คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น ผมยังติดตามเรื่องราวใน “มือปราบสัมภเวสี” ของ “หมอปลา” ทางยูทูบอยู่ ยังรู้สึกว่า ชาวพุทธไม่เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้ามากอยู่ โดยวัดจากความเชื่อหรือความเข้าใจในเรื่องสัมภเวสีนี้แหละ ออกจะอยู่ข้างหมอปลาในการปราบ “ผี” ในรูปต่างๆ เช่น ผีในรูปเจ้าเข้าทรง ผีในรูปไสยศาสตร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสักลายลงบนร่างกาย การเขียนหรือจารเลขยันต์ การเสกเป่าเพื่อความขลัง ฯลฯ ตลอดถึงการดูหมอ ดูลายมือ ฯลฯ ของวงการหมอดู แต่ก็ยังไม่ชอบวิธีรุนแรง (หรือเหมือนรุนแรง) ในการรักษาแบบ “หมอผี” ของหมอปลา อยากจะแสดงความชื่นชอบในการทุบทำลาย “ศาลเจ้า” ไม่ว่าจะเป็นศาลเจ้า (ศาลปู่-ศาลตา) ข้างทาง แต่ก็สงสารพวกสัมภเวสี ที่จำเป็นต้องอยู่กับครอบครัวของเขา หรือเขาจำเป็นต้องมีศาล(เรือนน้อย) อยู่อาศัยกับครอบครัว และนึกสงสารคนค้าขายที่ทำ “ศาล” ขายเป็นสัมมาอาชีพ พวกเขาคงจะลำบากกันทั่วหน้า ถ้าผู้คนแอนตี้ศาลพระภูมิมากขึ้น และในที่สุดคงจะเดือดร้อนไปถึงรัฐบาล(ทุกรัฐบาล) ที่มีการทำพิธีเซ่นสรวงที่หน้าศาลพระพรหมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และที่หน้าศาลพระภูมิ หน้ากระทรวงต่างๆ (ตามพิธีกรรมของศาสนาฮินดู) ผมออกจะอยู่ข้างหมอปลาที่กระทำการ “ไล่ผี” ในรูปต่างๆ แต่ก็ยืนยันว่า ผีที่หมอปลาขับไล่นั้น ไม่ใช่สัมภเวสี ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้พระสาวกขับไล่ผี ด้วยคำหยาบ หรือด้วยวิธีรุนแรงใดๆ มีแต่สอนด้วยธรรมะเป็นคำฉันท์ให้สวด เพื่อให้พวกผีได้ฟังด้วย มีแต่ความเมตตาและกรุณาต่อพวกผีทุกประเภท (รวมถึงสัตว์ร้ายต่างๆ เช่น งู เป็นต้น) เพราะไม่ว่าจะเป็นภูตผีหรือสัตว์ร้ายใดๆ ก็ล้วนแต่เป็นสัตว์โลกผู้เกิด-แก่-ตาย หรือเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฎฎ์ด้วยกัน ในพระไตรปิฎก มีกล่าวถึง “ภิกษุถูกผีสิง” เหมือนกัน แต่ไม่เคยพบคำอธิบายว่าภิกษุที่ถูกผีเข้าสิงมีอาการอย่างไร และไม่เคยพบว่า พระพุทธเจ้าจัดการรักษาอาการผีเข้านั้นอย่างไร แสดงว่าอาการผีเข้าเป็นอาการป่วยที่มีมานานแล้ว แม้แต่ในสมัยพุทธกาล ก็มีโรคหรืออาการป่วยที่เรียกว่าผีเข้าเช่นกัน แม้แต่ “การฆ่าตัวตาย” ก็มีในหมู่ภิกษุ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ห้ามไม่ได้ มีภิกษุบางรูปได้ฆ่าตัวตายสมปรารถนา ในบางเรื่องที่เกิดขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า มีเทวดาประเภท “มาร” มาเร่งให้ภิกษุฆ่าตัวตายก็มี ถ้าจะกล่าวถึง “เทวดา” ที่มีบทบาททางชั่วร้าย ก็เห็นจะเป็นเทวดาชั้น “ปรมินิมมิตวสวัตตี” ซึ่งเป็นเทวดาชั้นสูงจำพวกหนึ่ง เทวดาชั้นนี้ พระพุทธเจ้าเรียกว่า “มาร” เป็นเทวดาที่เที่ยวขัดขวางการทำดีของคน แม้แต่การดับขันธ์ปรินิพพานของพระพุทธเจ้าเอง ก็ถูกเซ้าซี้จากมารพวกนี้แหละให้ทรงปรินิพพานโดยเร็ว (เพราะอยู่ไป ก็มีแต่จะสอนให้คนทำความดี) ส่วนสัมภเวสีของหมอปลา ดูเหมือนจะไม่ใช่เทวดาชั้นสูงที่ไหน เพราะยังมีการหวังหรือรับการอุทิศส่วนกุศลอยู่ (สังเกตได้จากหมอปลามักจะชวนผู้ป่วย(ที่ถูกผีเข้า) ทำการกรวดน้ำให้แก่วิญญาณนั่นแหละ) น่าสังเกตอย่างหนึ่งว่า ในพระไตรปิฎกที่แปลเป็นไทยว่าผี “เข้าสิง” นั้น แปลจากคำว่า “อยู่อาศัย” คำว่า “สิง” เรานิยมใช้กับผี มีอีกคำแปลหนึ่งว่า “สถิต” นิยมใช้กับการอยู่อาศัยของเทวดา และคำว่าผีนั้น เรามักเข้าใจว่าเป็น “ผี” หรือ “วิญญาณ” ที่ล่องลอยไปมา ส่วนในพระไตรปิฎก(และอรรถกถา) ใช้คำว่า “อมนุษย์” หรือ “อมนุสส์” เคยส่งสัยว่า ทำไมไม่ใช้คำว่า “เทวดา” อย่างที่พวกเจ้าเข้าทรง หรือ “ร่างทรง” ของไทย ต้องการให้เข้าใจว่าเทวดามาสถิตในร่างมนุษย์ อาการของ “ผีสิง” ในพระไตรปิฎก มี 2 อย่าง คือ เป็น “อันตราย” (ขัดขวาง) เช่น เมื่อมีอาการผีเข้าภิกษุ (รูปใดรูปหนึ่ง) อนุญาตให้สวดปาติโมกข์ย่อได้ อีกอาการหนึ่งเป็นอาการ “อาพาธ” (ป่วยไข้) เช่น ภิกษุถูกผีเข้า (อมนุษย์สิง) รูปหนึ่งไปตลาดขายเนื้อสด เห็นเนื้อสดและเลือดสดๆ ก็กิน แล้วอาการผีเข้าก็หาย (เหมือนอาการของคนไทยเป็น “ผีปอบ”) พระพุทธเจ้าไปปรับอาบัติในกรณีภิกษุถูกผีเข้า(อย่างนั้น) ฉันเนื้อสดและเลือดแสดงว่า อาการป่วยอย่าง “ผีเข้า” ในสมัยพุทธกาลก็มี แต่ในพระไตรปิฎก ก็ไม่ปรากฏว่า พระพุทธเจ้าจัดการ(รักษา) อย่างไร กับอาการผีเข้านั้น? ก็เลยมาคิดว่า อาการผีเข้า คงเป็นอาการป่วยไข้อย่างหนึ่ง และน่าจะมีในทุกชาติทุกภาษา แต่ “ผี” ที่ว่านั้น เคยเข้าใจกันว่าเป็น “วิญญาณ ที่เคยอยู่ในร่างของคน เมื่อคนผู้เป็นเจ้าของร่างตายลง วิญญาณก็ลอยออกจากร่างไปหาที่เกิดใหม่ (ถ้าเป็นศาสนาที่เชื่อในพระผู้เป็นเจ้า หรือพระพรหม หรือปรมาตมัน วิญญาณนั้นก็จะลอยไปรวมเป็นหนึ่งเดียวกับวิญญาณใหญ่ในองค์พระผู้เป็นเจ้า) ส่วนพระพุทธเจ้าพบด้วยฌานหรือสมาธิว่า วิญญาณนั้นเนื่องอยู่กับขันธ์ 5 คือ รูปเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณไม่มีวิญญาณที่ล่องลอยออกจากร่าง ไม่มี “สัมภเวสี” มีแต่การไปเกิดทันที คือทุกวิญญาณมี “ภพ” (ที่เกิด) แล้วทั้งสิ้น การเกิดของวิญญาณเรียกว่า “ภูต” คำว่า “สัมภเวสี” เป็นคำในภาษาบาลี ประกอบด้วย สัมภว(การเกิด)+เอสี (ผู้แสวงหา) แต่เราเข้าใจว่าสัมภว คือ “ภพ” ก็เลยคิดอย่างความเชื่อแต่เดิมว่า สัมภเวสี คือ วิญญาณ ที่ล่องลอยหาภพที่เกิด หรือที่เราเชื่อว่าเป็น “ผี” นั่นแหละ ผมพอจะนึกเห็นว่า วิญญาณไปเกิดทันทีอย่างไร แต่ก็นึกไม่ออกว่า วิญญาณหรือภูตไปอยู่ในร่างคน อย่างที่พูดกันว่า “ผีเข้า” อย่างไร? และไม่เข้าใจว่า ทำไมพระไตรปิฎกหรือพุทธศาสนา จึงเรียกผีประเภทนี้ว่า “อมนุษย์” ไม่เรียกว่า วิญญาณ ไม่เรียกว่า “สัมภเวสี” จึงคิดว่า อมนุษย์พวกนี้ หมายถึงสัตว์โลกชั้นต่ำอย่างเปรตและอสุรกาย เป็นต้น (คงจะมีสัตว์ชั้นต่ำอีกหลายประเภท ที่เป็นอมนุษย์) ในคราวเกิดโรคระบาดที่เมืองเวสาลี