อยกว่า 1.90 ดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยราว 60.57 บาท) ต่อคนต่อวัน