ซึ่งพวกกษัตริย์ลิจฉวี ทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าและพระสาวกไปช่วย “ขับไล่” ภูตผีปีศาจ ในขณะที่ซากศพคนตายเกลื่อนเมือง ภูตผีปีศาจเหล่านั้น บาลีในพระไตรปิฎกก็ใช้คำว่า “อมนุษย์” ที่รบกวนชาวเมือง ไม่ใช้คำว่า “วิญญาณ” หรือ “สัมภเวสี” เช่นกัน ทั้งไม่พูดถึงเปรตและอสุรกายด้วย ทำให้สงสัยว่า อมนุษย์กับเปรตและอสุรกาย อยู่ในกลุ่มเดียวกันหรือไม่? สังเกตว่า หมอปลามักจะไปทำพิธีขับไล่ “สัมภเวสี” ที่เมรุเผาศพและที่ป่าช้า (ที่เก็บศพ) ท้ายวัด เขากล่าวตอนหนึ่งว่า พวกสัมภเวสีมักจะมากินเครื่องเซ่นไหว้และเครื่องไทยธรรมที่เขาวางไว้ข้างเมรุและที่ป่าช้า แสดงว่า สัมภเวสี(ที่เขากล่าวถึง) เป็นพวกอมนุษย์พวกหนึ่งซึ่งหากินของเซ่นไหว้ตามเมรุและที่ป่าช้า แต่เขาก็มักจะชวนคนป่วยทำพิธีกรวดน้ำให้ภูตผีที่เข้าสิงด้วยการกรวดน้ำ เป็นการอุทิศส่วนกุศลแก่พวกเปรต อาหารของเปรต คือ “เจตนา” ของผู้อุทิศส่วนกุศลให้ ต่างจากอาหารของเทวดาและอสุรกาย จึงคิดว่า “ผี” ที่เข้าสิงคน(ตามความเชื่อของหมอปลา) ไม่ใช่เปรต และไม่ใช่ “เทวดา” ที่มีอาหารต่างจากอสุรกาย (และ “สัมภเวสี”ของหมอปลา?) ผมมีความเห็นว่า การเข้าทรงทั้งหลาย ถ้าเป็นเรื่องที่มีจริงก็ไม่น่าจะเป็น “เทวดา” มาสิงสถิตในร่างคน เพราะเทวดามีอาหาร(คือบุญ เป็นของตัวเองอยู่แล้ว น่าจะเป็น “อมนุษย์” พวกใดพวกหนึ่ง (ซึ่งอาจไม่ใช่พวกเปรตด้วย) และถ้ากล่าวตามคำอธิบายในวิชาพระอภิธรรมแล้ว วิญญาณที่หมอปลาทำพิธีขับไล่ ก็ไม่ใช่ “สัมภเวสี” แน่นอน คงจะเป็น “อมนุษย์” พวกใดพวกหนึ่ง แต่ผมก็ยังไม่รู้ว่า อมนุษย์ที่เข้าสิงร่างคน เข้าทางไหนและโดยวิธีใด? เมื่อเห็นคำว่า “อมนุสฺสาพาโธ” (อาพาธเพราะอมนุษย์) จึงอดคิดไม่ได้ว่า อาการผีเข้าสิงเป็นอาการป่วยไข้อย่างหนึ่ง การทำความเข้าใจเรื่อง “สัมภเวสี” (คำที่ใช้ในการขับไล่ผีชุด “มือปราบสัมภเวสี” ของ “หมอปลา”) ทำให้เข้าใจชัดขึ้นในเรื่องวิญญาณ ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า ไม่มีวิญญาณชนิด “สัมภเวสี” (วิญญาณที่ล่องลอยหาที่เกิดหรือ “ภพ” ใหม่) เพราะการเข้าใจว่ามีวิญญาณล่องลอยหาที่เกิดนั้น เท่ากับเชื่อว่า วิญญาณไม่เนื่องอยู่กับขันธ์ 5 (รูป/เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เมื่อวิญญาณไม่เนื่องอยู่กับขันธ์ 5 ก็แสดงว่า วิญญาณเป็น “อัตตา” หรือ “อาตมัน” ตามความเชื่อในลัทธิพราหมณ์ (ฮินดู) และตามความเชื่อในศาสนาประเภท “เทวนิยม” ทั้งหลาย ซึ่งอธิบายเรื่อง “กรรม” หรือ “เจตนา” ไม่ได้ และอธิบายเรื่อง “อนัตตา” ไม่ได้ เพราะวิญญาณชนิดนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของขันธ์ 5 หรือ “ชีวิต” ใดๆเลย “สัมภเวสี” ช่วยอธิบายเรื่องวิญญาณว่า ตายแล้วไปเกิดเป็นภูตหรือเป็นร่างทันที โดยภูตหรือร่างนั้นเป็นสัตว์โลกชนิดหนึ่ง ซึ่งมาเอา “กรรม” ที่ขันธ์ 5 ก่อเอาไว้ไปด้วย ยังต้องเขียนถึง “สัมภเวสี” ต่อไปอีกครับ